TWZ ร่วมทุนดีลเลอร์เปิดแฟรนไชส์ ขนเฮาส์แบรนด์ชิงแชร์มือถืออินเตอร์

TWZ ร่วมทุนดีลเลอร์เปิดแฟรนไชส์ ขนเฮาส์แบรนด์ชิงแชร์มือถืออินเตอร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ทีดับบลิวแซด เร่งขยายช่องทางจัดจำหน่ายมือถือ เปิดแฟรนไชส์ TWZ ดีลเลอร์ ช้อป เปิดทางร่วมทุนกับดีลเลอร์หวังมัดใจพันธมิตร แจงมือถือเฮาส์แบรนด์มีส่วนแบ่งทางการตลาด 50% ส่งผลให้แบรนด์ต่างชาติขนกระเป๋ากลับบ้าน ส่วน ไอ-โมบาย ตั้งเป้ายอดขาย 2.7 ล้านเครื่องถึงสิ้นปี

นายพุทธชาติ รังคสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ เพื่อประกอบธุรกิจผู้แทนจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสาร โนเกีย,โซนี่ อีริคสัน,ซัมซุง และ TWZ เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า สำหรับแผนการทำตลาดในช่วงครึ่งปีสุดท้ายบริษัทจะเน้นการจัดจำหน่ายมือถือเฮาส์แบรนด์ภายใต้ยี่ห้อ TWZ เป็นปัจจัยหลัก โดยจะเร่งขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมมากขึ้นจากเดิมที่มีตัวแทนจำหน่ายอยู่ทั้งสิ้น 500 ราย และจะขยายเพิ่มเติมในรูปแบบแฟรนไชส์ภายใต้ TWZ Dealer Shop โดยจะร่วมลงทุนกับดีลเลอร์

เหตุผลที่บริษัทต้องร่วมลงทุนทำแฟรนไชส์กับตัวแทนจำหน่ายต้องการให้ตัวแทนจำหน่ายเกิดความมั่นใจระยะยาวและจัดจำหน่ายสินค้าของ TWZ เท่านั้น สำหรับการลงทุนแฟรนไชส์ใช้งบประมาณ 3-5 ล้านบาทโดยบริษัทร่วมลงทุนกับตัวแทนจำหน่ายในสัดส่วน 50:50

เราร่วมลงทุนเพราะต้องการผูกใจดีลเลอร์แต่จะเลือกลงทุนกับตัวแทนขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการบริหารจัดการสินค้า

อย่างไรก็ตามยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ TWZ จัดจำหน่ายเดือนละ 60,000-70,000 เครื่องจากตลาดรวมโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด 700,000-800,000 เครื่องต่อเดือนโดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 10% เหตุผลที่มือถือเฮาส์แบรนด์ได้รับความนิยมทั้งๆที่เปิดตัวได้ไม่นานและสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด โนเกีย และ ซัมซุง ส่งผลให้อัตราส่วนปรับตัวลดลงโดยเฮาส์แบรนด์มีส่วนแบ่งการตลาด 40-50%

วันนี้แทบไม่น่าเชื่อว่าเฮาส์แบรนด์มีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 50% ทำให้ฝรั่งกลับบ้านไปกว่าครึ่งแล้วโทรศัพท์แบรนด์เนมอยู่ในท้องตลาดมีไม่กี่ยี่ห้อแต่วันนี้เฮาส์แบรนด์มีหลากหลายยี่ห้อแต่แบรนด์ที่รู้จักและได้รับความนิยมคือแบรนด์ที่ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯอย่าง TWZ และ ไอ-โมบาย

นายพุทธชาติ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับช่วงครึ่งปีสุดท้ายบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ๆจะนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องและสินค้าที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้คือ มือถือ 2 ซิม และ มือถือ ดูทีวี เน้นเรื่องของฟังก์ชันเป็นจุดขาย อาทิเช่น วิดีโอ แชต และ เอ็มเอสเอ็น เป็นต้น ขณะที่บริษัทเตรียมแผนนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G เข้ามาจัดจำหน่าย ดังนั้นเมื่อระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G เกิดขึ้นเชื่อว่าเป็นการกระตุ้นตลาดเครื่องลูกข่าย (Handset) อีกทางหนึ่ง

ส่วนนายธนานันท์ วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า สำหรับแผนทำตลาดช่วงครึ่งปีหลังจะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายจำนวน 18 รุ่น เป็นระบบทัชสกรีน (แบบจอสัมผัส) ที่มีขนาดใหญ่สามารถดูทีวีได้ โดยรุ่นที่เปิดวางจำหน่ายไปแล้วนั้น คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่น I-mobile TV 550 จำหน่ายในราคา 3,000 บาท และ I-mobile TV 650 ราคา 5,000-6,000 บาท โดยสินค้ารุ่นนี้จุดเด่นคือกล้องมีความละเอียด 3 ล้านพิกเซลจอภาพเป็นผลิตภัณฑ์ของชาร์ป

ครึ่งปีหลังสินค้าของเราจะเน้นไปที่มือถือทัชสกรีนจอใหญ่ มีคีย์บอร์ด รองรับพุชอี-เมล์ ราคาเฉลี่ย 3 พันกว่าบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตามโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบทัชสกรีนเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับบนและล่างโดยสินค้าแต่ละรุ่นจะแตกต่างในเรื่องกล้องดิจิตอลความละเอียดตั้งแต่ 2-5 ล้านพิกเซล ส่วนคู่แข่งที่ออกสินค้ารุ่นใหม่เป็นทัชสกรีนบริษัทไม่มีความกังวล เนื่องจากว่าสินค้าของบริษัทเน้นเรื่องคุณภาพสินค้า โดยจะเลือกชิ้นส่วนที่มีคุณภาพ โดยจอภาพเลือกใช้ของ ไซโก ระบบเสียงโทรศัพท์จากยามาฮ่า กล้อง จากมาจากคาสิโอและฮิตาชิ

นายธนานันท์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับครึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดจำหน่ายรวม 1.2 ล้านเครื่อง หรือประมาณ 200,000 เครื่องต่อเดือน และคาดว่าในครึ่งปีหลังจะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านเครื่องคิดเป็นยอดรวมทั้งปี 2.7 ล้านเครื่อง โดยสินค้ารุ่นใหม่รองรับเทคโนโลยีระบบ 3G และ CDMA (Code division Multiple Access)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook