NOBRA นิทรรศการเปลือยความเป็นมนุษย์กับศิลปิน LGBTQ+

NOBRA นิทรรศการเปลือยความเป็นมนุษย์กับศิลปิน LGBTQ+

NOBRA นิทรรศการเปลือยความเป็นมนุษย์กับศิลปิน LGBTQ+
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่ผ่านการต่อสู้กับกระแสสังคมมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการก้าวข้ามอคติ “การเบี่ยงเบนทางเพศ” และมายาคติเรื่องการเป็น LGBTQ+ ต้องมีทั้งความสวย ความตลกและต้องเป็นผู้ที่สร้างสีสันและความบันเทิงตลอดเวลา จึงจะได้รับการยอมรับจากสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเปลี่ยนไป ตัวตนของ LGBTQ+ ถูกนำเสนอในมุมมองที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งในที่สุดก็เปิดเผยให้สังคมได้รู้ว่า คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีชีวิตที่ผิดแผกไปจากเพศหญิงหรือเพศชาย

แม้ว่า Pride Month หรือเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะผ่านไปแล้ว Sanook ก็ขอพาคุณเดินเล่นท่ามกลางควันหลงของบรรยากาศสีรุ้ง สู่พื้นที่แห่งศิลปะ ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่กลุ่ม LGBTQ+ สามารถส่องประกายได้อย่างเป็นอิสระ ในฐานะศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ “มนุษย์” รวมถึงเปิดเปลือยความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มนี้ ในนิทรรศการ “NOBRA” LGBT Project นิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นที่ Joyman Gallery อาร์ตแกลเลอรีขนาดกะทัดรัด บนหัวมุมแยกสำราญราษฎร์ ถนนมหาไชย กรุงเทพฯ

 วิชชาพร ต่างกลางกุลชร คิวเรเตอร์ของนิทรรศการวิชชาพร ต่างกลางกุลชร คิวเรเตอร์ของนิทรรศการ

วิชชาพร ต่างกลางกุลชร คิวเรเตอร์ของนิทรรศการ ซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศ ต้อนรับเราด้วยแนวคิดของนิทรรศการ ที่ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ แนวคิดที่ว่า LGBTQ+ ไม่ใช่เพศที่เกิดจากพระเจ้า และยังต้องยอมจำนนอย่างไม่มีทางเลือก และส่วนที่ 2 คือ การเปล่งเสียงของศิลปิน LGBTQ+ ผ่านผลงานศิลปะ อย่างไรก็ตาม เธอเน้นย้ำว่านิทรรศการนี้ไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ แต่เป็นการแสดงให้เห็นมิติอื่นๆ ของ LGBTQ+ และเป็นพื้นที่ที่ศิลปิน LGBTQ+ แต่ละคนมาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับมนุษย์ซึ่งกันและกัน

“LGBTQ+ก็มีหลายมิติที่ทุกคนจะต้องมองเรา อย่างมุมมองซีเรียสก็มี มุมมองปรัชญาก็มี การจัดงานครั้งนี้ก็เหมือนเป็นการรวมเอาศิลปินที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วก็มีแง่คิดที่แตกต่างออกไปจากที่คนทั่วไปคุ้นเคย มาแชร์ไอเดียกัน และที่จริงเราไม่จำเป็นต้องแคร์เรื่องเพศ เพราะว่าทุกคอนเซ็ปต์ที่ศิลปินทั้ง 3 คน สร้างสรรค์ เพศชายหรือเพศหญิงก็เขียนได้” คุณวิชชาพรกล่าว

 (จากซ้าย) สิปปกร เขียวสันเทียะ, ณภัทร แก้วมณี และพิษณุ ทองมี ศิลปิน(จากซ้าย) สิปปกร เขียวสันเทียะ, ณภัทร แก้วมณี และพิษณุ ทองมี ศิลปิน

นิทรรศการ “NOBRA” LGBT Project ครอบครองพื้นที่ผนัง 4 ด้าน ของห้องสีแดง บนชั้น 2 ของแกลเลอรี โดยเส้นทางการเดินชมผลงานจะเริ่มต้นที่ผลงานภาพจิตรกรรมของ “ณภัทร แก้วมณี” ที่ประกอบไปด้วยความเข้มขลังของภาพเขียนที่จำลองมาจากภาพถ่ายโบราณ และความฉูดฉาดของสีสะท้อนแสง ที่ดูจะ “รบกวน” ความขลังของภาพถ่ายโบราณไม่น้อย ขณะเดียวกันก็ทำให้ภาพโบราณนั้นดูมีชีวิตขึ้นมาอย่างประหลาด

“เราสนใจเรื่องของเวลา มันก็เหมือนร้านขายนาฬิกา นาฬิกาแต่ละเรือนมันมีเวลาไม่ตรงกัน เราก็จับช่วงเวลาต่างๆ มาทับซ้อนกัน เป็นช่วงเวลาที่สำคัญหรือไม่สำคัญก็ได้” ณภัทรเล่าถึงความสนใจส่วนตัวที่มีต่อภาพถ่ายโบราณ องค์ประกอบหลักของผลงาน ก่อนที่จะเลือก “ทำลาย” ความขลังของภาพเหล่านี้ด้วยสีเรืองแสง ที่เขาค้นพบจากแพลตฟอร์มสมัยใหม่อย่างอินสตาแกรม

 

“เราชอบรูปเก่าๆ เราก็โพสต์ลงใน Story แล้วมันจะมีแอปพลิเคชัน เป็นแอปฯ เรืองแสง ก็พยายามเอาแอปฯ นั้นมาเขียนข้อความหรือรอยยิ้ม อะไรต่างๆ ปรากฏว่าความเรืองแสงนั้นมันทำลายความหมายเก่าๆ ทิ้งหมดเลย ของเรืองแสงมันเป็นของยุคเรา เรากำลังสร้างความหมายใหม่”

เรื่องราวความเป็นมนุษย์ผ่านกาลเวลาของณภัทร จบลงที่ภาพวาดสีแดงฉาน ที่มีคำสบถเกี่ยวกับความรักอันผิดที่ผิดเวลา ก่อนจะเข้าสู่ความละมุนละไมและสยบยอมต่ออานุภาพของความรัก ในผลงานของ “พิษณุ ทองมี” ซึ่งเป็นผลงานจิตรกรรมที่แสดงภาพมนุษย์คู่หนึ่ง ที่เกิดในต่างสถานที่ แต่กลับมีความรักให้แก่กัน ภายใต้องค์ประกอบที่สื่อถึงเรื่องราวของอดัมและอีฟ ในคัมภีร์ไบเบิล ทว่าตีความใหม่โดยไม่มี “เพศ” มาเป็นข้อจำกัด

 

“ผลงานของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ของมนุษย์ ถ้าสังเกตก็จะเห็นถึงความไม่เป็นเพศหญิงและไม่เป็นเพศชาย อยู่ในร่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น งานก็จะพูดถึงเรื่องของมนุษย์ในแง่ของความสัมพันธ์ที่เหนือไปจากความเป็นเพศ ความพิเศษของมันก็คือ มันเป็นการสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่เริ่มมองข้ามเรื่องเพศไป ความรักกลายเป็นเรื่องของคนสองคน มันอยู่ที่ความรู้สึกที่มีให้กันมากกว่า” พิษณุกล่าว

องค์ประกอบของผลงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เชื่อมโยงเข้าสู่ผลงานของศิลปินคนสุดท้าย นั่นคือ “สิปปกร เขียวสันเทียะ” ศิลปินเจ้าของเพจรอยยิ้มเสียดสีการเมืองอย่าง “Baphoboy” ที่มาพร้อมกับภาพพิมพ์ดิจิทัลอันเร้าใจและอัดแน่นไปด้วยสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ และแนวคิดทางการเมือง ที่เจ้าของผลงานเล่าว่า เป็นการนำเสนอ “ความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม” ที่หลอมรวมกันภายในตัวมนุษย์ ขณะเดียวกันก็สอดแทรกความเป็น “Baphoboy” ด้วยการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาต่อสิ่งที่คนทั่วไปไม่กล้าพูดถึง

 

“ถ้าคิดถึง Baphoboy เราคิดถึงความดื้อของเด็ก อย่างเซ็ตนี้ ก็จะเป็นความดื้อในการแตกไปเรื่องความเชื่อทางศาสนา ที่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเล่น ศาสนาก็มีความกดทับเรื่อง LGBTQ+ เราเชื่อว่าความหลากหลายของเรา ผู้หญิงผู้ชาย มันก็เกิดจากความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เราเสนอมุมมองนี้ แต่คนที่มาดูอาจจะเกิดคำถามในมุมอื่น”

 

สำหรับมุมมองที่มีต่อ LGBTQ+ ในปัจจุบัน ศิลปินทุกคนเห็นตรงกันว่า สถานะของ LGBTQ+ ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีต ที่สมัยก่อน LGBTQ+ ต้องยอมเป็นตัวตลก ถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา โดยไม่มีสิทธิร้องขอความเห็นใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ จนกระทั่งภาพลักษณ์เหล่านี้ถูกผลิตซ้ำในสื่อ และกลายเป็นภาพจำในที่สุด แต่ทุกวันนี้ทั้งสังคมและ LGBTQ+ เอง ก็ได้เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามมายาคติเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้สถานะของ LGBTQ+ ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก

“ที่กลุ่ม LGBTQ+ สามารถเปล่งเสียงได้ในทุกวันนี้ ต้องขอบคุณและก็เคารพ LGBTQ+ รุ่นพี่ ที่เบิกทางมาให้เราในระดับหนึ่ง และเมื่อโลกมันเปิดขึ้น ก็ทำให้เราเห็นว่า LGBTQ+ ก็มีแง่มุม แง่คิดที่จะแสดงออกเหมือนกัน สมัยนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปแล้ว ต้องขอบคุณที่เรามาอยู่ในยุคนี้ เพราะทำให้การนำเสนอหรือการสร้างสรรค์ผลงานของ LGBTQ+ มันมีความแตกหน่อออกผลได้อย่างมีความหลากหลายมากขึ้น” วิชชาพรกล่าว

 

นอกจากนี้ ศิลปินทั้งสามยังมีความเห็นเกี่ยวกับมุมมองของสังคมที่มีต่อ LGBTQ+ ที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ สังคมควรมองให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งพิษณุคาดหวังจะเห็นสังคมที่มอง LGBTQ+ เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความรู้สึก มีความรักที่ลึกซึ้งเหมือนชายหญิงทั่วไป ไม่ต้องมองว่าเป็นกลุ่มคนที่พิเศษกว่า หรือไม่ต้องให้คุณค่าจนเหนือกว่าคนอื่น ขณะที่สิปปกรมองว่า ถ้าพื้นฐานความคิดของสังคมเป็นเรื่องมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน LGBTQ+ ก็จะเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ

“ฉันไม่ใช่ LGBTQ+ ฉันเป็นคน อยู่ที่ว่าคุณจะมองฉันเป็นคนหรือเปล่า” ณภัทรกล่าวสรุป

นิทรรศการศิลปะ NOBRA LGBT Project จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 12 กรกฎาคม 2563 ณ Joyman Gallery ถนนมหาไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 20.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 065-124-2222
Facebook: Joyman Gallery
Website: www.joymangallery.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook