อันดับคอร์รัปชั่นโลกปี 52 ไทยได้คะแนน 3.4 จาก10

อันดับคอร์รัปชั่นโลกปี 52 ไทยได้คะแนน 3.4 จาก10

อันดับคอร์รัปชั่นโลกปี 52 ไทยได้คะแนน 3.4 จาก10
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปีพ.ศ.2552 (Corruption Perceptions Index 2009) "ผลการจัดอันดับคอร์รัปชันโลกประจำปีพ.ศ. 2552 คะแนนเต็มสิบ ประเทศไทยได้ 3.4

องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) เปิดเผยผลการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2552 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 84 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย CPI (Corruption Perceptions Index) คือ ดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีค่าคะแนนตั้งแต่ 0 (คอร์รัปชันมากที่สุด) - 10 (คอร์รัปชันน้อยที่สุด)

จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและมีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก และได้จัดทำดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ เป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ซึ่งในปีพ.ศ. 2552 นี้ ได้จัดอันดับจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 180 ประเทศ โดยจัดอันดับจากผลสำรวจของสำนักโพลล์ต่าง ๆ จำนวน 10 แห่ง ที่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงปี พ.ศ 2551 และ 2552

ผลการจัดอันดับประจำปี พ.ศ. 2552 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 84 เท่ากับประเทศเอลซาวาดอร์ กัวเตมาลา อินเดีย และปานามา ขณะที่นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก สิงคโปร์และสวีเดน เป็นกลุ่มประเทศที่ครองตำแหน่งสามอันดับแรก (9.4, 9.3 และ 9.2 คะแนน) ส่วนประเทศที่ได้อันดับสุดท้าย ได้แก่ ประเทศอิรัก (1.5 คะแนน) ซูดาน (1.5 คะแนน) พม่า (1.4 คะแนน) อัฟกานิสถาน (1.3 คะแนน) และโซมาเลีย (1.1 คะแนน) ซึ่งประเทศที่มีคะแนนน้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะสงครามหรือมีความขัดแย้งภายในประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งเป็นสภาพการเมืองการปกครองที่มีความเปราะบาง

เมื่อพิจารณาเฉพาะการจัดอันดับของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ประเทศที่มีคะแนนเป็นอันดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ (9.2 คะแนน) ส่วนประเทศที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ พม่า (1.4 คะแนน)

ผลการจัดอันดับโดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูงมักจะมีอันดับที่ดีกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่า แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศกำลังพัฒนาด้วย กล่าวคือ ต้องไม่ให้สินบนเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือต้องไม่สนับสนุนศูนย์กลางการดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่อาจเป็นแหล่งฟอกเงินของผู้กระทำความผิด (Safe haven) เช่น หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน

นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ต้องไม่เพิกเฉยโดยปล่อยให้มีกฎหมายภายในประเทศของตนที่ถือว่าข้อมูลทางการเงินเป็นความลับทางธุรกิจ เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและความตั้งใจที่จะคืนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้โกงมาจากประเทศของตนแล้วนำไปฝากไว้ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ความพยายามของประเทศที่พัฒนาแล้ว(ซึ่งมีอันดับและคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่ดี)จะช่วยทำให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศที่กำลังพัฒนา (ซึ่งมีคะแนนคอร์รัปชันในระดับต่ำ) ลดความรุนแรงลงและส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook