ศาสตราจารย์สติกลิตซ์ ต้องการบอกอะไรกับสังคมไทย

ศาสตราจารย์สติกลิตซ์ ต้องการบอกอะไรกับสังคมไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้รับฟังคำบรรยายของศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph E. Stiglitz) เกี่ยวกับปัญหาการนำผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Products) และ GDP ต่อประชากร มาใช้ในการวัดระดับการพัฒนาประเทศ จึงได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกท่านนี้ จึงอยากนำความคิดของท่านมาเล่าสู่กันฟัง

ถ้าผู้อ่านอยู่ในแวดวงเศรษฐศาสตร์คงเคยได้ยินชื่อนักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้กันบ้าง แต่บางท่านอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้ ผมจึงขอแนะนำอย่างคร่าวๆ ศาสตราจารย์สติกลิตซ์ ได้รับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) ผ่านงานสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่ง เคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และรองประธานอาวุโสของธนาคารโลก (World Bank) และได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2544 ศาสตราจารย์สติกลิตซ์มีผลงานทางวิชาการมากมาย รวมทั้งได้นำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางของวิชาเศรษฐศาสตร์ในหลายด้านด้วยกัน

การบรรยายของศาสตราจารย์สติกลิตซ์ครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญ แต่ผมขอเขียนเฉพาะเรื่องที่ท่านเน้นในวันนั้นคือ การใช้ตัวเลข GDP และ GDP ต่อประชากร เป็นดัชนีชี้วัดระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการใช้ตัวเลข GDP ต่อประชากร หรือผลผลิตต่อประชากร ในการเปรียบเทียบระดับการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะอันที่จริง GDP เป็นการวัดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น การใช้ตัวชี้วัดที่ไม่ถูกต้องเป็นเป้าหมายในการพัฒนา จะนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่ผิดได้ และยังอาจจะทำให้การพัฒนาจบลงด้วยความเสียหายมากกว่าผลดี

ผมขอสรุปประเด็นสำคัญจากการบรรยาย นั่นคือ การใช้ตัวเลข GDP และ GDP ต่อประชากร มีปัญหา 3 ประการด้วยกัน คือ (1) การตีความ GDP และ GDP ต่อประชากร (2) การคำนวณหรือวัด GDP และ (3) ความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจ

(1) การตีความ GDP และ GDP ต่อประชากร โดยสรุปว่าขนาดหรือมูลค่าที่สูงขึ้นของ GDP และ GDP ต่อประชากร เป็นการแสดงว่าระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาของการตีความก็คือ GDP ต่อประชากรเป็นมูลค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ แม้จะมีค่าสูงขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่จะมีความเป็นอยู่ดีขึ้นไปด้วย เพราะประโยชน์อาจจะตกอยู่กับเฉพาะคนบางกลุ่ม นอกจากนี้ การวัดการพัฒนาด้วยตัวเลขดังกล่าวก็ไม่สะท้อนถึงปัญหาอื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลง ความผูกพันระหว่างบุคคลในสังคมน้อยลง ซึ่งปัญหาต่างๆนี้อาจจะทำให้คนในประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของขนาด GDP และ GDP ต่อประชากร

การตีความ GDP ยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้นตามขนาด GDP ที่สูงขึ้น การลงทุนบางประเภทไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยตรง เช่นการก่อสร้างทัณฑสถานหรือคุก ท่านยกตัวอย่างว่าในสหรัฐฯ มีการสร้างคุกมากกว่ามหาวิทยาลัยเสียอีก ซึ่งการก่อสร้างนั้นทำให้ GDP และ GDP ต่อประชากรสูงขึ้น ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนได้ประโยชน์หรือมีความสุขมากขึ้น

(2) การคำนวณหรือวัด GDP ในการคำนวณ GDP จะรวมการค้าและบริการของภาครัฐเข้าไว้ด้วย ปัญหาเกิดจากบริการของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้แก่ประชาชนจึงไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถวัดมูลค่าของบริการในราคาตลาดได้ ดังนั้นในการคำนวณ GDP จึงต้องใช้ตัวเลขต้นทุนของบริการนั้นๆแทนมูลค่า ส่งผลให้การคำนวณมูลค่า GDP ที่ได้ต่ำกว่าความจริง ในปัจจุบัน มูลค่าของบริการภาครัฐของเกือบทุกประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เมื่อเวลาผ่านไปการคำนวณ GDP ที่ได้จะต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นมากขึ้น

นอกจากนี้ ในการคำนวณ GDP ยังมีปัญหาที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไปทั่วโลก ในประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่าสูง ซึ่งจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น ทว่าการใช้ GDP เป็นการวัดมูลค่าการผลิตไม่ใช่รายได้ของประชากร ดังนั้นแม้ GDP อาจจะเพิ่มมาก แต่ประชากรอาจจะได้เพียงแค่ค่าแรง และภาครัฐได้รายได้ในรูปต่างๆ เช่นภาษีเงินได้และค่าสัมปทานเท่านั้น แต่บริษัทต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศได้กำไร และอาจจะโอนกำไรที่ได้กลับประเทศตน ดังนั้นแม้ว่า GDP จะคำนวณได้เพิ่มมากขึ้นจากการลงทุนและการผลิตของบริษัทต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้แสดงว่าประชากรในประเทศจะได้ประโยชน์เท่ากับ GDP ที่สูงขึ้น ในระบบโลกาภิวัตน์ การลงทุนจากต่างประเทศที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การคำนวณ GDP ไม่ตรงกับความจริงมากขึ้นตามไปด้วย

เรื่องสุดท้ายคือ ความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวเลข GDP จะไม่รวมผลเสียต่างๆที่เกิดจากการพัฒนา นอกจากนั้น GDP ยังเป็นการวัดมูลค่าเศรษฐกิจในขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รวมผลกระทบเศรษฐกิจในอนาคต ตัวอย่างเช่น การเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้ GDP ในขณะนั้นเพิ่มขึ้นสูงมากแต่ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อฟองสบู่แตกก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัว นั่นคือ GDP ในอนาคตจะลดลง ดังนั้นการใช้ GDP วัดว่า เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป

จากที่ผมสรุปมาทั้งหมด ผู้อ่านคงเห็นภาพว่าการใช้ GDP และ GDP ต่อประชากรมีปัญหาอยู่หลายด้านที่ไม่เหมาะสมในการใช้วัดระดับการพัฒนาและความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาของประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ นั่นคือรัฐบาลมักจะใช้การเติบโตของ GDP เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในการบริหารประเทศที่สำคัญ ทว่าการใช้เครื่องชี้วัดที่ผิดพลาด ก็อาจจะนำไปสู่นโยบายที่ผิดพลาดได้

การบรรยายของศาสตราจารย์สติกลิตซ์ในครั้งนี้ อาจทำให้เราฉุกคิดและหันมาสำรวจว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายไปพร้อมกับการพัฒนาเพื่อให้ GDP เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น สภาพแวดล้อมที่เสื่อมทรามลง สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความผูกพันทางสังคมและระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ลดน้อยลง ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต จะต้องพิจารณาแบบองค์รวมที่คำนึงถึงปัจจัยทางสังคมและอื่นๆประกอบด้วย ที่สำคัญที่สุดก็คือการชี้วัดผลของการพัฒนาจะต้องนำปัจจัยอื่นๆประกอบไม่ใช่ใช้เพียง GDP และ GDP ต่อประชากรเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook