ยอดเวนคืนกรมธรรม์พุ่ง 27% ศก.พ่นพิษรากหญ้าร้อนเงิน นายกฯประกันชีวิต ยันไม่น่าห่วงอ้างเบี้ยรับรวมยังเ

ยอดเวนคืนกรมธรรม์พุ่ง 27% ศก.พ่นพิษรากหญ้าร้อนเงิน นายกฯประกันชีวิต ยันไม่น่าห่วงอ้างเบี้ยรับรวมยังเ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ครึ่งปีแรก 2552 ยอดเวนคืนกรมธรรม์พุ่ง 27.14% ส.ประกันชีวิตไทย- ส.ตัวแทนประกันชีวิต ชี้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีผลกระทบต่อกลุ่มรากหญ้ามีรายได้ลด คาดร้อนเงินจึงเวนคืนกรมธรรม์ แต่ยันยังไม่น่าเป็นห่วง ด้านหนึ่งประกันชีวิตใช้บริหารความเสี่ยง เบี้ยรับรวมยังโต 15.5% และรัฐบาลมีกองทุนประกันหนุนช่วย

จากข้อมูลจำนวนกรมธรรม์และจำนวนเงินเอาประกันของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 6 เดือนแรกปี 2552 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า แม้จำนวนกรมธรรม์และจำนวนเงินเอาประกันภัยจะเพิ่มขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจ แต่อีกด้านของผู้ทำประกัน ทั้งในกรณีครบกำหนด,มรณกรรม, เวนคืนและยกเลิกหรือขาดอายุ และกรณีอื่นๆกลับเพิ่มขึ้น

โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2551 กรณีเวนคืนกรมธรรม์หรือยกเลิกธรรม์ เพื่อรับเบี้ยประกันคืน เพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็นจำนวนกรมธรรม์ที่เพิ่มขึ้น 27.14% และจำนวนเงินเอาประกันที่เพิ่มขึ้น 27.80% จากในช่วง 6 เดือนแรกปี 2552 มีจำนวนเวรคืนกรมธรรม์ 175,329 ราย คิดเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 4,698.85 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปี 2551 มีจำนวนเวนคืนกรมธรรม์ 127,737 ราย คิดเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 3,392.42 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกันของลูกค้า บางส่วนที่ลดลงไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่องทำให้ประชาชนมีรายได้ลดลง กระทบต่อความสามารถส่งเบี้ยประกันต่อ เพื่อรักษากรมธรรม์ไว้ จากความต้องการนำเงินสะสมจากกรมธรรม์ออกมาใช้ก่อนกำหนด

แม้ว่าทั้งระบบจะมีจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับใช้เมื่อสิ้นปีก่อนทั้งสิ้น 14,174,401 ราย หรือเพิ่มขึ้น 7.64% และมีจำนวนกรมธรรม์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างปีทั้งสิ้น 1,363,449 ราย หรือเพิ่มขึ้น 0.05% แต่มีการทำใหม่ทั้งสิ้นเพียง 1,205,389 ราย หรือลดลง 1.13% รวมถึงจำนวนกรมธรรม์ที่ลดลงระหว่างปีทั้งสิ้น 952,023 หรือเพิ่มขึ้น 7.7%

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติธุรกิจรายปีของสมาคมประกันชีวิตไทยในปี 2549-2551 จะเห็นว่าการลดลงของกรมธรรม์ประกันชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 มีจำนวน 1,391,502 ราย,ปี 2550 ยอดเพิ่มเป็น 1,650,881 ราย และปี 2551 ยอดเพิ่มเป็น 1,865,039 ราย ขณะที่ยอดการเวนคืนในปี 2549 มีจำนวน 281,021 ราย, ปี 2550 มีจำนวน 280,513 ราย และปี 2551 311,493 ราย

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด และในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ถึงตัวเลขของการเวนคืนกรมธรรม์หรือยกเลิกว่า ส่วนหนึ่งนั้นมีผลมาจากกลุ่มรากหญ้าที่ถูกผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยตรง เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงานในภาคท่องเที่ยวและส่งออก ทำให้มีรายได้ลดลงหรือตกงาน ไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ต่อเนื่องและมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องนำเงินไปใช้จ่าย ทั้งนี้ การเวนคืนเป็นสิทธิส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามการมีประกันชีวิตสามารถช่วยบริหารค่าใช้จ่ายเช่นกัน ซึ่งในระบบหากเป็นกรมธรรม์ 2 ปีขึ้นไป สามารถกู้เงินจากกรมธรรม์ได้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องเวนคืนกรมธรรม์ หรือสามารถกลับมาซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตใหม่ที่มีเบี้ยประกันถูกลงได้ในภายหลังและก็ยังมีระบบการผ่อนชำระเบี้ยประกันรองรับด้วย แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเพิ่มขึ้น ยังไม่มีสัญญาณผิดปกติหรือเป็นประเด็น เพราะอีกด้านหนึ่งธุรกิจประกันชีวิตก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งจำนวนเบี้ยประกันและจำนวนกรมธรรม์ จึงเป็นไปได้ที่เวนคืนกรมธรรม์จะเพิ่มขึ้นตาม และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมดที่มีผลบังคับก็จะเห็นภาพว่า อัตราการเพิ่มขึ้นกับอัตราการลดลงยังอยู่ระดับเดียวกันกับปีก่อนจึงเป็นตัวเลขปกติ

สอดคล้องกับนายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิต กล่าวว่า จากการที่ตัวแทนขยายตลาดรากหญ้า ตามนโนบายประชานิยมของรัฐบาลในอดีต ประกอบกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่นส่งออกและสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ เริ่มส่งผลสะท้อนกลับมาในปีนี้ ส่งผลให้ยอดเวนคืนกรมธรรม์เพิ่มขึ้น เพราะตัวแทนเน้นขยายตลาดด้วยการเพิ่มจำนวนราย แต่มูลค่าการเวนคืนยังไม่เป็นที่กังวล เนื่องจากมูลค่าเบี้ยต่อหัวของกลุ่มรากหญ้าไม่สูงมาก เบี้ยประกันต่อเดือนเฉลี่ย 300-400 บาท ทุนประกันต่อปีเฉลี่ย 50,000 บาท

ดังนั้น ปีนี้จึงเริ่มเห็นว่า มีเพียงบริษัทประกันชีวิตบางแห่งเท่านั้นที่ยังให้เน้นบริการกับคนกลุ่มรากหญ้าต่อเนื่อง เช่น บจก. ไทยสมุทรประกันชีวิต ,บจก. เมืองไทยประกันชีวิต และบจก. ไทยประกันชีวิต แต่ได้มีการปรับความคุ้มครองให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เพราะปัจจุบันรัฐบาลชุดนี้ ได้มีสวัสดิการการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กลุ่มออมทรัพย์ชุมชน ในเขตกรุงเทพฯ สำหรับผลการดำเนินของธุรกิจประกันชีวิตทั้งระบบ 6 เดือนแรกปี 2552 (ม.ค. - มิ.ย. ) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมมีทั้งสิ้น 119,950.2 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15.5% เป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ 39,480.5 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 21.9% และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป 80,469.7 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น12.5% ซึ่งยังมีอัตราความคงเฉลี่ยอยู่ที่ 86%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook