สินเชื่อหดต่ำเป็นประวัติการณ์ 6 เดือนติดลบกว่า2.2 แสนล้าน''พิษศก.-แบงก์คุมความเสี่ยง''
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060

    สินเชื่อหดต่ำเป็นประวัติการณ์ 6 เดือนติดลบกว่า2.2 แสนล้าน''พิษศก.-แบงก์คุมความเสี่ยง''

    2009-08-20T09:45:38+07:00
    แชร์เรื่องนี้
    แบงก์ชาติส่งซิกสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ปี 2552 หดตัวแน่ นับเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หลังครึ่งแรกปี 52 เทียบสิ้นปี 2551 วงเงินสินเชื่อหายไปกว่า 2.2 แสนล้านบาท หดตัวกว่า 3.4% ลั่นจับตาปัจจัยการเมืองอาจฉุดความเชื่อภาคเอกชน กระทบความต้องการสินเชื่อระยะต่อไปทรุด

    ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อเฉลี่ยทั้งปี 2552 น่าจะหดตัว เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปี 2551 ที่ขยายตัว 11.4% หลังจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 สินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ชะลอตัว โดยขยายตัวเพียง 0.6% เมื่อเทียบจากเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือหดตัวถึง 3.4% เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2551 ซึ่งคิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่หายไปประมาณ 2.2 แสนล้านบาท จากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่สินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปียังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากสัญญาณเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนนัก และเนื่องจากฐานสินเชื่อปีก่อนหน้าที่ขยายค่อนข้างสูง จึงทำให้ฐานสินเชื่อเพิ่มในปีนี้ต่ำ แม้ว่าในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตร จะเริ่มมีความต้องการสินเชื่อ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนมากขึ้นนับจากช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งการหดตัวของสินเชื่อในปี 2552 ครั้งนี้นับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ผ่านมา

    ครึ่งหลังสินเชื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนน่าจะยังหดตัว แต่จะติดลบกระทั่งหรือกลับไปที่ 0% หรือขยายมากกว่า 0% ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถเข้ามาแข่งขันกันได้มากน้อยเพียงใด แต่จากสภาพคล่องที่มีอยู่จำนวนมากในขณะนี้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาแข่งขันปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และขณะนี้เริ่มเห็นการแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อยานยนต์มากขึ้น ดร.บัณฑิตกล่าว

    รองผู้ว่าการกล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณการแข่งขันในตลาดสินเชื่อมากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขาเดียวมากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันและระดมสภาพคล่อง เช่น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขาเดียว หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมขาเดียว รวมทั้งยังมีการออมผลิตภัณฑ์เงินฝากและเงินให้กู้ยืมออกมาแข่งขันกัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย และเช่าซื้อรถยนต์ และเห็นว่าความต้องการสินเชื่อเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง

    ขณะที่การอนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกของปี ฉะนั้นหากในครึ่งหลังเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเทียบจากครึ่งแรกของปี การขยายตัวของสินเชื่อในช่วงไตรมาส 3 และ 4 น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งแรกของปีที่หดตัวถึง 3.4% อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่มากนัก อาจทำให้ยังมีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ ฉะนั้นธนาคารพาณิชย์จึงอาจยังมีความระมัดระวังต่อการปล่อยสินเชื่ออยู่บ้าง ซึ่งก็จะเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อ นอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องติดตามปัจจัยด้านการเมืองอย่างใกล้ชิดว่า จะเข้ามาบั่นทอนความเชื่อมั่นภาคเอกชนให้ปรับลดลงหรือไม่ หลังจากที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นนับจากช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เพราะหากความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับลดลงอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อในระยะต่อไปได้

    ดร.บัณฑิตกล่าวอีกว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% / ปี นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก และอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้และระยะต่อไป และคาดว่าการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อในขณะนี้จะช่วยรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในระบบไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง เพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำยังมีความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการกระตุ้นความต้องการสินเชื่อ การช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ และการช่วยในการปรับตัวของผู้ประกอบการ อย่างการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนแผนการระดมทุนจำนวน 7 แสนล้านบาทของรัฐบาลนั้น เบื้องต้นไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบมากนัก และไม่น่าจะสร้างแรงกดดันต่อเม็ดเงินที่สถาบันการเงินจะให้การสนับสนุนสินเชื่อต่อภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาธปท.ได้พยายามดูแลสภาพคล่องในระบบให้มีอย่างเพียงพอ และได้มีการสร้างภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการสนับสนุนสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง

    ก่อนหน้านี้ นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสาเหตุที่สินเชื่อคงค้างสุทธิไม่เพิ่มก็เนื่องจากลูกค้าได้ชำระหนี้เงินกู้หมุนเวียน ( Capital Working )เป็นจำนวนมาก โดยไทยพาณิชย์ตั้งเป้าสินเชื่อโตในปีนี้ 3% และคาดว่าการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบจะกลับมาเป็นปกติในช่วงไตรมาส 3และ4 ปี 2553 เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ