นักวิชาการ แนะอุตสาหกรรมส่งออกให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพสินค้า หลังการส่งออกชะลอตัว
นักวิชาการ ระบุ อุตสาหกรรมส่งออกควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพสินค้า หลังเกิดภาวะการส่งออกชะลอตัว พร้อมแนะให้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเน้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก นายสุรพล วัฒนวงศ์ รองผู้ว่าการกลุ่มบริการอุตสาหกรรม และรักษาการผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวภายหลังการสัมมนาเรื่อง ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมการส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี แต่ปัจจุบันการส่งออกประสบปัญหาชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะ ดังนั้นต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กับตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้า โดยล่าสุด วว. ให้บริการงานด้านวิเคราะห์ ทดสอบคุณภาพสินค้า เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยที่ผ่านมามีสถานประกอบการมาตรวจสอบคุณภาพสินค้า 1,200-1,300 รายต่อปี อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมก่อสร้าง รถยนต์ โดยมีสถานประกอบการประมาณ 70 ราย ที่ วว.ให้การรับรอง ISO9000 ซึ่งเชื่อว่าหากภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้นก็จะส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันมากขึ้น ด้าน ดร.จารึก สิงหปรีชา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 ของประเทศกำลังพัฒนาจะชะลอตัวลงเกือบร้อยละ 2-4.5 เนื่องจากวิกฤตการเงิน การส่งออกที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ทั้งนี้ สิ่งที่ประเทศไทยทำได้ควรที่จะกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก โดยผ่านการบริโภคของภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐเป็นตัวนำ อีกทั้งต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งฟื้นฟูและสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ปรับโครงสร้างภาษี เน้นการพัฒนาภาคการเกษตร