ก.วิทย์ฯ พัฒนาเครื่องไตเทียมเหมาะกับผู้ป่วยไตวายในประเทศไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาเครื่องไตเทียมเหมาะกับผู้ป่วยไตวายในประเทศไทย ลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึงครึ่งล้านบาท ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครื่องไตเทียมในสถานพยาบาลมีจำนวนจำกัด อีกทั้งต้องสั่งซื้อเครื่องจากต่างประเทศที่มีราคาสูงไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อเครื่อง รวมทั้งระบบการทำงานบางอย่างไม่เหมาะกับการใช้งานกับผู้ป่วยในประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้สนับสนุนงบประมาณร่วมกับสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ไทยไดนามิคมาสเตอร์ จำกัด พัฒนาสร้างเครื่องไตเทียมสำหรับคนไทย ภายใต้โครงการวิศวกรรมย้อนรอย โดยเครื่องไตเทียมนี้มีชื่อเรียกว่า รุ่นรุ่งงาม 2 มีจุดเด่นที่มีระบบการทำงานเท่าที่จำเป็น เหมาะกับผู้ป่วยไตวายในประเทศไทย มีคุณลักษณะพิเศษล้างไตทางเลือด บำรุงรักษาง่าย ที่สำคัญมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าต่างประเทศ มีราคาไม่ถึง 200,000 บาทต่อเครื่อง และแสดงผลการทำงานเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้มอบเครื่องไตเทียมต้นแบบดังกล่าวให้กับมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างนำไปทดลองกับสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ด้านผศ.ดร.ชัชพล ชังชู อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะนักวิจัยได้ออกแบบเครื่องล้างไตต้นแบบให้มีการทำงาน 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการตรวจสอบระบบการทำงาน ขั้นตอนการเตรียมเครื่องก่อนทำการรักษาผู้ป่วย กระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในระบบทางเดินของน้ำยาภายในเครื่อง และชั้นตอนสุดท้ายกระบวนการในการรักษาผู้ป่วย