''เรืองไกร'' ป้อนข้อมูลกกต. ฟัน''อภิสิทธิ์''ล้วงลูกตำรวจ

''เรืองไกร'' ป้อนข้อมูลกกต. ฟัน''อภิสิทธิ์''ล้วงลูกตำรวจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ส.ว. จอมแฉ ส่งข้อมูลเพิ่มให้ กกต. ข้อหาอภิสิทธิ์อาจล้วงลูกแต่งตั้ง ในสนง.ตำรวจแห่งชาติ ขณะที่ กมธ. ยุติธรรม ส.ว. เตรียมสอบนายกฯตามข้อกล่าวหาแทรกแซงกิจการตำรวจ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ตามที่เคยยื่นให้กกต.ตรวจสอบไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อให้การตรวจสอบตามคำร้องมีข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มขึ้น คือ ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 บัญญัติอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีให้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ( ก.ต.ช.) และประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยตำแหน่ง ซึ่งทั้ง 2 ส่วนมีรูปแบบการทำงานในลักษณะคณะกรรมการ

ดังนั้นทั้ง ก.ต.ช. และ ก.ตร. จึงมีสถานภาพเป็นคณะบุคคล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง โดยมีการใช้อำนาจหน้าที่ในรูปของคณะกรรมการ หาใช่เป็นการใช้อำนาจในฐานะของกรรมการแต่ละคน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 แล้วเห็นว่า การใช้อำนาจหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยคณะบุคคลที่ประกอบกันขึ้นเป็นคณะกรรมการ กรรมการแต่ละคนไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นของคณะกรรมการได้ด้วยตนเองโดยลำพัง แม้ว่าคณะกรรมการนั้นจะอยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม

เจ้าของฉายา ส.ว.จอมแฉ กล่าวว่า จากการพิจารณาขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช. หรือ ก.ตร. ตามที่กำหนดไว้ ประกอบกับความหมายของคณะกรรมการในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เข้าใจว่า ก.ต.ช. หรือ ก.ตร. ย่อมต้องกระทำในนามคณะกรรมการเสมือนเป็นคณะบุคคล มิอาจไปกระทำการในฐานะกรรมการคนใดคนหนึ่งได้ ดังนั้นการที่นายกรัฐมนตรีได้มีพฤติการณ์อันอาจมีลักษณะก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ตามความในหนังสือร้องนั้น อาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 อันจะเป็นเหตุให้ต้องมีการพิจารณาว่าจะสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 182(7) หรือไม่

ในวันเดียวกัน พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมาธิการ

พิจารณาสอบสวนเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสภา (ส.ว.)เปิดเผยว่า ตามที่มีคำสั่งจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผบ.ตร.ลงไปปฏิบัติราชการใน 3 จังหวัดภาคใต้และภูเก็ต ทั้งที่เพิ่งจะเดินทางกลับจากต่างประเทศ

ในฐานะที่เป็นตำรวจเก่า ดูแล้วเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบมาพากล อาจจะมีอะไรแอบแฝง ซ่อนเร้น จึงส่งเรื่องให้กมธ.การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ตรวจสอบ ซึ่งนายสมัคร ชวภานันทน์ ส.ว.สรรหา ประธานกมธ.การยุติธรรมฯ รับเรื่องเตรียมเข้าตรวจสอบแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้รับเรื่องดังกล่าวเข้าตรวจสอบอีกทางหนึ่งในอนุกมธ.ชุดของตนเองด้วย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาตั้งเป็นกระทู้ถามนายกฯต่อไป โดยประเด็นที่ขอให้มีการตรวจสอบคือ การกระทำของนายกฯในฐานะประธาน ก.ต.ช. และประธาน ก.ตร. ว่ามีพฤติกรรมส่อไปในทางแทรกแซงกิจการภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook