อนาคตด้านนิวเคลียร์ในอาเซียน

อนาคตด้านนิวเคลียร์ในอาเซียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หากจะหาสำนวนไทยมาใช้กับคำว่า "นิวเคลียร์ สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือคำว่า "ดาบสองคม ที่มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ต่อโลกใบนี้ ในทุกแวดวงมีการกล่าวถึงการใช้นิวเคลียร์ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้นิวเคลียร์เพื่อพลังงาน ซึ่งถือว่ามีประโยชน์มหาศาลในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนา แต่ในขณะเดียวก็กลับมีโทษไม่แพ้กันในด้านสิ่งแวดล้อม และยิ่งเลวร้ายลงไปอีกหากถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาอาวุธ ในอาเซียนเองก็มีการกล่าวถึงนิวเคลียร์ในมิติที่ต่าง ๆ กันออกไป สำนักข่าวแห่งชาติคาดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับนิวเคลียร์ในอาเซียน จึงหยิบยกขึ้นมาเสนอ ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานในอาเซียน ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงาน ครั้งที่ 27 (ASEAN Ministers on Energy Meeting : AMEM) ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศสหภาพพม่า ที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการอาเซียน 2010-2015 เพื่อความร่วมมือด้านพลังงาน หรือ ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation, APAEC ตามที่ประเทศไทยเสนอในฐานะประธานการจัดทำแผน ซึ่งจะเป็นกรอบความร่วมมือ ด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยแผนปฏิบัติการอาเซียนประการหนึ่งก็คือ แผนความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ ทั้งนี้นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายประเทศในอาเซียนเริ่มบรรจุแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานแล้ว บทบาทของอาเซียนต่อการใช้นิวเคลียร์ การประชุมคณะกรรมาธิการเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone Treaty : SEANWFZ) ณ กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat : ASEC) ในการติดตามความคืบหน้าพัฒนาการด้านพลังงานนิวเคลียร์ของกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นหน่วยงานให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่ถูกต้อง ในขณะเดียวกัน แม้จะมีแผนพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกัน แต่เมื่อเกิดกระแสข่าวว่าสหภาพพม่ามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทางอาเซียนเองก็ออกมาต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด โดยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาซียน ได้กล่าวถึงกรณีการรายงานข่าวของสื่อตะวันตก ที่ระบุว่า พม่ามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ลับ และโรงงานสกัดแร่ยูเรเนียม เพื่อสร้างระเบิดนิวเคลียร์ว่าเบื้องต้นเป็นเพียงข้อสงสัย ที่ไม่มีหลักฐานมากไปกว่าการนำภาพมาปะติดปะต่อกัน แต่หากพิสูจน์ได้ว่า พม่ามีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก็ถือว่าผิดข้อตกลง ตามสนธิสัญญาที่อาเซียนจะเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ นอกจากนี้การประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน หรือไอป้า ครั้งที่ 30 ยังมีการหยิบยกการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาหารือ โดยว่าควรประณาม เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ และควรหามาตรการพิเศษเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป ความคืบหน้าของการพัฒนานิวเคลียร์ของอาเซียน นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนานิวเคลียร์ของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ในด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย การเลือกใช้เทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน กระทรวงพลังงานจะนำเสนอผลการศึกษาต่อรัฐบาลอีกครั้งประมาณปลายปี 2553 หรือต้นปี 2554 ขณะที่ประเทศในอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย มีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ร่างไว้ในแผนและนโยบายด้านพลังงานของประเทศ และอาจพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า ส่วน เวียดนาม ได้บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ และกำหนดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกขนาด 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2563 ขณะที่ประเทศ อินโดนีเซีย ตามแผนด้านพลังงานยังคงให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แม้ว่าจะมีการประกาศเลื่อนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากเดิมในปี 2560 เลื่อนเป็นปี 2568 ด้วยเหตุผลด้านการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับ สหภาพพม่า ได้พบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมากบริเวณอ่าวเมาะตะมะ และอ่าวเบงกอล พร้อมกับมีแนวทางส่งก๊าซจำหน่ายให้กับประเทศจีน ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศโดยกำหนดให้ใช้ฐานทรัพยากรจากก๊าซธรรมชาติเป็นตัวเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบโลจิสติกส์ของประเทศในทศวรรษต่อไป แต่เชื่อว่าสหภาพพม่าน่าจะยังไม่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในขณะนี้ แม้แนวคิดเกี่ยวกับนิวเคลียร์ในอาเซียนจะเป็นไปในสองด้านคือ มีทั้งความร่วมมือ และการต่อต้าน แต่เชื่อว่าความร่วมมือต่าง ๆ จะต้องดำเนินไปอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่านิวเคลียร์จะมีประโยชน์มหาศาลด้านพลังงานเพียงใด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามีโอกาสเช่นกันที่นิวเคลียร์จะเป็น ดาบสองคม ที่ให้โทษมหันต์แก่นานาประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และให้เกิดผลกระทบในแง่ลบน้อยที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กำลังโหลดข้อมูล