หมอไขข้อข้องใจเคส “ตั้ว ศรัณยู” ทำไมตรวจพบ "มะเร็งตับระยะสุดท้าย" จากกระดูกหัก

หมอไขข้อข้องใจเคส “ตั้ว ศรัณยู” ทำไมตรวจพบ "มะเร็งตับระยะสุดท้าย" จากกระดูกหัก

หมอไขข้อข้องใจเคส “ตั้ว ศรัณยู” ทำไมตรวจพบ "มะเร็งตับระยะสุดท้าย" จากกระดูกหัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีการเสียชีวิตของ ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง พระเอกตลอดกาล นักแสดง และผู้กำกับชื่อดังวัย 59 ปี ที่จากไปอย่างกะทันหัน ด้วยโรคมะเร็งตับ หลังเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากการประสบอุบัติเหตุล้มจนกระดูกสันหลังหัก หลังจากนั้นแพทย์จึงตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย

ล่าสุด ”หมอขอเล่า” ได้เขียนบทความให้ข้อมูลว่า ทำไมถึงตรวจพบมะเร็งจากกระดูกที่หัก ดังนี้

ข่าวการเสียชีวิตของ คุณตั้ว พบว่าอาการแรกเริ่มที่แพทย์พบว่า คุณตั้ว เป็นมะเร็งนั้น ไม่ได้มาจากอาการทางเดินอาหาร แต่กลับมาจากที่ คุณตั้ว ล้มและกระดูกหัก และแพทย์ที่ทำการรักษา ไปพบว่าเป็นกระดูกหักแบบผิดปกติ คล้ายเกิดจากมะเร็ง

ซึ่งการที่กระดูกหักอันเกิดจากมะเร็ง สามารถพอบอกได้จาก x-rays กระดูก ซึ่งโดยปกติแล้วพอแพทย์ที่ได้เห็นความผิดปกติจาก x-rays กระดูก ก็จะค้นหาต่อว่า ความผิดปกตินั้นเป็นก้อนมะเร็ง จริงหรือเปล่า และถ้าเป็นจริงก็ต้องมาหาต่อว่า เป็นมะเร็งจากตัวกระดูกเอง หรือ เป็นมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้าเป็นคนที่อายุมาก ถ้าพบก้อนมะเร็งบริเวณกระดูก ก็มักจะเกิดจาก มะเร็งจากอวัยวะอื่นแพร่กระจายมาที่กระดูก

ภาพตัวอย่างมะเร็งลามไปที่กระดูก

ทั้งนี้ มะเร็งหลักๆ ที่มักจะมีการแพร่กระจายมาที่กระดูก คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไทรอยด์ เป็นต้น

ผมเองก็เคยตรวจพบผู้ป่วยกรณีคล้ายๆ ของ คุณตั้ว อยู่หลายเคส คือ เป็นคนทำงานปกติมาตลอด และเกิดอุบัติเหตุ (มักจะเป็นอุบัติเหตุไม่รุนแรงแต่กระดูกก็หัก เพราะตัวมะเร็งไปทำลายกระดูก กระดูกเลยไม่แข็งแรง) แล้วกระดูกหัก แต่ปรากฏสุดท้ายเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย !!!!

ซึ่งกรณีแบบนี้ ผู้ป่วยมักจะทำใจรับไม่ค่อยได้ เพราะไม่รู้ตัวหรือทำใจมาก่อน

ผมจึงอยากจะเขียนบทความนี้ไว้นะครับ ชีวิตของพวกเราทุกคนไม่แน่นอน บางทีอาจจะมีโรคร้ายแฝงอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนอาจจะต้องคิดไว้และไม่ประมาทกับชีวิตนะครับ

สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ ต้องหมั่นดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยงของโรคร้ายต่างๆ นะครับ

ผมก็ขอเขียนบทความนี้เพื่อเป็นความรู้แก่คนทั่วไป และขอเเสดงความเสียใจกับครอบครัวของ คุณตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ"

นอกจากนี้ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับโดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้

ในขณะที่ นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น

หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือดดูความผิดปกติจากการทํางานของตับ การตรวจระดับอัลฟาฟีโตโปรตีน การอัลตราซาวด์เพื่อดูก้อนที่ตับ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นต้น สำหรับการรักษามะเร็งตับและท่อน้ำดีมีหลายวิธีซึ่งจําเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ซึ่งการป้องกันโรค ทำได้โดยการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อาหารที่มีดินประสิว และอาหารหมักดอง เป็นต้น

หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังหรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ ควรรับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook