ลุ้น ''มาร์ค'' ปลุกท่องเที่ยวฟื้น

ลุ้น ''มาร์ค'' ปลุกท่องเที่ยวฟื้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พิสูจน์ฝีมือหรือรอปาฏิหาริย์!

เวลานี้ใครเคยงอน คิดว่า มาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ใส่ใจดูแลภาคท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญดึงรายได้เข้าประเทศมาก คงหายงอนแล้ว เมื่อ นายกฯมาร์ค ออกโรงเดินสายระบายความในใจที่มีต่อภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศแผนปฏิบัติการเชิงรุกเอาใจภาคท่องเที่ยว ในงานปาฐกถา ปาฏิหาริย์...ท่องเที่ยวไทย ! กับนายกฯอภิสิทธิ์ ที่ 8 สมาคมท่องเที่ยว ในนามสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟตต้า) จัดขึ้น โดยระบุว่า ได้มอบนโยบายให้ฝ่ายปฏิบัติ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เร่งหากลยุทธ์กระตุ้นตลาด ต้อนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยให้ได้มากที่สุด ช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ พร้อมเดินหน้าทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวแบบเฉพาะแต่ละตลาด โดยรัฐบาลเจียดเงินกู้จากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 วงเงิน 2,459 ล้านบาท มาให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไว้ใช้สรรหาโครงการ เพื่อขยับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยให้ได้ถึง 14 ล้านคน ตามความฝันที่ ททท. วาดไว้

ก่อนหน้านี้ นายกฯมาร์ค ผุดสารพัดมาตรการ สนับสนุนภาคท่องเที่ยว ที่เห็นเด่นชัด เช่น สนับสนุนสถาบันการเงินของรัฐปล่อยเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินักท่องเที่ยวหดไปได้ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจโรงแรม, ออกมาตรการสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวในประเทศ เช่น รณรงค์ให้หน่วยงานรัฐจัดประชุม สัมมนาในประเทศ งดดูงานต่างประเทศ จูงใจบริษัทเอกชนจัดประชุม สัมมนาในประเทศ นำค่าใช้จ่ายการจัดหักภาษีได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง, สนับสนุนคนต่างชาติเที่ยวไทย โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) เข้าไทย ลดค่าธรรมเนียมการนำเครื่องบินลงจอด และประกันภัยให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเที่ยวไทย กรณีเกิดเหตุจลาจล เป็นต้น

ทว่ามาตรการบางอย่าง ยังไม่ได้ผลนักในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้บรรดาผู้ประกอบการ พร้อมใจกันออกมาร้องขอความเห็นใจให้ภาครัฐเร่งรัดการปล่อยเงินกู้ในช่วงที่ผ่านมา และในที่สุดเสียงเรียกร้องที่ดังก้องครั้งนี้ ก็เข้าหูซ้ายไม่ทะลุหูขวาของ นายกฯรัฐมนตรี เสียที จึงได้ปรับปรุงโครงการ เพื่อให้การปล่อยกู้ถึงมือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเร็วขึ้น โดยเพิ่มทางเลือกสถาบันการเงินภาครัฐที่ปล่อยกู้ จากเดิมมอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดูแลแห่งเดียว เป็นให้ธนาคารออมสิน มีส่วนด้วย

ขณะที่การกระตุ้นคนไทยและคนต่างชาติเที่ยวไทย ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะฝ่ายปฏิบัติไม่สนองนโยบายเ แนวทางการทำตลาดยังไม่โดนใจพอ และสถานการณ์แวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น การเมืองในประเทศไม่นิ่งสนิท เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่เต็มที่ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาด ทำให้คนไทยและคนทั่วโลกชะลอเที่ยวไทย เปลี่ยนใจเที่ยวประเทศอื่นแทน

เมื่อผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ออกมาแสดงท่าทีเดินเกมกระตุ้นภาคท่องเที่ยวเช่นนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลภาคปฏิบัติอย่าง ชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ต้องออกมาแสดงท่าทีว่า จะทำเช่นไร ให้ได้ตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีย้ำ ซึ่งเจ้ากระทรวงท่านนี้ เอ่ยปากมาแล้วว่า อย่าว่าแต่ดึงชาวต่างชาติ 14 ล้านคน เพราะถ้ามีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวดี ๆ ออกมา เชื่อว่าให้ดึงชาวต่างชาติเที่ยวไทย 14.6 ล้านคน เท่าปี 51 ก็ทำได้ ทว่าคำพูดเหล่านี้เป็นเพียงแค่ลมปากไพเราะเสนาะหูเท่านั้นหรือไม่ เพราะแค่ดึงชาวต่างชาติถึง 14 ล้านคน เข้ามาเที่ยวไทย ในภาวะที่บ้านเมืองยังมีเมฆหมอกปกคลุม สางปัญหาความขัดแย้งในประเทศไม่จบสิ้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากแล้ว ยิ่งถ้า ททท. ซึ่งมีหน้าที่ทำตลาด ยังไม่มีโครงการเด็ดโดนใจกระตุ้นตลาดปลายปีให้เห็น ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 14 ล้านคน สำหรับปี 52 คงเห็นได้แค่ในฝันเท่านั้น

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการ ททท. แสดงความเห็นว่า อยากให้เน้นเรื่องคุณภาพนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากกว่าปริมาณ โดย ควรแบ่งงบส่วนหนึ่งทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ที่ใกล้เข้ามาทุกที อีกส่วนนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพราะไทยคงขายของเก่า โดยไม่จัดระเบียบ ขาดการดูแลไม่ได้แล้ว หากยังเดินหน้าขายแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรมทุกวัน ไร้การดูแล อนาคตการท่องเที่ยวก็มีแต่ดับวูบลง

แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายว่า ต้องการกวักมือเรียกนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาให้ได้มากที่สุด ททท. ก็ต้องขานรับ โดยจะเน้นจับมือกับภาคเอกชนเดินเกมรุกด้วยกันมากขึ้น ล่าสุด ได้นำความเห็นของเอกชนที่เสนอให้ทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ในขบวนรถไฟที่ญี่ปุ่น เพื่อเจาะตลาดคนญี่ปุ่น ให้ จุฑาพร เริงรณอาษา รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. ไปพิจารณาต่อ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ยืดระยะเวลาให้วีซ่า ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ให้อยู่ในไทยได้นานถึง 90 วัน เพื่อเพิ่มโอกาสการใช้จ่ายในไทย และเดินหน้าจัดโครงการทดสอบเส้นทางท่องเที่ยว (แฟมทริป) สำหรับกลุ่มเป้าหมายแต่ละตลาดแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน จะเป็นเรื่องจริงได้ หรือเป็นเพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ก็ขึ้นกับว่า ปัจจัยด้าน การเงิน-การบิ-การเมือง หลังจากนี้จะเป็นเช่นไร ถ้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีปัญหา ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยด้านการเงิน ต้องลุ้นว่า ผู้ประกอบการจะหาเงินต่อลมหายใจไปได้ถึงช่วงไฮซีซั่นหรือไม่ และการต่อลมหายใจครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการลดคุณภาพการบริการ กระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยวหรือไม่ ส่วนการบิน ได้รับทราบว่า เที่ยวบินช่วงที่เหลือของปีนี้ ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนกว่า 10% เท่ากับว่าโอกาสขนคนต่างชาติเที่ยวไทยก็น้อยลง ดังนั้นต้องเร่งดึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามเขตชายแดนทางบกมาเสริม ส่วนการเมือง มองว่า เริ่มมีทิศทางดีขึ้น เพราะทุกฝ่ายลดการเผชิญหน้า

ด้าน เจริญ วังอนานนท์ โฆษกเฟตต้า ระบุว่า ยังนึกไม่ออกว่า จะหาหนทางใดที่ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ถึง 14 ล้านคน เพราะถ้าให้ภาคเอกชนประเมิน ก็มองว่า หากปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ 12 ล้านคน ก็ถือว่าไทยฝีมือดีมากแล้ว แต่ยอมรับว่าหลังรับฟังความในใจของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อภาคท่องเที่ยว ก็มั่นใจมากขึ้นว่า ภาครัฐน่าจะมีโครงการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวปลายปีให้ดีขึ้น

ฟังเสียงเอกชนแล้ว ดูจะไม่หวังลม ๆ แล้ง ๆ กับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 14 ล้านคนนัก แม้นายกรัฐมนตรีจะให้กำลังใจว่าพอเป็นไปได้ก็ตาม งานนี้จึงเป็นภารกิจของ ททท. ที่ต้องไปคิดว่า จะทำเช่นไรให้ได้ตามนโยบาย ซึ่งคงไม่ใช่แค่โครงการประชาสัมพันธ์แบบผ่านมาผ่านไป มิเช่นนั้นเสียงพร่ำบ่นจากเอกชนก็จะวนเวียนให้ ททท. ได้ฟังอีกเหมือนเคย โดยต้องเป็นโครงการที่นำตัวชาวต่างชาติมาเที่ยวไทยได้จริง อาจสนับสนุนงบประมาณทำแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาพิเศษก็ได้ เรื่องแบบนี้ หน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านทำตลาด อย่าง ททท. คงต้องคิดไวทำไว เพราะเหลือแค่ 4 เดือนเท่านั้น ให้ ททท. กระตุ้นตลาด ไม่ใช่คิดวันนี้ เริ่มทำอีกทีปีถัดไป คงไม่ทันกิน ส่วนภาคเอกชน คงต้องดิ้นรนขนกลยุทธ์ดันตลาดสุดแรงเกิดด้วยตัวเองเช่นกัน เพราะหากรอหวังพึ่งพิงแต่ภาครัฐ ไม่ต่อสู้ด้วยตัวเองเลย เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 14 ล้านคน คงเป็นแค่ตัวเลขที่ตั้งอยู่บนหิ้ง ให้เคารพบูชาเท่านั้น.

จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook