ชมพูนุท นาครทรรพ: “ก้าวข้ามความรุนแรง ด้วยศรัทธาในตัวเอง”
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/1661/8306382/cherry-thumbnail.jpgชมพูนุท นาครทรรพ: “ก้าวข้ามความรุนแรง ด้วยศรัทธาในตัวเอง”

    ชมพูนุท นาครทรรพ: “ก้าวข้ามความรุนแรง ด้วยศรัทธาในตัวเอง”

    2020-11-30T13:25:12+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” หลายหน่วยงานต่างออกมารณรงค์เรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ภายใต้การทำงานขับเคลื่อนเพื่อหยุดยั้งปัญหาความรุนแรง นักกิจกรรมหลายคนก็เคยผ่านประสบการณ์ หรือกำลังเผชิญหน้ากับการถูกทำร้ายจากคนในครอบครัวไม่ต่างจากคนทั่วไป เช่นเดียวกับ “คุณชมพูนุท นาครทรรพ” อนุกรรมการฝ่ายร่างนโยบาย พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศ ที่เก็บงำประสบการณ์การตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่แสนโหดร้ายเอาไว้ และก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้นด้วย “ความศรัทธาในตัวเอง” 

    Sanook คุยกับคุณชมพูนุทถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เธอเคยเผชิญ และวิธีเอาชนะความกลัวจากการเดินออกจาก “ความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรง (Abusive Relationship)” จนสามารถลุกขึ้นยืนได้อย่างแข็งแรงอีกครั้ง 

    ไม่ว่าใครก็เป็นเหยื่อความรุนแรงได้

    คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า คนชนชั้นแรงงานเท่านั้นที่โดนทำร้ายร่างกาย แต่จริง ๆ แล้วพวกชนชั้นนำก็โดน โดนหนักด้วย โดนทีเข้าโรงพยาบาลเลย เพียงแต่ว่าเขาไม่สามารถออกมาพูดได้ เพราะยิ่งอยู่สูง ยิ่งอยู่ในที่สว่าง คนยิ่งมองเห็นเรา

    คุณชมพูนุท นาครทรรพ ทายาทตระกูลเก่าแก่ของเมืองไทย เล่าสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของชนชั้นนำในสังคมไทย ที่ไม่ตกเป็นข่าวดัง หากมีเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนชนชั้นแรงงาน ที่มักปรากฏในข่าวให้เห็นแทบทุกวัน และสร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคม เมื่อเหยื่อที่ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือถึงขั้นเสียชีวิต และทุกครั้งที่มีข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้น ก็มักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก่นด่าและสาปแช่งผู้กระทำความรุนแรงเสมอ ๆ

    แม้จะไม่เคยมีข่าวทำร้ายร่างกายออกมาให้เห็น แต่คุณชมพูนุทก็ยอมรับว่าเธอเป็นคนหนึ่งที่โดนทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง และไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลเรื่องหน้าตาทางสังคมเท่านั้น ที่ทำให้เธอเลือกที่จะเก็บงำปัญหานี้เอาไว้กับตัว แต่ความเชื่อว่า “เขาจะดีขึ้น” ก็ทำให้เธอต้องกล้ำกลืนยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และเฝ้าบอกตัวเองว่า วันหนึ่งเธอจะไม่โดนกระทำอีกต่อไป 

    “เราคิดว่าแค่ว่าเดี๋ยวเขาจะดีขึ้น แล้วเราก็ปลอบใจตัวเองว่าเขาคงไม่ทำอีก แต่มันจะมีสัญญาณที่บ่งบอกว่า บางอย่างมันไม่ใช่ เป็นต้นว่า การทะเลาะกันในที่สาธารณะมันยังไม่หาย มันจะนำมาซึ่งการทำร้ายร่างกายในที่ส่วนตัว เมื่อไรก็ตามที่เขาไม่เกรงใจเรา ไม่ให้เกียรติเรา แล้วเริ่มตะโกน ว่ากล่าว ทะเลาะรุนแรง แบบที่คนปกติธรรมดาเขาจะไม่ทำในที่สาธารณะ มันก็เป็นไปได้สูงที่พอมาในที่ส่วนตัว สถานการณ์จะเลวร้ายกว่าตรงนั้น” คุณชมพูนุทกล่าว

    “ความรุนแรง” ตราบาปของ LGBTQ+ 

    ไม่ใช่แค่ในฐานะ “ผู้ถูกกระทำที่มีชื่อเสียง” เพียงอย่างเดียว ที่ทำให้คุณชมพูนุทเลือกจะเงียบ แต่การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ก็เป็นอีกเหตุผลที่เธอไม่เคยออกมาพูดเรื่องการทำร้ายร่างกาย 

    “เพราะ LGBTQ+ มักจะมาพร้อมกับเรื่องการทำร้ายร่างกายและความรุนแรง เราจึงไม่อยากให้คนคิดว่า LGBTQ+ ต้องมีแค่การตีหรือทำร้ายร่างกายกัน มันเป็นตราบาปของ LGBTQ+ นะ เดี๋ยวเขาก็พูดว่าทอมดี้ตีกัน ตุ๊ดเกย์ตีกัน เราจึงไม่อยากโดนประทับซ้ำแล้วซ้ำอีก เดี๋ยวก็พวกนี้คบกันไม่ยืดหรอก สองมันต้องตีกัน สามมีแต่เรื่องเพศ” คุณชมพูนุทอธิบาย 

    ความรุนแรงในความสัมพันธ์กลายเป็น “ตราบาป” ของกลุ่ม LGBTQ+ เพราะการผลิตซ้ำภาพการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้ง ข่าว ละคร และภาพยนตร์ จนกลายเป็นภาพจำที่ติดสอยห้อยตามกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแยกไม่ออก ซึ่งคุณเชอร์รี่ตั้งคำถามว่า นอกจากภาพลักษณ์ตัวตลกหรือพวกเจ้าคิดเจ้าแค้นแล้ว สื่อบันเทิงของไทยมีการนำเสนอภาพชีวิตปกติของกลุ่ม LGBTQ+ บ้างแล้วหรือยัง 

    และเราพบว่า ยังไม่มีสื่อบันเทิงไหนที่นำเสนอภาพชีวิตของกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นปกติเลย 

    รากเหง้าของความรุนแรง

    มันมาจากกรอบความคิดที่ว่า ฉันเหนือกว่า ฉันมีอำนาจมากกว่า ยิ่งในเรื่องของการคุกคามทางเพศที่มันไม่ใช่แค่เรื่องของเพศ ไม่ใช่เรื่องของการสำเร็จความใคร่ แต่เป็นเรื่องของอำนาจ คือฉันมีอำนาจเหนือกว่าเธอ เพราะฉะนั้น ฉันจะทำอะไรกับร่างกายของเธอก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การข่มขืน การไล่คน ๆ นั้นออกจากบ้าน ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม มันเป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่า” คุณชมพูนุทชี้ หลังจากเราตั้งคำถามประเด็นเรื่องรากเหง้าของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม 

    กรอบความคิดเรื่อง “อำนาจนิยม” ของคนในสังคมเป็นผลผลิตมาจากการปลูกฝังและส่งต่อวัฒนธรรม ค่านิยม และทัศนคติเรื่องเพศผ่านสถาบันครอบครัว ระบบการศึกษา ศาสนา หรือแม้กระทั่งในงานวรรณคดี และเมื่อมีการปลูกฝังเรื่องความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น กรอบความคิดจึงกลายเป็น “ความเชื่อ” ที่คนในสังคมมีร่วมกัน และกลายเป็น “เรื่องปกติ” ที่ไม่มีใครตั้งคำถามกับมันอีกต่อไป 

    “เรื่องการทำร้ายร่างกายกลายเป็นสิ่งที่เรามองว่าปกติ ผัวเมียตีกัน เราก็ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ต่อให้ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ผู้ชายจะฆ่าภรรยาตัวเองตาย เขาก็จะไม่รู้สึกผิด เพราะเขาเป็นผัวเมียกัน เราจะไปรู้ได้ยังไงว่าเขาจะฆ่ากัน” คุณชมพูนุทกล่าว 

    “จงศรัทธาในตัวเอง”

    ความรุนแรงในครอบครัวที่หลายคนต้องเผชิญ อาจเริ่มต้นจากการกระทำเพียงเล็กน้อย เช่น การตะคอก การผลัก การส่งเสียงดัง เป็นต้น แต่การกระทำเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณที่จะนำไปสู่การทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียชีวิต แน่นอนว่าการทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยาก แต่การ “เดินออกมา” จากสถานการณ์นั้นอาจเป็นเรื่องที่ยากกว่าสำหรับใครหลายคน เพราะเหตุผลส่วนตัวต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ คุณชมพูนุทก็ยืนยันหนักแน่นว่า การพาตัวเองออกจากความรุนแรงคือทางออกที่ดีที่สุด 

    “ถ้าเป็นคู่สามีภรรยา แล้วสามีดูแลภรรยาอยู่ ภรรยาก็จะรู้สึกว่า ถ้าเดินออกมาแล้วจะยังไง ใครจะเลี้ยงดูลูก ฉันไม่อยากให้ลูกเป็นลูกไม่มีพ่อ เราก็จะบอกว่า ให้เลือกระหว่าง เป็นลูกที่ไม่มีพ่อ กับเป็นลูกที่ไม่มีทั้งพ่อและแม่ เพราะแม่ตายพ่อติดคุก ดังนั้น ต้องมีความกล้าหาญในการเดินออกมา แต่ในขณะเดียวกัน คุณอาจจะไม่สามารถเดินออกมาได้ทันทีหรอก คุณต้องมีการสนับสนุนจากคนรอบข้าง” คุณชมพูนุทชี้ 

    แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเดินออกมาจากความรุนแรงจะ “กล้าหาญ” พอ คุณชมพูนุทจึงแนะนำว่า ก่อนที่จะกล้าทำอะไร “เราต้องศรัทธาในตัวเองก่อน” อย่าคิดตัวเองด้อยไปกว่าใคร เพราะศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อตัวเราเองรู้ว่า เราไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร และ “ฉัน” ไม่ได้ด้อยไปกว่า “คุณ” 

    เมื่อไรก็ตามที่เราเดินออกมาจากใคร อย่าไปคิดว่า ฉันสูญเสียอะไรไป แต่กลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามต่างหาก คุณต่างหากที่กำลังสูญเสียคนดี ๆ อย่างฉัน คุณกำลังสูญเสียคนที่ประคบประหงมดูแลคุณ เวลาที่คุณป่วย ดังนั้น “It’s your lose, it’s not my lose” เพราะฉะนั้น จงศรัทธาในตัวเอง” 

    “พอเลิกกับเขา เราไม่ได้เลิกรัก เราแค่เลิกยอมและเลิกทน”

    การเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่ความรุนแรง ไม่ได้แปลว่าความรักที่เคยมีให้กันจะจางหายไป แต่การตัดสินใจที่จะเดินออกมา คือ การตอกย้ำว่าเรารักตัวเอง มากกว่าจะยอมทนอยู่กับความรุนแรงที่สร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ และมีโอกาสที่จะพรากชีวิตของเราไปตลอดกาลเช่นกัน

    ขอขอบคุณ

    ภาพ :คุณชมพูนุท นาครทรรพ