อาจารย์จุฬาฯ ติง "ตรีนุช" หวั่นโครงการอบรมครูทั่วประเทศ “ขาดความเข้าใจการศึกษา”
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/1675/8379034/athapol.jpgอาจารย์จุฬาฯ ติง "ตรีนุช" หวั่นโครงการอบรมครูทั่วประเทศ “ขาดความเข้าใจการศึกษา”

    อาจารย์จุฬาฯ ติง "ตรีนุช" หวั่นโครงการอบรมครูทั่วประเทศ “ขาดความเข้าใจการศึกษา”

    2021-05-10T13:31:23+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    จากกรณีที่เพจสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ได้แชร์ภาพโปสเตอร์กิจกรรมอบรมครู “เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้” ในหัวข้อ “สร้างทางเลือการศึกษาก่อนเปิดภาคเรียน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ยุค New Normal” พร้อมเชิญชวนให้ครูทั่วประเทศร่วมเรียนออนไลน์ ภายใต้ ระหว่างวันที่ 12 - 28 พฤษภาคม 2564 ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนสเตตัสบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการคัดเลือกวิทยากร ซึ่งมาจากสถาบันกวดวิชา และมีเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากสถาบันเอกชนที่ขายคอร์สพัฒนาครูเป็นหลัก พร้อมระบุว่า แนวทางดังกล่าวยังไม่เคยปรากฏในนโยบายพัฒนาครูในหลายประเทศ

    สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

    ผศ.อรรถพลกล่าวว่า ธรรมชาติของงานของติวเตอร์และครูในโรงเรียนแตกต่างกันมาก ซึ่งการคัดเลือกเหล่าติวเตอร์มาอบรมครูที่สอนในโรงเรียน สะท้อนให้เห็นว่า “การกำหนดนโยบายยังขาดความเข้าใจเรื่องการศึกษาและไม่ได้กำหนดนโยบายบนฐานปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมปฏิรูปนิยม และมนุษยนิยมใหม่ อันเป็นหัวใจของการศึกษากระแสหลักที่มีคุณภาพทั่วโลก รวมทั้งระบุอยู่ใน พรบ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน ” และยังสะท้อนให้เห็นว่านโยบายนี้ยังคง “มองงานสอนเป็นงานเชิงเทคนิควิธีการมากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน”

    “ความรู้ว่าด้วยการพัฒนาครูประจำการ (In-service Teacher Development) ในระดับนานาชาติ เน้นการสร้างความแข็งแกร่งชองชุมชนเรียนรู้ของครู (TLC : Teacher Learning Community) ใช้การสืบสอบ (Inquiry) การวิจัยชั้นเรียน (Classroom Research) การศึกษาบทเรียน (Lesson Study) ทำให้ครูเป็นนักปฏิบัติที่ชำนาญขึ้นจากการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflective Practitioner) และทำให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC: School as Leaning Community) ที่มีชีวิตชีวาสำหรับทุกคน การอบรมแบบฟังอย่างเดียวให้ได้ Input แบบนี้หลายประเทศยกเลิกไปนานแล้ว ใช้เฉพาะวาระรับฟังนโยบายบางอย่างที่สำคัญมาก ๆ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องระดับนานาชาติมาคุย” ผศ.อรรถพลระบุ

    นอกจากนี้ ผศ.อรรถพลยังกล่าวว่า ทุกวันนี้ครูไทยที่มีความสามารถและใฝ่หาความรู้ ต่างก็เรียนรู้ผ่านการฟังประชุมออนไลน์นานาชาติ ที่มีวิทยากรชื่อดังระดับโลกเป็นผู้บรรยาย ยิ่งกว่านั้น ยังมีครูเก่งๆ อีกมากมายที่เป็นวิทยากรอบรมระดับประเทศ ซึ่งครูกลุ่มนี้น่าจะสามารถสื่อสารและแชร์ประสบการณ์ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูคนอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

    นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการคัดเลือกวิทยากร ผศ.อรรถพลยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการที่กระทรวงศึกษาขาดการเชื่อมโยงกับสถาบันเตรียมครู อย่างคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

    “เป็นปัญหาทั้ง 2 ฝั่ง กล่าวคือ ศธ.ก็มองไม่เห็นคุณค่า ไม่ศรัทธาเชื่อมั่น มองไม่เห็นทั้งความพร้อมที่มีอยู่ (Availability) และการเปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้ (Accessibility) จากสถาบันครุศึกษา ในระดับสถาบันนะครับ ไม่ใช่การเชื้อเชิญเจาะจงตัวเป็นราย ๆ ไป ในอีกมุมหนึ่ง สถาบันครุศึกษาเหล่านี้ก็ทำตัวห่างเหิน ไม่แสดงภาวะผู้นำทางการศึกษา ไม่กระตือรือร้นมากพอที่จะร่วมรับผิดรับชอบกับสถานการณ์ปัญหาทางการศึกษา ลอยตัวจากความล้มเหลวของระบบ มาอย่างยืดเยื้อเรื้อรังยาวนาน พูดภาษาชาวบ้าน คือ เขามองไม่้เห็นหัวพวกท่าน เพราะพวกท่านไม่เคยอยู่ให้เห็นหัว”

    ผศ.อรรถพลยังกล่าวอีกว่า หลักการพื้นฐานที่กระทรวงศึกษาธิการทั่วโลกต้องทำ คือการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบันที่ผลิตบุคลากรครู อย่างอย่างคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์

    “เปรียบเทียบโดยง่าย กำลังเจอโจทย์ยากทางการแพทย์ เช่น โรคระบาด ไม่มีประเทศใดจะกะเกณฑ์หมอ พยาบาล มานั่งฟังบรรยายจากนักเทคนิคการแพทย์ หรือตัวแทนจำหน่ายยา ซึ่งทำหน้าที่ในฟังค์ชั่นอื่น มาอธิบายแนะนำ 'เครื่องมือ' และ 'สินค้า' แต่เขาจะสนับสนุนให้ระบบผู้ให้คำปรึกษา (Consultation) ระหว่างหมอและพยาบาลด้วยกันเข้มแข็ง ฟีดข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลที่อัพเดตที่สุดให้คนทำงานภาคสนาม”

    พร้อมกันนี้ ผศ.อรรถพลยังเสนอว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรรับฟังและสื่อสารกับ “คนทำงานที่หน้างาน” อย่างครูให้มากขึ้น รวมทั้งรับฟังเสียงของเด็กที่เป็นผู้เรียน ทำความเข้าใจกลไกเชิงระบบ จัดทีมศึกษาข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ แล้วกำหนดแผนการทำงานที่เป็นประโยชน์ บนหลักวิชา ความรู้ และงานวิจัย พร้อมด้วยข้อเสนอ 3 ข้อสำหรับช่วงเลื่อนเปิดเทอม 11 วัน ได้แก่

    1. สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนจัดการประชุมออนไลน์ถอดบทเรียนการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา เนื่องจากครูทุกคนได้มีประสบการณ์ตรงและลงมือแก้ปัญหามาหมดแล้ว ทั้ง Online (เลื่อมเวลา/ประสานเวลา) - On Air - On Screen - On Hand - On Site. รวมทั้ง Hybrid ครูในโรงเรียนเหล่านี้ผ่านการเรียนรู้และปรับตัวจนเกิดแนวปฏิบัติที่ดี และสามารถแลกเปลี่ยน ให้คำแนะนำแก่กันได้ รวมทั้งควรให้เวลาครูได้พูดคุยหารือ พักผ่อน และเตรียมตัวสอน แทนที่จะบังคับให้เปิดหน้าจอเช็คชื่ออบรมออนไลน์กับคนที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาเฉพาะหน้าที่ครูต้องเผชิญอยู่
    2. ให้เด็กๆ ได้พักผ่อนและเล่นสนุกในช่วง 11 วันที่เลื่อนเปิดเทอม เนื่องจากเด็กไทยอ่อนล้าจากการเรียนที่สลับไปมาระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ และหลายคนซึมซับความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจและความหวั่นกลัวการติดเชื้อร่วมกับผู้ใหญ่
    3. หารือด่วนกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเครือข่ายสถาบันครุศึกษา เชิญชวนผู้นำองค์กรของกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ให้มาหารือ ร่วมกันแบ่งพื้นที่ดูแลสนับสนุนงานคุณครูในช่วงภาคการศึกษาต้น โดยทำเป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม ให้เรียนรู้สนับสนุนยึดโยงกันระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

    ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ อาจารย์จุฬาฯ ติง "ตรีนุช" หวั่นโครงการอบรมครูทั่วประเทศ “ขาดความเข้าใจการศึกษา”

    ขอขอบคุณ

    ข้อมูล :Athapol Anunthavorasakul