ไทยเตรียมลงทุนลดโลกร้อนกว่า4,200ล.ดอล

ไทยเตรียมลงทุนลดโลกร้อนกว่า4,200ล.ดอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันนี้ (9 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ สศช.ได้เห็นชอบในหลักการแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนซีทีเอฟ ของธนาคารโลก และได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เรียบร้อยแล้ว

โดยเบื้องต้นแต่ละโครงการได้ผ่านการคัดเลือก และอยู่ระหว่างการจัดรวบรวมรายละเอียดของกระทรวงการคลัง ที่เน้นใน 2 สาขาหลักสำคัญ คือ ด้านพลังงาน และการขนส่ง มีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแต่ละโครงการสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน พ.ศ.2551-2565 และมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เป็นโครงการขนาดใหญ่ในสาขาพลังงาน และการขนส่งที่สะอาด ซึ่งโครงการเหล่านี้ถือว่า เป็นโครงการที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป

เมื่อ ครม.เห็นชอบ แล้ว จากนี้ไปกระทรวงการคลังจะต้องไปเจรจากับธนาคารโลกในรายละเอียด ทั้งเงื่อนไขการกู้เงิน วงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการกู้ ให้ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อนำมาเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ก่อนจะกู้อย่างเป็นทางการต่อไป นายอำพน กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้เสนอแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงินภายใต้กองทุนซีไอเอฟ ซึ่งเป็นกองทุนที่สนับสนุนด้านการเงินในรูปเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่การลงทุนทั้งภาครัฐ และเอกชน สำหรับโครงการที่สนับสนุนการลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เบื้องต้นมีวงเงินสนับสนุนให้ไทยประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะป็นการให้กู้ผสมระหว่างกองทุนซีไอเอฟที่ไม่มีดอกเบี้ยแต่มีค่าธรรมเนียม กู้ร่วมกับธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) หรือบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอฟซี ซึ่งทำให้มีต้นทุนการเงินต่ำ

สำหรับโครงการที่เตรียมเสนอขอเงินกู้ดังกล่าว เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการผลิตพลังงานทดแทนจากเศษไม้ จำนวน 100 แห่ง โครงการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานสำหรับโคมไฟเสาสูง และไฟกิ่ง จำนวน 5 แสนหลอด ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โครงการจัดทำระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที ของ กทม. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของ กทม. เป็นต้น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook