คำที่เขียนได้ทั้ง 2 อย่าง

คำที่เขียนได้ทั้ง 2 อย่าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ท่านผู้อ่านเคยสับสนกับการเขียนคำบางคำไหมคะ ท่านอาจไม่แน่ใจว่าคำ ๆ นั้นสะกดอย่างไร วันนี้จึงมีตัวอย่างคำบางคำที่สามารถเขียนได้ ๒ อย่างมาเสนอ

คำแรกคือคำว่า ดรรชนี กับ ดัชนี คำนี้เขียนได้ทั้ง ๒ อย่าง ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ คำว่า ดรรชนี ความหมายที่ ๑ หมายถึง นิ้วชี้, ราชาศัพท์ใช้ว่าพระดรรชนี, ดัชนี ก็ใช้. ความหมายที่ ๒ เป็นศัพท์ทางคณิตศาสตร์หมายถึง จำนวนที่เขียนไว้บนมุมขวาของอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ฐาน เพื่อแสดงการยกกำลังของฐานนั้น เช่น ๓๒ ๒ เป็นดรรชนีของ ๓; ตัวเลขอัตราส่วนซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ดรรชนีค่าครองชีพ; ดัชนีก็ใช้ ความหมายที่ ๓ หมายถึง บัญชีคำเรียงามลำดับอักษรที่พิมพ์ไว้ส่วนท้ายของหนังสือเล่ม รวบรวมคำสำคัญ ๆ ซึ่งมีกล่าวถึงในหนังสือเล่มนั้น โดยบอกเลขหน้าที่มีคำนั้น ๆ ปรากฏอยู่เพื่อสะดวกแก่การค้น, ดัชนี ก็ใช้ ส่วนคำ ทรรศนะ กับ ทัศนะ ทั้ง ๒ คำนี้ก็สามารถใช้แทนกันได้ ทรรศนะ หมายถึง ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทัศนะ ก็ใช้ ส่วนคำที่มักมีการใช้กันเป็นประจำ คือ ปรกติ กับ ปกติ ทั้ง ๒ คำนี้ใช้แทนกันได้ ปรกติ หมายถึง ธรรมดา เช่น ตามปรกติ, เป็นไปตามเคย เช่น เหตุการณ์ปรกติ, ไม่แปลกไปจากธรรมดา เช่น อาการปรกติ, ปกติ ก็ว่า

แต่ก็มีคำบางคำที่มักสะกดผิด เพราะเข้าใจกันว่าเขียนได้ทั้ง ๒ อย่าง เช่น คำว่า บรรจง มักเขียนผิดเป็น บันจง คำว่า บรจง ถ้าเป็นคำกริยาหมายถึง ตั้งใจทำ เช่น บรรจงเขียน, ทำโดยระมัดระวัง เช่น มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง หากเป็นคำวิเศษณ์หมายถึงอย่างประณีต เช่น เขียนอย่างบรรจง, ตัวบรรจง และคำว่า บรรเจิด มักเขียนผิดเป็น บันเจิด คำว่า บรรเจิด เป็นคำกริยาหมายถึง เชิดสูงขึ้น, สูงเด่น, เฉิดฉาย แต่หากเป็นคำวิเศษณ์หมายถึง งาม ท่านที่สับสนกับการสะกดคำอื่น ๆ ก็สามารถตรวจสอบได้จากพจนานุกรม หรือหนังสืออ่านอย่างไรเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้.

อิสริยา เลาหตีรานนท์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook