ครม.ผ่านแผนใช้เงินไทยเข้มแข็งลอตแรก2แสนล้าน

ครม.ผ่านแผนใช้เงินไทยเข้มแข็งลอตแรก2แสนล้าน

ครม.ผ่านแผนใช้เงินไทยเข้มแข็งลอตแรก2แสนล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครม.ไฟเขียวแผนใช้เงิน"ไทยเข้มแข็ง" วงเงิน 2 แสนล้านบาทลอตแรก คาดเริ่มเบิกจ่ายได้เดือนกันยายนนี้ จัดสรรงบปรับปรุงถนน โครงการถนนปลอดฝุ่น แหล่งน้ำ สถานีอนามัย-โรงพยาบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม มีมติอนุมัติการจัดสรรวงเงินกู้สำหรับโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 วงเงิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะจำแนกไปตามกระทรวงต่างๆ โดยคาดว่าเม็ดเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท จะเริ่มเบิกจ่ายได้ประมาณเดือนกันยายนนี้ และงบส่วนใหญ่จะมีการเบิกจ่ายในช่วงปีงบประมาณ 2553 พร้อมกันนั้น ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินระยะสั้นจากธนาคารพาณิชย์ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้เพื่อดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง พร้อมทั้งมีมติอนุมัติให้จัดสรรเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 วงเงิน 2 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะมีการจัดสรรเงินให้ทุกกระทรวง ในโครงการที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวางและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่ม มีโครงการที่สำคัญ เช่น การลงทุนปรับปรุงถนน โครงการถนนปลอดฝุ่น แหล่งน้ำ สถานีอนามัย และโรงพยาบาล

"ภายในต้นเดือนกันยายนนี้ นายอภิสิทธิ์จะเปิดตัวแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการดังกล่าวว่าจะมีผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไรบ้าง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค ขณะที่วงเงินกู้ที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวนั้น คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้ทันที โดยให้หน่วยงานต่างๆ ส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรงบต่อไป โดยคาดว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบได้ภายในปีงบประมาณ 2553 และส่วนที่เหลืออีกไม่มากน่าจะเบิกจ่ายได้หมดภายในช่วงวต้นปี 2554" นายกรณ์ กล่าว

พร้อมกันนั้น รัฐบาลจะเปิดตัวเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการและการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ขณะที่ข้อมูลที่บรรจุอยู่ในเว็บไซต์จะกำหนดรายละเอียดโครงการ การกำหนดราคากลางในแต่ละโครงการ พร้อมทั้งจะแยกการจัดสรรงบเป็นรายกระทรวงและรายจังหวัด รวมถึงมีข้อมูลว่าในแต่ละโครงการจะมีการจ้างงานจำนวนเท่าใด

ในส่วนของกระทรวงการคลังได้รับการจัดสรรงบภายใต้แผนปฏิบัติการจำนวน 1.45 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประจำปีงบประมาณ 2553 ซึ่งจะเพิ่มความเข้มแข็งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการเพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการทุกประเภท โดยในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ตนและนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะมีการแถลงยุทธศาสตร์ทิศทางและเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

นายกรณ์ ระบุว่า กระทรวงการคลังรายงานให้ ครม.รับทราบว่า เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจปรับตัวไปในทิศทางบวก ทำให้คาดว่าในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินกู้ใน พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่กันไว้กรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับนำมาปิดหีบงบประมาณปี 2552 วงเงิน 2 แสนล้านบาท อาจจะใช้ไม่ถึง ดังนั้นที่ประชุม ครม.จึงมีมติอนุมัติให้นำเงินกู้ที่กันไว้สำหรับปิดหีบงบประมาณวงเงิน 1 แสนล้านบาท มาลงทุนในโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง และให้กระทรวงเสนอโครงการมาให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการไทยเข้มแข็ง ก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป

ด้าน นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า โครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง วงเงิน 2 แสนล้านบาทแรกจะมีประมาณ 400 โครงการ แยกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตร กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มการศึกษา และกลุ่มสาธารณสุข ซึ่งหลังจากได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที เพื่อให้สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของส่วนราชการได้ภายในเดือนกันยายนนี้

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบแผนลงทุนโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ประเภทที่ 1 ภายใต้ระบบ e-Budgeting SP วงเงิน 1.06 ล้านล้านบาท โดยเป็นโครงการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระ 8.24 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่รัฐวิสาหกิจรับภาระการลงทุนเองจำนวน 2.39 แสนล้านบาท พร้อมกันนั้น ครม.อนุมัติกรอบการจัดสรรเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ โดยจัดสรรงบ 2 แสนล้านบาท ในส่วนโครงการที่รัฐบาลรับภาระ และอนุมัติให้นำเงินที่จะใช้สมบทเงินคงคลัง 1 แสนล้านบาท มาใช้สนับสนุนการลงทุนในโครงการตามแผนปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยให้กระทรวงการคลังกู้เงินระยะสั้น (ระยะเวลา 10 ปี) วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยและสถาบันการเงินภาครัฐ ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สำหรับเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจะกู้จากธนาคารพาณิชย์นั้น ถือเป็นเงินกู้ที่ไม่มีความเสี่ยง ดังนั้นขอให้กระทรวงการคลังไปเจรจากับธนาคารพาณิชย์และพิจารณาคัดเลือกธนาคารที่เสนอเงื่อนไขที่ดีสุด

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า สำหรับงบประมาณโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สำนักนายกฯ ได้รับการจัดสรรงบ 9,670 ล้านบาท กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบ 2,200 ล้านบาท กระทรวงการคลังได้รับการจัดสรรงบ 1.45 หมื่นล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้รับการจัดสรรงบ 890 ล้านบาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1,570 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4.8 หมื่นล้านบาท กระทรวงคมนาคม 3.99 หมื่นล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1.13 หมื่นล้านบาท กระทรวงไอซีที 200 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 7.9 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทย 6,420 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน 47.2 ล้านบาท กระทรวงวัฒนธรรม 40 ล้านบาท กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 4.53 หมื่นล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 1.15 หมื่นล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรม 185 ล้านบาท ส่วนราชการที่ไม่ได้สังกัดสำนักนายกฯ กระทรวงหรือทบวง 4,480 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 3,120 ล้านบาท และสภากาชาด 282 ล้านบาท

นายวัชระ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรก 16 โครงการ โดยพบว่าโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี หรือโครงการเรียนฟรี 15 ปี งบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินจริง 100% โครงการเช็คช่วยชาติ งบประมาณ 1.89 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินจริง 95.62% โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (เบี้ยกตัญญู) งบประมาณ 1.07 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินจริง 80% โครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) หรือจ่ายเบี้ย อสม.จำนวน 9.87 คน คนละ 600 บาทต่อเดือน มีการเบิกจ่ายเงินจริง 80%

โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจชั้นประทวน งบประมาณ 1,800 ล้านบาท มีการเบิกจ่าย 70% และรอจ่ายเงินจริงเมื่อตรวจรับอาคารที่พักอาศัย 99.65% โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน งบประมาณ 1.14 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินจริง 79.92% เป็นต้น

ส่วนโครงการที่มีการเบิกจ่ายเงินจริงไม่เกิน 50% มีหลายโครงการ เช่น โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ชุมชนพอเพียง) งบประมาณ 8,430 ล้านบาท มีการโอนเงินให้ชุมชนคิดเป็นงบประมาณ 39.77% โครงการก่อสร้างทางภายในหมู่บ้าน (โครงการถนนปลอดฝุ่น) งบประมาณ 1,500 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินจริง 38.92% โครงการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว งบประมาณ 1,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินจริง 18.92% โครงการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 500 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินจริง 14.48%

โครงการปรับปรุงสถานีอนามัยในชนบท งบประมาณ 1,090 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริง 12.44% และโครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ (ฟื้นฟูความเชื่อมั่นประเทศประเทศ) งบประมาณ 325 ล้านบาท แต่การดำเนินงานมีความคืบหน้า 2%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook