จุดเด่น-จุดด้อย เอฟทีเอ อาเซียน-อินเดีย

จุดเด่น-จุดด้อย เอฟทีเอ อาเซียน-อินเดีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การทำ FTA หรือข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน มีหลายความตกลงที่น่าติดตาม FTA อาเซียน-อินเดีย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นอีกหนึ่งการทำความตกลงที่น่าจับตามอง เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดที่ถูกมองว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นความตกลงที่ประเทศไทยมีทั้งผลได้และผลเสียที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนไทยในหลาย ๆ กลุ่ม ความสำคัญของความตกลง ความสำคัญของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย คือการลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันกว่า 80% ของรายการสินค้าที่นำเข้า-ส่งออกระหว่างกันให้เหลือ 0% โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2553-2559 ซึ่งครอบคลุมสินค้ามากกว่า 5,000 รายการส่วนสินค้าอ่อนไหวจะลดภาษีลงเหลือ 5% ในปี 2559 และทั้งสองฝ่ายยังมีสินค้าอ่อนไหวสูงที่ยังไม่มีการลดภาษีให้กันอีกฝ่ายละกว่า 400 รายการ ซึ่งจะได้เจรจากันต่อไป ความคาดหวังการค้าไทย-อินเดีย จากการลงนามกันระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับคู่เจรจาช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยความตกลงจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่จะถึงนี้ นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้การค้าระหว่างอาเซียนซึ่งรวมทั้งไทยกับอินเดียขยายตัวเพิ่มในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 จากปี 2551 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเฉไทย-อินเดียตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2559 จากปี 2551 มีมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลได้-ผลเสียจากการทำความตกลง การทำความตกลงทุกครั้ง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีทั้งผลได้และผลเสีย สิ่งสำคัญก็คือประโยชน์ของทั้งสองด้านจำเป็นจะต้องมีความสมดุลที่สุด และผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกด้าน จำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมในการปรับตัวกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยจากการทำ เอฟทีเออาเซียน-อินเดียในครั้งนี้เกิดผลกระทบที่คาดการณ์ได้คือ ผลในทางบวก ตลาดอัญมณีในอินเดีย ถือเป็นตลาดสำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้ส่งออกไทย และเป็นธุรกิจที่ได้รับผลในทางบวกจากความตกลงดังกล่าว โดยนายวิชัย อัศรัสกร นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวว่า จากความตกลงที่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับหลายรายการจะได้รับการลดภาษีลง จะทำให้การค้าและความร่วมมือด้านอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทย-อินเดียขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ผลในทางลบ แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการทำความตกลงเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย ทว่าในภาคการเกษตร โดยเฉพาะผู้ส่งออกพืช ผัก ผลไม้ไทย กลับได้รับผลกระทบในแง่ของการที่จะตั้งข้อกีดกันทางการค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี อันเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากเป็นประเด็นที่คู่เจรจาอื่น ๆ มีแนวโน้มว่าจะทำเช่นเดียวกัน โดยในการนี้นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ นายกสมาคมผู้ประกอบการพืช ผัก ผลไม้ไท กล่าวว่า สินค้ากลุ่มนี้ยังเป็นห่วงเรื่องมาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์(SPS) เพราะอินเดียยังมีการกีดกันนำเข้าโดยอ้างเรื่องโรคและแมลง ซึ่งอยากให้รัฐบาลเร่งเจรจา ส่วนปัญหาอื่นๆ คือ ค่าขนส่งทางเรือและเครื่องบินไปอินเดียที่ยังแพง ผลที่แทบไม่เกิดความแตกต่าง นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบางประการที่แทบจะไม่ได้รับทั้งประโยชน์หรือผลกระทบจากความตกลงนี้เลย โดยนายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ผลจากข้อตกลงคงไม่ทำให้การส่งออกยางพาราของไทย-อินเดียเพิ่มจากเดิมมากนัก เพราะอินเดียได้ดึงสินค้ายางพาราไว้ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวสูง โดยไม่ยอมลดภาษี เพราะมีการผลิตในประเทศ โดยแต่ละปีอินเดียมีการใช้ยางพาราราว 900,000 ตัน ขณะที่ผลิตได้ในประเทศเพียง 800,000 ตัน ที่เหลือนำเข้าโดยส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย ไม่ว่าจะในบริบทการค้าระหว่าง อาเซียน-อินเดีย หรือ ไทย-อินเดีย ผลกระทบต่าง ๆ ย่อมเกิดอย่างแน่นอน แม้จะมีบางฝ่ายที่เสียผลประโยชน์ไปบ้าง แต่ระยะเวลาก่อนที่ความตกลงดังกล่าวจะมีผล ก็เป็นเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องจะสามารถศึกษานโยบาย และข้อตกลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัว และหากลยุทธ์ที่เหมาะสมรองรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กำลังโหลดข้อมูล