ลูกจ้าง ขรก.ประจำ สังกัด ศธ.ขอบคุณ จุรินทร์ หลังได้รับการขอสิทธิรับบำเหน็จรายเดือน และบำเหน็จพิเศษรา
ลูกจ้างข้าราชการประจำสังกัดกระทรวงศึกษาธิการกว่า 300 คน ขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการที่มีอายุงานมากกว่า 25 ปี เลือกขอสิทธิการรับบำเหน็จรายเดือน และบำเหน็จพิเศษรายเดือน เช่นเดียวกับข้าราชการ นายรัษฎา วิชัยดิษฐ นายกสมาคมลูกจ้างส่วนราชการการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุปนายกสมาคมลูกจ้างส่วนราชการแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยลูกจ้างข้าราชการประจำสังกัดกระทรวงศึกษาธิการกว่า 300 คน เดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอบคุณ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตัวแทนรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการที่มีอายุงานมากกว่า 25 ปี จำนวนประมาณ 220,000 คนทั่วประเทศ สามารถเลือกขอสิทธิการรับบำเหน็จรายเดือน และบำเหน็จพิเศษรายเดือน เช่นเดียวกับข้าราชการ โดยมีผลใช้บังคับในปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป ทั้งนี้ นายรัษฎา กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกของลูกจ้างประจำส่วนราชการที่ได้รับสิทธิการรับบำเหน็จรายเดือนและบำเหน็จพิเศษรายเดือน จึงขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้างประจำของส่วนราชการ แต่ก็ต้องไปจัดทำรายละเอียดโดยยกร่างกฎหมายลูกหรือร่างกฎหมายลำดับรอง ดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมโดยเพิ่มสิทธิใน 3 เรื่อง เหมือนกับข้าราชการ คือ 1.บำเหน็จตกทอด โดยหากลูกจ้างเลือกรับสิทธิบำเหน็จรายเดือนและหากเสียชีวิตก่อนจนได้รับเงินครบ 30 เดือน ก็ขอให้เงินที่เหลือดังกล่าวเป็นของทายาท 2.ค่ารักษาพยาบาล โดยขอให้ลูกจ้างที่ไม่ได้มีคู่สมรสหรือบุตรเป็นข้าราชการ ให้ได้รับสิทธิดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลจะใช้งบประมาณไม่มากเนื่องจากมีลูกจ้างส่วนนี้ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่สำคัญเมื่อเกษียณอายุงานไปแล้ว ลูกจ้างก็ยังต้องไปใช้สิทธิบัตรทองรักษาพยาบาลของรัฐบาล ซึ่งก็จะเป็นเงินของรัฐบาลเช่นกัน และ 3.ให้สิทธิรับบำเหน็จด้วยเหตุเกษียณ ทั้งนี้ จะเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร็วๆ นี้ ด้วย ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การให้สิทธิลูกจ้างรับบำเหน็จรายเดือน และบำเหน็จพิเศษรายเดือนนั้น จะต้องใช้งบเพิ่มขึ้นปีละ 6,000 ล้านบาท ดังนั้น การที่จะขอสิทธิเพิ่มเติมดังกล่าว คงต้องเสนอไปยังกระทรวงการคลังซึ่งจะต้องพิจารณาภาระงบประมาณประกอบกันด้วยว่าสามารถรองรับได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องดีของลูกจ้างที่จะเป็นขวัญและกำลังใจการทำงานต่อไป