การคว่ำบาตรพม่า..ความพยายามที่ดูไม่เป็นผล
แม้จะไม่มีการประกาศสงครามหรือท้าทายอำนาจกันอย่างชัดเจน แต่เท่าที่ผ่านมาเป็นเวลาหลายปีสหภาพพม่า ได้ยืนหยัดและยืนกรานในการดำเนินกิจการภายในของตนเองอย่างแข็งกร้าว โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย การกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี และนักโทษทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่นานาประเทศ รวมทั้งประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐพยายามกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในพม่ามาโดยตลอด มาตรการคว่ำบาตรเป็นวิธีการที่นำมาใช้เป็นหลัก แต่ถึงกระนั้นพม่าก็ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการตามนโยบายของตนเองโดยไม่สะทกสะท้านต่อการคว่ำบาตรของนานาประเทศเลย สำนักข่าวแห่งชาติจึงสนใจในประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุด วุฒิสมาชิกจิม เว็บบ์ แห่งสหรัฐที่มีโอกาสได้เดินทางเยือนพม่าด้วยตนเอง ได้ออกมาระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าไม่มีผลใด ๆ ในการกดดันรัฐบาลทหารพม่าเลย พื้นหลังของความแข็งกร้าว สหภาพพม่า แม้จะถูกมองว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาถึงด้อยพัฒนาที่เทคโนโลยีและความเจริญต่าง ๆ ยังไม่พัฒนามากนัก แต่ในทางกลับกัน เนื่องจากพม่าเป็นประเทศปิด ดังนั้นภายในประเทศพม่ายังมีทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ให้มีใช้รวมทั้งส่งออกนอกประเทศได้อย่างเหลือเฟือ โดยในกรณีของไทยเอง ก็เสียดุลการค้ากับพม่าจากการต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เพื่อมาสนองความต้องการใช้พลังงานของคนไทย หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยกลายเป็นประเทศมหาอำนาจ จึงมีความพยายามให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไปใช้ โดยใช้มาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าว หรือการกดดันให้มีการนำประชาธิปไตยไปใช้ เช่นเดียวกับความพยายามที่จะให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในประเทศพม่า ซึ่งถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก และเนื่องจากประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้เอง ที่ทำให้ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตย พยายามกดดันพม่าด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมถึงการคว่ำบาตรและการโดดเดี่ยวพม่า เพื่อให้พม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ รวมทั้งให้มีการเลือกตั้งตามขั้นตอนของประชาธิปไตยโดยเร็ว ทว่ามาตรการต่าง ๆ เหล่านั้นกลับดูไม่เป็นผล เนื่องจากพม่ามีความรู้สึกต้องพึ่งพิงต่างชาติน้อยกว่าที่ชาติอื่น ๆ คาดคิดไว้ รวมทั้งพม่ายังมีพันธมิตรทางใจกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือเกาหลีเหนือ ซึ่งมีการสนับสนุนพม่าตลอดมา ทิศทางของพม่าเมื่อได้รับแรงกดดันมากจนเกินไป จิม เว็บบ์ วุฒิสมาชิกสหรัฐ ซึ่งได้เดินทางกลับจากการเยือนพม่า ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า มาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ไม่ประสบผลในการกดดันรัฐบาลพม่า และแสดงความวิตกว่า การโดดเดี่ยวพม่าของชาติตะวันตก จะยิ่งเป็นการผลักดันให้พม่าเข้าหาการปกป้องจากจีนมากขึ้น ซึ่งอาจจะสร้างความไม่สมดุลให้กับภูมิภาคนี้ และยังส่งผลให้กับประชาชนพม่าที่จะต้องสูญเสียปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก นอกจากนี้วุฒิสมาชิกเว็บบ์ยังเสนออีกว่าสหรัฐควรจะต้องให้การช่วยเหลือพม่ามากกว่าที่จะคว่ำบาตรพม่าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง บทบาทของไทย บทบาทของประเทศไทยต่อพม่าในขณะนี้มีหลายด้านด้วยกัน ด้านแรกคือบทบาทในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกันและมีความสัมพันธ์ต่อกันมานาน ซึ่งจำเป็นจะต้องรักษาไมตรีอันดีที่มีต่อกันให้มากที่สุด ทั้งในด้านผลประโยชน์ของประเทศ และของประชาชนทั้งสองฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งใด ๆ ขึ้น บทบาทอีกด้านหนึ่งก็คือ บทบาทในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งมีหลักการเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ และพม่าเองก็ได้ให้สัตยาบรรณกับกฎบัตรอาเซียนที่ระบุถึงการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนไปแล้ว ประธานอาเซียนจึงมีบทบาทในการเรียกร้องให้พม่าดำเนินการตามสัตยาบรรณที่ให้ไว้ รวมทั้งดูแลประชาชนอาเซียนในด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามแม้การคว่ำบาตรพม่าจะดูไม่เป็นผลในสายตาของวุฒิสมาชิกจิม เว็บบ์ แต่หลังจากที่มีการเจรจาและมีการเรียกร้องในกรณีของนางออง ซาน ซูจี หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในกรณีที่นายจอห์น เยททอว์ ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปยังบ้านพักนางซูจี แม้รัฐบาลทหารพม่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องโดยการปล่อยตัวนางซูจี และนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ แต่การปล่อยตัวนายเยททอว์ และการลดโทษให้กับนางซูจี ถือเป็นสัญญาณอันดีที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าเปิดใจรับฟังเสียงจากนานาชาติมากขึ้น ประเทศไทยเองแม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดเห็นกับพม่าบ้าง แต่ถือว่ายังคงรักษาสถานภาพของไมตรีอันดีต่อกันได้อยู่ คาดว่าในอนาคตพม่าจะมีความสำคัญไม่น้อยในด้านการค้าขายต่อประเทศไทย การรักษาไมตรีไว้ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าการแตกหักอย่างแน่นอน