เปิดห้องเรียนวิทย์ แดนปลาดิบสู่รั้วจามจุรี

เปิดห้องเรียนวิทย์ แดนปลาดิบสู่รั้วจามจุรี

เปิดห้องเรียนวิทย์ แดนปลาดิบสู่รั้วจามจุรี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : นิภาพร ทับหุ่น

ลืมพิพิธภัณฑ์ทึบๆ ทึมๆ มีแต่ของเก่าโบราณไปได้เลย เพราะพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง ทั้งสนุก เพลิดเพลิน ได้ความรู้ใหม่

Kore wa nan desu ka?" (นี่อะไรคะ?)

"Kanzou desu." (ตับครับ)

"Sore?" (นั่นล่ะ)

"Hai" (ไต)

แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่คำตอบของคนไทย แต่เป็นความกระตือรือร้นของเด็กชายชาวญี่ปุ่นวัย 9 ปีคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสรู้จักอวัยวะภายในร่างกายของมนุษย์จากการจำลองระบบกายวิภาคใน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น เขาบอกว่า เข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ซึ่งถ้าลองเปรียบเทียบกับเด็กไทยในวัย 5 ขวบ

เขากำลังทำอะไรอยู่?

แม้การปลูกฝังความคิดและพฤติกรรมการชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของชาว ญี่ปุ่นกับชาวไทยอาจจะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ถ้าถามถึงกิจกรรมและเทคโนโลยีของชิ้นงาน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของไทยก็ไม่แพ้ที่ใดในโลกเหมือนกัน

เซย์ HI - มิไรคัง

ญี่ปุ่นสร้างวิธีคิดและกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ ตั้งแต่เกิดในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะกับเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะอยู่ในชีวิตประจำวัน ประชากรส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกตำราเป็นอย่างยิ่ง สังเกตได้จากพฤติกรรมการชมพิพิธภัณฑ์ของชาวอาทิตย์อุทัยที่มักอุ้มลูกจูง หลานมาต่อคิวเพื่อรอซื้อบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาทำการที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติของญี่ปุ่น (The National Museum of Science and Innovation - Miraikan) หรือที่รู้จักกันในชื่อ มิไรคัง เป็นเหมือนห้องเรียนนอกตำราขนาดใหญ่ที่ชาวญี่ปุ่นมักใช้เวลาในช่วงวันหยุดมา ทำกิจกรรมที่นี่

คิตากาวา หรือ ฮอตโตะ ไกด์ชาวจีนแต้จิ๋วที่อยู่ญี่ปุ่นมานานกว่า 30 ปี เล่าว่า คนญี่ปุ่นมีจินตนาการสูงกับทุกๆ เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบที่จะเรียนรู้และคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าและเป็นเจ้าโปรเจกต์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเทคโนโลยี

"ทองคำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามาก ถามว่าทองคำอยู่ที่ไหนมากที่สุดในโลก คำตอบคือ ญี่ปุ่น เพราะอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และอยู่ในผลิตภัณฑ์ของโรงงานอุตสาหกรรม ชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นก็มีอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เกือบจะทุกอย่าง เพราะคนญี่ปุ่นช่างคิด" ฮอตโตะ บอก

แม้ญี่ปุ่นจะใช้พลังงานและทรัพยากรของโลกหมดไปมากมายเพียงไร แต่ก็ไม่มีใครทอดทิ้งเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ จนโต อาจจะเรียกว่าเป็นจิตสำนึกทางสังคมที่ทุกคนต้องเรียนรู้ก็ว่าได้

มิไรคัง ตั้งอยู่บนเกาะโอไดบะ(Odaiba) กลางกรุงโตเกียว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่วางรากฐานทางความคิดให้กับทุกคน ภาษาญี่ปุ่นคำว่า มิไรคัง แปลว่า โลกแห่งอนาคต เพราะฉะนั้นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงอยู่ที่การจัดแสดงนวัตกรรมและ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีมากถึง 200 รายการ โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ 4 โซน คือ 1.สิ่งแวดล้อมโลก (The Earth Environment and Frontiers) 2.นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต (Innovation and the Future) 3.เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสังคม (Information Science and Technology for Society) และ 4.วิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต (Life Sciences)

ก่อนเข้าไปพบกับกิจกรรมต่างๆ ทุกคนจะได้เห็น "Geo-Cosmos"ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมิไรคังที่แขวนอยู่บนเพดานทรงสูง Geo-Cosmos เป็นวัตถุทรงกลมขนาดใหญ่(6.5 เมตร) ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศผ่านระบบดาวเทียม ลูกทรงกลมนี้จะเปลี่ยนสีทุกๆ 15 นาที เพื่อแสดงสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะเวลาต่างๆ จากอดีตถึงปัจจุบัน

"ที่มิไรคังจะจัดนิทรรศการหมุนเวียน(บริเวณชั้น1-2) คราวนี้เล่าถึงชีวิตที่เกิดขึ้นบนโลก และสิ่งที่กำลังจะสูญสลาย ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ วิวัฒนาการของคน มีเรื่องของสัตว์ยุคโบราณอย่างช้างแมมมอธ หรือแมวป่าที่สูญพันธุ์ไปแล้ว มีใครเคยรู้บ้างว่าแมวก็เป็นโรคเอดส์ และมันก็สูญพันธุ์เพราะโรคเอดส์ เรียกว่าเอดส์แมว นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้สูญพันธุ์" ฮอตโตะ อธิบาย

สำหรับโซนที่ผู้ชมเดินเข้ามาแล้วมักเก็บอาการตื่นเต้นไว้ไม่อยู่ ก็คือ โซนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต ที่อยู่บริเวณชั้น 3 เพราะมีพระเอกเป็นหุ่นยนต์ โดยเฉพาะอาซิโม (Asimo) ที่คนไทยรู้จักกันดี นอกจากนี้ยังมี หุ่นยนต์ปิโน (Pino) ซึ่งเป็น Humanoid Robot ดังไม่แพ้อาซิโม

แต่ที่เป็นขวัญใจ ใครเข้าไปเป็นต้องลูบหัวลูบหาง ก็คือ ปาโร (Paro) หุ่นยนต์รูปแมวน้ำที่ช่วยบำบัดจิตใจผู้ป่วยและผู้สูงวัยได้ เพราะปาโรถูกออกแบบมาให้มีระบบรับการสัมผัสที่ดี หางสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ กระพริบตาได้ มีความสามารถในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียกชื่อ รวมถึงแสดงอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น และมีความสุขได้ นอกจากความสนุกตื่นเต้นที่ได้เห็นเหล็กเดินได้ ทุกคนยังสามารถทดลองประดิษฐ์หุ่นยนต์ในจินตนาการของตัวเองได้ด้วย

ที่ชั้น 4 มีการแสดงแบบจำลองโครงสร้างร่างกายของมนุษย์และสัตว์( Anatomy) ที่สามารถนำออกมาประกอบทีละชิ้นได้ เช่น ตับ ไต หัวใจ ไส้ โครงกระดูก ฯลฯ สุดท้ายคือ ชั้น 5 เป็นชั้นที่จำลองยานอวกาศเสมือนจริงทุกประการไว้อย่างน่าสนใจ โดยจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ ตั้งแต่ ห้องนอน ห้องบังคับการ ห้องน้ำ มีการแสดงอาหารและยา รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเดินทางของนักบินอวกาศ ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้และสัมผัสของจริงได้จากประสบการณ์ตรงของ อดีตนักบินอวกาศ และเจ้าหน้าที่โครงการอวกาศ ที่มาเป็นอาสาสมัครที่นี่

หนึ่งในนั้นคือ ดร.มาโมรุ โมริ (Dr.Mamoru Mohri) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มิไรคัง ที่ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศเพราะการ์ตูน "โดราเอมอน" และเขาก็สามารถทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้ ด้วยการเป็นนักบินอวกาศคนแรกของญี่ปุ่น

ดร.มาโมรุ บอกว่า มิไรคังเป็นสถานที่ที่สามารถเห็นหรือเข้าไปสัมผัสโลกได้ด้วยสายตาของนัก วิทยาศาสตร์และนักวิจัย โดยการใช้ข้อสังเกตและมุมมองของพวกเขา ประสบการณ์ใหม่ในโลกใบเก่าของทุกคนก็ถูกเติมเต็มและสนุกสนานมากขึ้น

"ใช่แค่ ศิลปะ วรรณกรรม และปรัชญา จะทำให้เราเข้าใจโลกใบสีฟ้าๆ มากขึ้น ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ยังจะเป็นหนทางที่จะพาเราเข้าไปให้เห็นว่า จริงๆ แล้วโลกทำงานอย่างไร ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จะช่วยสร้างความประทับใจใหม่ๆ และเพิ่มมุมมองที่ดีต่อศาสตร์ด้านนี้มากขึ้น ซึ่งผลของมันอาจจะไปไกลขนาดเปลี่ยนชีวิตเราไปเลยก็ได้" อดีตนักบินอวกาศคนแรกของญี่ปุ่น เชิญชวน

วิทย์กลางกรุง ยินดีต้อนรับ

สำหรับ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ของไทย เป็นอาคารทรงลูกบาศก์(ลูกเต๋า) ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า(ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) ภายในเทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมักได้รับเสียงบ่นอย่างท้อแท้ว่า "อยู่ไกลเกินไป"

ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. ประสบความสำเร็จในการให้บริการแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ ประชาชนในสังคมไทย โดยมีผู้เข้าชมเฉลี่ย 1.5 ล้านคนต่อปี และด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ อพวช. ยังได้นำความรู้ออกไปสู่ชุมชนห่างไกลทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีตลอดมา นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็น ประจำทุกปีด้วย

"ประเทศไทยมีคนทั้งประเทศ 66 ล้านคน เราเป็นองค์กรแห่งชาติ ก็คิดว่าทำยังไงถึงจะเซิร์ฟคน 66 ล้านคนได้ เรามีกิจกรรม out service เป็นคาราวานวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการยก อพวช. ทั้งหมดไปจัดกิจกรรมเลย เรายกทั้งนิทรรศการและกิจกรรมไป พยายามจะจัดให้มีกิจกรรมตลอดทั้งปี ปีละ 200 กว่าวัน อันนี้คือที่ตั้งใจไว้ แต่เอาเข้าจริงเราจะรู้ว่ามันเวิร์คแค่ช่วงเปิดเทอม พอปิดเทอมไม่เวิร์ค ต้องปรับเปลี่ยนอีกเยอะ"

นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นมากถึงปีละ 40-50 ค่าย โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงเด็กพิการ และบุคคลด้อยโอกาส

"อพวช.เป็นหน่วยงานที่ทำกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์มากที่สุดในโลก" ผอ. ยืนยัน

นอกจากกิจกรรมดังกล่าว ที่ถือว่าเป็นการกระจายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว อพวช. ยังเอาใจคนเมืองกรุงด้วยการเปิด จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. (NSM SCIENCE SQUARE) ใจกลางกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง

"ตอนนี้เรามีโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ที่จามจุรีสแควร์ บนพื้นที่ 300 ตารางเมตร อยู่ชั้น 4 และชั้น 5 แต่อยู่ในช่วงทดลองเปิดจะเปิดอย่างสมบูรณ์เดือนมกราคม 2553 ตอนนี้เลยสามารถเข้าไปชมได้ฟรี เข้าไปเล่นชิ้นงานได้ แต่ชิ้นงานบางส่วนยังไม่สมบูรณ์"

สำหรับจัตุรัสวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอัน ทันสมัยที่สร้างขึ้นในโอกาสที่ อพวช. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 โดยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ ในรูปแบบ EDUTAINMENT ซึ่งนิทรรศการและกิจกรรมภายในสอดคล้องกับ Life Style ของคนเมืองโดยเฉพาะ ด้วยชิ้นงานวิทยาศาสตร์แบบ interactive ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมให้ทดลอง สัมผัส เรียนรู้ด้วยตัวเอง และเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย

ตัวอย่างกิจกรรมในช่วงทดลองเปิด ได้แก่ นิทรรศการชุดสวนสนุกวิทยาศาสตร์ ที่สามารถทดลองเล่น และสังเกตปรากฏการณ์ พร้อมเรียนรู้หลักการทางวิทยาศาสตร์ของสิ่งรอบตัวได้, นิทรรศการชุด Math Puzzle ไขปริศนาทางคณิตศาสตร์ เพิ่มทักษะกระบวนการแก้ปัญหา การฝึกคิดอย่างเป็นระบบ ด้วยชิ้นงานที่สนุกสนาน, นิทรรศการ The Word at Night ภาพถ่ายโลกรัตติกาล ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่ชนะการประกวดจากทั่วโลก, มุมปลูกฝังปัญญาเยาว์ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน กับกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก, กิจกรรมการประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ และการแก้โจทย์ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการในอนาคตที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 เป็นต้นไปด้วย

"เป็นคัลเจอร์หรือเปล่าไม่ทราบ แต่เพื่อนผมบอก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เหรอ อยากไป แต่เอาไว้เปิดเทอมดีกว่า ปิดเทอมเด็กเยอะ อายเด็กมัน ผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่ผิด เรามีนิทรรศการที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกันได้ ผมเห็นเด็กป.1 จูงคุณยายวัย 70 เข้าไปใส่เสื้อกาวน์ เข้าไปในห้องแยกดีเอ็นเอกล้วยหอม มันเป็นภาพที่น่ารัก
พอมีประเด็นอะไร ที่อยู่ในกระแส เช่น ไข้หวัด 2009 สึนามิ เราก็ทำ เป็นเครื่องมือของเราที่คนทุกวัยสามารถเข้าไปแสวงหาความรู้ได้หมด อยากจะเรียนว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไม่ได้ทำให้คิดว่า มาแล้วจะออกไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นองค์กรที่ให้ความรู้เยาวชน ประชาชน ให้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสมบูรณ์ต่อไป"

แม้บางอย่างจะเทียบไม่ได้กับเทคโนโลยีที่ล้ำโลกของญี่ปุ่น แต่ ผอ.พิชัย ก็ยืนยันว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของไทยทันสมัยไม่แพ้ที่อื่นใดในโลก

"เราเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่ไม่มีระบบ คมนาคมขนส่งเข้าถึง เข้าไปก็ยากลำบาก แต่ทำไมยอดเข้าชมอยู่ที่ 1.5 ล้านคนต่อปี แสดงว่า คนให้ความสำคัญกับงานวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ต้องมีอะไรดีถึงดึงดูดคนได้ ตัวอย่างอย่างมิไรคังปีที่ผ่านมาตัวเลขที่ผมทราบ 7 แสน 8 หมื่นคน หรือ 6 แสนกว่า อันนี้ไม่แน่ใจ ของเขาตั้งอยู่กลางเมืองด้วยซ้ำ แวดล้อมด้วยระบบขนส่งมวลชน ทำไมของไทยเราจะสู้เขาไม่ได้ เคยมีหลายคนบอกว่า ทำไมของไทยสู้เขาไม่ได้ ก็คงต้องบอกว่า เคยมาดูหรือเปล่า ผมท้าทายเลย ท้าให้มาดูแล้วเปรียบเทียบเลย"

ท้าทายขนาดนี้ ใครจะทนนั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ ได้อีก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook