ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/1636/8182178/prompt-tax-for-platform.jpgครม.เห็นชอบร่างกฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ

    ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ

    2020-06-09T17:39:21+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ (e-Service) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

    วันนี้ (9 มิ.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ (e-Service) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

    เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น ดาวน์โหลดหนัง เพลง เกมส์ การจองโรงแรม จากแพลตฟอร์มต่างประเทศโดยไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

    สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวคือ กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในประเทศ ซึ่งหากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

    ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกิดความเหมาะสม และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

    ขั้นตอนต่อไปหลังจาก ครม.มีมติแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพราะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว คาดว่ากระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีตัวอย่างประเทศที่ใช้กฎหมายฉบับนี้ อาทิ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งกรมสรรพากรจะทำคู่มือให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจในทุกขั้นตอน

    ขอขอบคุณ

    ภาพ :iStock