ศึกรถไฟปมซ่อนเงื่อนการเมือง

ศึกรถไฟปมซ่อนเงื่อนการเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
''ยุทธนา'' ล้างอัปยศผู้ว่าการ

ปัญหารถไฟ ขณะนี้กลายเป็นปัญหาบานปลาย ที่มองไม่เห็นจุดจบจะเป็นอย่างไร นับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. เป็นต้นมา ผู้โดยสารที่สัญจรทางรถไฟ ต้องตื่นเช้ามาพบกับฝันร้ายแบบเต็ม ๆ ที่จู่ ๆ รถไฟ โดยเฉพาะต้นทางจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ หยุดให้บริการแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย บางขบวนให้บริการแบบไม่เต็มใจ ประเภทส่งไม่ถึงจุดหมายปลายทาง หลังพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อ้างความไม่ปลอดภัยของหัวรถจักร โดยโยงไปถึงอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่มีคนตายถึง 7 ศพ และบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งที่อุบัติเหตุครั้งนั้น ไม่มีความเกี่ยวโยงกับความปลอดภัยของหัวรถจักรแต่อย่างใด แต่ในข้อเท็จจริง เกิดจากความประมาทของคน ที่มีกระแสข่าวลือหนาหูว่า เพราะเมาแอ๋ !!

เมื่อพนักงานขับรถที่สถานีหาดใหญ่ อ้างความไม่ปลอดภัย ของหัวรถจักร ทางผู้บริหาร รฟท. จึงได้ส่งวิศวกรไปตรวจสอบหัวรถจักรทันที โดยผลการตรวจสอบยืนยันว่า หัวรถจักรพร้อมใช้งานแน่นอน และทุกอย่างน่าจะจบได้ หากเกิดจากข้อความที่ว่า ความไม่พร้อมของหัวรถจักร

สถานการณ์กลับบานไม่หุบ หลังวันที่ 19 ต.ค. พนักงาน รฟท. ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ พร้อมใจกันยื่นใบลาป่วยถึง 49 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานช่างเครื่อง จากจำนวนพนักงาน 121 คน และยังอ้างข้ออ้างเดิม ๆ ว่า หัวรถจักรไม่สมบูรณ์และไม่อยู่ในสภาพใช้งานได้ ทำให้รถไฟในเส้นทางภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น 213 ขบวน ต้องอยู่ในสภาพนิ่งสนิท ส่งผลให้ผู้โดยสารเกือบ 300,000 คน ต้องตกระกำลำบาก หอบสัมภาระพะรุงพะรัง หันไปใช้บริการการสัญจรประเภทอื่นแทน

ข้อเรียกร้องเริ่มมีเงื่อนไขใหม่เพิ่มเข้ามา คือ ต้องการให้ ยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. รับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไล่ผู้ว่าการออกนั่นเอง

พร้อมกับหยิบยกปัญหาเดิม ๆ เพื่อให้เห็นว่า ผู้ว่าการหมดความชอบธรรมในการบริหารงานต่อไป เช่น เพิกเฉยในการทวงคืนที่ดินเขากระโดง จาก ปู่ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

วันนี้เลยมีแต่คำถามว่า ทำไมสหภาพฯ รฟท. ถึงมีอำนาจมากมายในการสั่งหยุดเดินรถ หรืออยากหยุดงานพร้อมกันเมื่อไรก็ได้ หรือแม้กระทั่งไล่ผู้ว่าการ รฟท. ออกได้ขนาดนั้นเลย และคำถามจบที่ว่า ผู้บริหาร รฟท. ไม่มีน้ำยาจัดการเลยหรือ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รถไฟนึกจะหยุดก็หยุดเดิน โดยไม่สนความเดือดร้อนของผู้โดยสารที่หารายได้มาให้องค์กร

ทั้งที่ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ระบุ ชัดในมาตรา 33 ว่า ไม่ว่ากรณีใดห้ามมิให้นายจ้างหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน และหากฝ่าฝืนก็จะผิดตามมาตรา 77 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ใดยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดการกระทำผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่สหภาพฯรฟท. กลับใช้ วิธีอ้างถึงกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว อย่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับเก่า ที่ระบุว่า หากนายจ้างและลูกจ้างมี การเจรจากันไม่สำเร็จ สามารถนัดหยุดงานได้โดยไม่ผิด กฎหมาย

แต่การเรียกร้องครั้งนี้ ไม่ง่ายอย่างที่คิด และทั้งฝ่ายการเมือง และผู้บริหาร รฟท. กลับเลือกที่จะใช้ไม้แข็ง ถึงขนาดไล่ออก และฟ้องศาลแรงงานกลาง รวมทั้งเรียกค่าเสียหายสูงถึง 70 ล้านบาท ที่สำคัญ สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯ รฟท. ยังโดนด้วย เต็ม ๆ ทั้งที่การหยุดเดินรถไฟครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก

ทุกคนจึงอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลัง เหตุไฉนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. จึงเรืองอำนาจถึงขนาดนี้ ? เห็นได้จากก่อนหน้า นี้เรียกร้องอะไร รัฐบาลต้องยอมศิโรราบมาตลอด แล้วทำไมครั้งนี้ ยุทธนา ใจกล้าบ้าบิ่นเปิดหน้าแลกหมัดขนาดนี้ ?

จุดแตกหักระหว่าง ยุทธนา กับสหภาพฯ รฟท.ชุดนี้ คือ การเดินหน้าตั้งบริษัทลูกของ รฟท. เพื่อนำมาเดินรถโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน เพื่อมาจัดการทรัพย์สินของ รฟท. เพราะสหภาพฯ มองว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการแปรรูป แม้ผู้บริหาร รฟท. ยืนยันว่า บริษัทลูกที่จะจัดตั รฟท. 100%

แต่สหภาพฯ ก็ยังไม่เชื่อ ยังเดินหน้าขอให้ตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ ภายใต้ปีกของ รฟท. ต่อไป บางฝ่ายเลยวิเคราะห์ว่า หากตั้งบริษัทลูกแล้ว สหภาพฯ จะไม่มีอำนาจเข้าไปคุมคนกลุ่มนี้ได้ เพราะพนักงานของบริษัทลูก ไม่ต้องเป็นสหภาพฯ ก็ได้ และต่อไปการบริหารทรัพย์สินบริเวณสถานีชุมทางต่าง ๆ จะตกอยู่ที่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ทันที

ระหว่างการตั้งบริษัทลูก ที่กำลังคาราคาซังอยู่นั้น ยุทธนา ก็หาญกล้าเด็ดปีกสหภาพฯ โดยเปิดก๊อกสอง ขออำนาจบอร์ด รฟท. ตั้งสารวัตรเดินรถ ซึ่งเทียบเท่าระดับ 8 หรือการเป็นผู้บริหารชั้นต้นคืน และสุดท้ายบอร์ดก็อนุมัติ เมื่อสหภาพฯ เจอเด็ดปีก 2 ดอกใหญ่ ๆ ทำเอาจุกจนหน้าเขียว

เพราะเท่ากับว่า ยุทธนา ประกาศศึกทวงอำนาจที่แท้จริงจากสหภาพฯ รฟท. ที่มีมานานเป็นสิบ ๆ ปี

ที่ว่าเรืองอำนาจมานาน ลองไปเจาะลึกการบริหารงานของรฟท. แล้ว ต้องถือว่า เป็นหน่วยงานที่พิลึกพิลั่นที่สุด เพราะผู้ว่า การ รฟท. ในยุคเก่า ย้อนไปประมาณ 2 ยุค ตั้งแต่ สราวุธ ธรรมศิริ เป็นผู้ว่าการ รฟท. ในปี 2539-2545 เริ่มให้อำนาจสหภาพฯ รฟท. มากขึ้น และยุคที่สหภาพฯ มาเรืองอำนาจถึงขีดสุด คือยุค จิตต์สันติ ธนะโสภณ เป็นผู้ว่าการ รฟท. ระหว่างปี 2545-2549 ที่ให้อำนาจสหภาพฯ มีส่วนร่วมในการดำเนินงานของ รฟท.

และยุคนั้นชื่อของ สมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรรุ่นลายคราม หรือตำแหน่งปัจจุบันรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ อดีตเคยเป็นประธานสหภาพฯ รฟท. ตั้งแต่ปี 2534-2548 ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนานถึง 14 ปี เพราะ ผู้ว่าการจิตต์สันติ มองว่า เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร

เมื่อได้อำนาจแล้ว ต่อมาสหภาพฯ รฟท. ก็ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ ถึงขนาดมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายในการแต่งตั้งสารวัตรเดินรถ หรือระดับ 8 ทั้งที่สหภาพฯ รฟท. สูงสุดคือระดับ 7 ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายช่างกล ฝ่ายพนักงานขับรถ จบการศึกษา ปวช.-ปวส. แต่อาศัยทำงานมานาน และบางครั้งให้พนักงานระดับ 4-5 ออกข้อสอบคัดเลือกระดับ 8 ไม่ต่างอะไรกับการให้อำนาจจ่าตั้งนายพล แล้วอย่างนี้จะปกครองกันได้อย่างไร แต่นั่นเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาเกือบ 10 ปี

นอกจากนี้เมื่อสหภาพฯ รฟท. มีข้อเรียกร้องอะไร หรือหากมีข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ตามหลักของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ 2543 ต้องยื่นให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานของกระทรวงแรงงานเป็นผู้ตัดสิน แต่ที่ รฟท. ไม่เคยมีข้อพิพาทส่งไปถึง เพราะสหภาพฯ รฟท. เมื่อมีปัญหาสามารถเดินไปเคาะประตูหน้าห้องผู้ว่าการได้ เรียกร้องได้ทันที และข้อเสนอส่วนใหญ่ผู้ว่าการ รฟท. หงอ ปล่อยให้สหภาพฯ จูงจมูกเดิน

ขณะเดียวกันสหภาพฯ รฟท. ยังใช้สิทธิพิเศษไม่ต้องทำงาน ใน รฟท. ก็ได้ โดยใช้อำนาจตาม มาตรา 59 ของ พ.ร.บ.แรงงาน รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่ระบุให้สหภาพแรงงานฯไปร่วมประชุมหรือดำเนินงาน เป็นการทำงานให้กับนายจ้างให้เป็นไปตามที่สหภาพแรงงานฯ และนายจ้างจะได้ตกลงกัน หรือพูดง่าย ๆ ว่า หากเป็นกรรมการสหภาพฯ แล้ว ไม่ต้องทำงานก็ได้ ซึ่งที่อื่นส่วนใหญ่จะยกเว้นให้ประธานสหภาพฯ คนเดียว แต่ที่สหภาพฯ รฟท. ได้รับการยกเว้นอย่างต่ำ 6 คน จึงทำให้บางครั้งพนักงานมีเงินเดือน 4-5 หมื่นบาท ไม่ต้องทำงานมานับเป็นสิบปี

และอีกประเด็นที่สหภาพฯ รฟท. มัดใจพนักงานระดับล่างอยู่หมัด คือ การมีสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นของตัวเอง มีเงินหมุนเวียนเป็นร้อยล้านบาท เพื่อดูแลปล่อยกู้ให้กับสมาชิกสหภาพฯ รฟท. เท่านั้น

อำนาจเต็มขั้นแบบนี้ ทุกคนเลยก้มหัวที่จะเดินตามมติของสหภาพฯ รฟท. อย่างยินยอมพร้อมใจ และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ทำไมเวลาผู้บริหาร รฟท. ไปตรวจสถานีชุมทางต่างจังหวัด พร้อมกับสหภาพฯ ทีไร พนักงานระดับล่างถึงเลือกไหว้ สหภาพฯ ก่อนผู้บริหารทุกที เห็นกันจนชินตาไปแล้ว

ครั้งนี้หลายคนคงอยากรู้ว่า ยุทธนา กินดีหมีมาหรืออย่างไร ถึงกล้าชนกับสหภาพฯ แบบไม่ยอมลดราวาศอก หากวิเคราะห์เจาะลึกถึงการหยุดเดินรถไฟครั้งนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ รฟท. ตกต่ำถึงขีดสุด จนเป็นปัญหาที่เอือมไปตาม ๆ กัน ฝ่ายรัฐบาลทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ต่างไฟเขียวใหินหน้าทำทุกอย่างตามกรอบ กฎหมายอย่างเต็มที่ เพราะสุดทนกับปัญหาที่ไม่พอใจอะไรก็หยุดเดินรถ รวมทั้งการหยุดเดินรถสายใต้ เป็นการเขย่าฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง

และที่สำคัญด้วยบุคลิกของ ยุทธนา ที่เป็นคนกล้าได้ กล้าเสียกล้าชน เห็นได้จากผลงานในอดีตที่เคยเข้าไปแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินสามเหลี่ยมพหลโยธินของห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าวมาแล้ว และด้วยความที่ ยุทธนา โตมากับรถไฟ รู้ปัญหาทุกซอกทุกมุม และแม่นเรื่องกฎหมาย รู้อะไรเป็นจุดอ่อนของการบริหารงาน รฟท.

จึงไม่แปลกใจที่สหภาพฯ รฟท. ชุดนี้ต้องการไล่ผู้ว่าการ รฟท. ที่ชื่อ ยุทธนา ออก และบางกระแสข่าวก็ว่า คนที่จะมาเสียบหาก ยุทธนา ออก คือ รองผู้ว่าการบางคนที่มีความแนบสนิทกับสหภาพฯ และอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ ยุทธนา อย่างชัดเจน เห็นได้จากการประชุม รฟท. ทุกครั้ง รองผู้ว่าการคนนี้ แทบจะไม่มาประชุมร่วมกับ ยุทธนา

ส่วนอีกคำถามคาใจที่ว่า ทำไม? การหยุดเดินรถครั้งนี้ เกิดขึ้นแค่ที่ภาคใต้เท่านั้น หรือหัวรถจักรใช้งานหนักแค่ภาคใต้ เลยเสียแค่ภาคเดียวขนาดนั้นเลยหรือ ?

หรือเป็นเพราะ สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯรฟท. เป็นคนใต้ เลยสั่งให้หยุดเดินรถได้ที่ใต้เท่านั้น ส่วนภาคอื่นไม่เอา เพราะ สาวิทย์ โตมาจากสายช่างกล ไม่ใช่สายเดินรถอย่าง เรียงศักดิ์ แขงขัน ประธานสหภาพฯ รฟท. คนก่อนที่เคยหยุดเดินรถมาได้แล้วทั่วประเทศ แต่ เรียงศักดิ์ ต้องมาตกม้าตาย เพราะดันไม่สนองนโยบายลูกพี่เก่า เลยถูกปลดกลางอากาศมาแล้วพร้อมกับดันสาวิทย์ ขึ้นมาแทน

หรือเป็นไปอย่างที่สหภาพฯ ระบุว่า หัวรถจักรภาคใต้ อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์จริง ๆ จึงต้องหยุดเดินรถ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แปลว่า ภาคอื่น ๆ ทั้งกลาง อีสาน เหนือ ไม่ได้ตรวจสภาพหัวรถจักร อย่างเข้มงวดเหมือนภาคใต้หรือ ??

จะว่าไปแล้ว อีกมุมหนึ่งก็ต้องขอบคุณสหภาพฯ รฟท. ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะทำให้ทุกฝ่ายต่างตื่นตัวเข้ามาแก้ปัญหารถไฟไทยอย่างจริงจังสักที ทั้งที่ทุกรัฐบาลรับรู้ปัญหาการรถไฟมาโดยตลอด แต่ก็ทำได้แค่ลมปากเท่านั้น

เมื่อพบกับวิกฤติแล้ว กระทรวงคมนาคม ก็ได้เปลี่ยนเป็นโอกาสในการบูรณการรถไฟเต็มรูปแบบ โดยเร็ว ๆ นี้ กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหารถไฟทั้งระบบ ต่อที่ประชุม ครม. โดยแบ่งแผนการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2572 คาดว่า จะใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท มีทั้งในส่วนที่รัฐต้องลงทุน และเปิดให้เอกชนลงทุน แม้ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่จะทยอยใช้ตามแผนงานในแต่ละปีจึงไม่น่ามีปัญหา โดยแผนการดำเนินงานทั้ง 3 ระยะ ประกอบด้วยแผนเร่งด่วนใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2555 แผนระยะปานกลาง ใช้เวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2563 และแผนระยะยาวใช้เวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2572

หวังว่า การแก้ปัญหารถไฟครั้งนี้ จะเป็นจุดจบของการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้เสียภาษีที่ใช้รถไฟเป็นพาหนะในการเดินทาง.

ทีมเศรษฐกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook