10 ปี ปปง. ยึดอายัดทรัพย์กว่า4พันล. บังคับ 9 อาชีพ 31,500 บริษัท รายงานธุรกรรมการเงิน 19 พ.ย.

10 ปี ปปง. ยึดอายัดทรัพย์กว่า4พันล. บังคับ 9 อาชีพ 31,500 บริษัท รายงานธุรกรรมการเงิน 19 พ.ย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เลขาธิการปปง. พ.ต.อ.สีหนาท แจงความคืบหน้ากฎหมายปปง.ฉบับ 3 บังคับ 31,500 บริษัทใน 9 อาชีพ โดยเฉพาะผู้ประกอบค้าของเก่าซึ่งมีมากสุดถึง 25,816 ราย ต้องรายงานธุรกรรมการใช้เงินสดหากเกินกำหนดกฎกระทรวง เตรียมสร้างความชัดเจนหารือตัวแทน 9 อาชีพ รับมือก่อนบังคับใช้ 19 พ.ย. ยอมรับกระทบลูกค้าแน่นอนแต่จะให้น้อยที่สุด เผยผลงานปปง. 10 ปียึดทรัพย์แล้วกว่า 4,133 ล้านบาท ร่วม 700 คดี

หลังกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ฉบับแก้ไข ( ฉบับที่ 3 ) ได้ลงในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2552 และมีผลบังคับใช้ 19 พ.ย. 2552 ได้ส่งผลให้อาชีพเพิ่มเติม 9 อาชีพ โดยรวมกว่า 31,487 บริษัท(ราย ) ต้องมีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานปปง. ในกรณีที่เป็นธุรกรรมใช้เงินสดมีจำนวนเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย

ต่อเรื่องนี้ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานปปง. ได้เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าถือเป็นนโยบายงานหลักในปีนี้ ที่ปปง.ต้องเน้นทำความเข้าใจประชาชนเป็นกรณีพิเศษ และให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการมากขึ้น กรณีที่ลูกค้ามาทำธุรกรรมกับผู้ประกอบการทั้ง 9 อาชีพ เพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ให้อาชีพเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน แต่ยอมรับว่าผลของการบังคับใช้กฎหมายอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้า แต่ปปง.จะพยายามให้กระทบน้อยสุด

ผู้ประกอบการอาจต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบว่า ทางร้านต้องรายงานธุรกรรมลูกค้าที่เป็นเงินสดตามกฎหมาย แต่ไม่ถึงกับต้องเข้มงวดให้ลูกค้าต้องมากรอกแบบฟอร์ม เพราะจุดประสงค์ข้อกฎหมายครอบคลุม 9 อาชีพนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน ทั้งยังเป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายสากลที่เรียกว่า KYC /CDD ( Known Your Customer /Customer Due Deligence ) ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพต้องมีหน้าที่ทำความรู้จักลูกค้า และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า หรือตรวจสอบเหตุอันควรสงสัย การใช้เงินสดเกินจำนวนที่กำหนด แล้วรายงานมายังสำนักงาน ปปง. และโดยเฉพาะในบทมาตรา 20/1 ที่ระบุว่า

สถาบันการเงินและผู้ประกอบการทั้ง 9 อาชีพ ต้องกำหนดนโยบายการรับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวกับการฟอกเงินของลูกค้าและต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าเมื่อเริ่มทำธุรกรรมครั้งแรกโดยต้องตรวจสอบเป็นระยะจนสิ้นสุดดำเนินการเมื่อมีการปิดบัญชีหรือยุติความสัมพันธ์ลูกค้า ....

และหากไม่ปฏิบัติหรือผู้ประกอบการเพิกเฉยไม่รายงาน จะมีโทษปรับตามมาตรา 62 วงเงินปรับ 500,000 บาท และโทษปรับรายวันวันละ 5,000 บาท ต่อเรื่องต่อครั้ง (ต่อการเทรดลูกค้า )

9 อาชีพที่อยู่ในข่าย ได้แก่ 1.ที่ปรึกษาการเงิน -การลงทุน ปัจจุบันมีประมาณ 281 แห่ง 2. ธุรกิจค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับ รวมประมาณ 5,300 แห่ง 3. อาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ กว่า 33 ราย 4. นายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 163 แห่ง 5. ค้าของเก่า รวมกว่า 25,816 แห่ง 6. สินเชื่อบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์ ) 27 แห่ง ,7. ธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่มิใช่สถาบันการเงิน จำนวน 14 แห่ง 8. บัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์ ) 12 แห่ง และ 9.บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกจำนวน 93 แห่ง ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องใน 9 อาชีพ 31,487 แห่ง)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าว ยังไม่ได้กำหนดเพดานเงินสดในการทำธุรกรรมของลูกค้าในแต่ละอาชีพ ที่จะต้องรายงานปปง. โดยเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า คงต้องหารือในรายละเอียดเพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้งกับตัวแทนกลุ่มอาชีพดังกล่าว

เท่าที่เคยคุยกันว่าอยู่ที่ 1 -2 ล้านบาท แต่วงเงินที่แน่นอนยังไม่กำหนดตายตัว เพราะมีเสียงประชาชนเข้ามาว่าสูงไป และยิ่งตาข่ายที่ใหญ่ สัมฤทธิผลอาจไม่เกิด ขณะที่ผู้ประกอบการกลับอยากให้เป็นวงเงินสูง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสะดวกลูกค้า ซึ่งคงต้องหาจุดกลางที่เหมาะสม แต่หากเปรียบเทียบต่างประเทศ เช่นอาชีพค้าทองคำ ออสเตรเลียกำหนดวงเงินแค่ 10,000-20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือระดับไม่กี่แสนบาทต้องรายงานมายังปปง.

สำนักงานปปง. ยังได้เตรียมความพร้อม ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้เชิญสถาบันการเงินและสมาคมตัวแทนผู้เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มนอนแบงก์ ร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทาง และจะมีการประชุมหลังจากนี้อย่างต่อเนื่อง

เลขาธิการปปง. กล่าวยอมรับอีกว่า ปัญหาการเว้นว่างของกรรมการปปง.นานปีกว่า ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศในการทำงานบางด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการยึดทรัพย์สินเกี่ยวกับแพ่ง

ผมยอมรับช่วงเว้นว่างปีกว่าก็มีผล โดยเฉพาะทรัพย์ที่ไม่สามารถยึดได้ ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ก็มีหลายคดีที่หน่วยงานหลัก จำต้องปล่อยทรัพย์ไปให้กับผู้ขอร้องคืน ซึ่งอาจทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหลายคดีร่ำร้องให้ปปง.เข้าไปทำเราก็อยากทำ แต่ด้วยกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้ปปง.ไม่อาจดำเนินการในหลายคดี

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 10 ปีของการก่อตั้งสำนักงานปปง. ตั้งแต่ 27 ตุลาคม 2543- 31 กรกฎาคม 2552 ปปง.ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์ใน 8 ความผิดมูลฐานจำนวน 700 คดี รวมทุนทรัพย์ที่ยึดอายัดทั้งสิ้น 4,133 ล้านบาท ในจำนวนความผิดมูลฐานยาเสพติดมีคดีสูงถึง 616 คดี รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึด 2,723 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook