สั่งชะลอ ! ขยาย 10 เลนถนนราชพฤกษ์

สั่งชะลอ ! ขยาย 10 เลนถนนราชพฤกษ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หลังจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดใช้ถนนราชพฤกษ์ได้เพียง 4 ปีเศษ ปรากฏว่า ปัจจุบันเริ่มมีปริมาณจราจรคับคั่ง โดยวัดเฉลี่ยได้ 3,900 คันต่อชั่วโมง ส่งผลให้ต้องมีการปรับแผนด้วยการ ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณวงเวียนถนนราชพฤกษ์-ถนนนครอินทร์ และก่อสร้างสะพาน /ทางคู่ขนานถนนราชพฤกษ์ หรือขยายเขตทางจาก 6ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจรตลอดแนว เป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 20 กิโลเมตร หรือเรียกชื่อโครงการที่เป็นทางการว่า โครงการก่อสร้างทางคู่ขนานถนนราชพฤกษ์ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่ศึกษาไว้ว่าจะต้องขยายเขตทางรองรับการขยายตัวของเมือง และปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นถึง 10 ช่องจราจร ในอีก 10 ข้างหน้า นับจากเปิดใช้เส้นทาง

อย่างไรก็ดี โครงการนี้ กรมทางหลวงชนบท ได้พิจารณาแบ่งระยะเวลาดำเนินโครงการเป็น 3 ระยะ แต่เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด รัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงพิจารณา ตัดงบประมาณ ปี 2553 ตามที่เสนอขอวงเงิน 550 ล้านบาท สำหรับโครงการระยะที่ 2 ออกไป และโยกไปใช้สำหรับโครงการอื่นที่จำเป็นเร่งด่วนกว่า และเข้าใจว่าจะต้องตั้งต้นเสนอของบประมาณใหม่ในปีงบประมาณ 2554 และแน่นอนว่า โครงการระยะที่ 3 วงเงินกว่า 500 ล้านบาท จะต้องชะลอออกไป ในปีงบประมาณ 2555 จากแผนเดิมที่จะต้องดำเนินการในปีงบประมาณ 2554 และให้คงดำเนินการเฉพาะโครงการระยะที่ 1 ก่อน เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่สำคัญได้ มีการดำเนินการไปมากแล้ว

ทั้งนี้ผลการประกวดราคาปรากฏว่า บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะประมูล วงเงิน 255,516,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามคลองบางกอกน้อย จังหวัดนนทบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 17+240 ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งเป็นช่วงติดกับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณวงเวียนถนนราชพฤกษ์ -ถนนนครอินทร์ ระยะทาง 1 กิโลเมตรเศษ วงเงิน 760 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท สามประสิทธิ์ก่อสร้าง จำกัด โดยทั้งสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย และอุโมงค์ราชพฤกษ์ กรมทางหลวงชนบท กำหนดให้เป็นโครงการเดียวกันคือระยะที่ 1 เพียงแต่แยกย่อย ออกเป็นสองสัญญา

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางคู่ขนานถนนราชพฤกษ์ หรือโครงการขยายถนนราชพฤกษ์ขนาด 10 ช่องจราจร หรือ 60 เมตร ระยะ ที่ 2 และระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการแนวราบระดับพื้นดิน วงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท ที่ถูกชะลอโครงการออกไปจากปลายปีนี้เป็น อีก 2-3 ปีข้างหน้า ได้แก่ระยะที่ 2 แนวสายทาง เริ่มจากบริเวณทิศใต้ของถนนราชพฤกษ์ หรือ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 วิ่งไปตามแนวของถนนราชพฤกษ์ ในลักษณะคู่ขนาน จนไปบรรจบกันที่บริเวณอุโมงค์ราชพฤกษ์ รวมระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร

ส่วนระยะที่ 3 เริ่มจากบริเวณอุโมงค์ด้านทิศเหนือของถนนราชพฤกษ์ ผ่านคลองบางกอกน้อย เป็นแนวตรงคู่ขนานไปกับถนนราชพฤกษ์ กระทั่งไปสิ้นสุดที่บริเวณจุดตัดระหว่างถนนรัตนาธิเบศร์และถนนราชพฤกษ์ รวมระยะทาง 7กิโลเมตร

หรือพื้นที่โครงการเริ่มจาก บริเวณกิโลเมตรที่ 15+660 ไปสิ้นสุดที่ กิโลเมตรที่ 17+800 ของถนนราชพฤกษ์ ซึ่งตลอดแนว จะไม่มีผลกระทบต่อการเวนคืนแต่อย่างใด เนื่องจากกรมทางหลวงชนบท ได้ กันเขตทางรองรับอนาคตไว้แล้วขณะเดียวกัน สภาพการใช้พื้นที่ตอลดสองข้างทางจะมีหมู่บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์สลับกับบ้านพักอาศัยสวนผลไม้และที่ว่าง

ส่วนราคาประเมินที่ดิน นายแคล้ว ทองสม ผู้อำนวยการสำนักประเมินค่าทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ระบุว่า ปัจจุบันราคาที่ดินบริเวณถนนราชพฤกษ์ อยู่ที่ 70,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งอยู่บริเวณฝั่งนนทบุรี หรือ บริเวณช่วงที่ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ไปแล้ว เนื่องจากผังเมืองรวมกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเหลือง สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้มาก และ หากบริเวณไหนพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์ ราคาประเมินจะอยู่ที่ 100,000 บาทต่อตารางวา ขณะที่ถนนราชพฤกษ์ฝั่งกรุงเทพมหานคร บริเวณจุดตัดถนนเพชรเกษม ราคาอยู่ที่ 45,000 บาท ซึ่งถือว่าต่ำเนื่องจากพัฒนาได้น้อยเพราะ ถูกล็อกด้วยผังเมืองรวมกทม. ที่กำหนดให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียวทแยงขวาหรือ ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม พัฒนาบ้านเดี่ยว ตั้งแต่ 100 ตารางวาขึ้นไป ส่วนกรณีที่มีการขยายเขตทางแล้วราคาประเมินหรือราคาซื้อ-ขายจะขยับหรือไม่ นายแคล้วให้ความเห็นว่าไม่น่ามีผลอะไร เพราะ ที่ผ่านมา มีการเปิดหน้าดินไปแล้ว และข้อสำคัญอยู่ที่ข้อบังคับของผังเมืองรวม

เอาเป็นว่าหากช่วงนี้ถนนราชพฤกษ์ คับคั่งไปด้วยปริมาณจราจร ก็อดทนไปก่อน เพราะถึงอย่างไร อุโมงค์กับสะพานสร้างแน่ แต่ถนนขนาด บิ๊กไซซ์ 10 ช่องจราจร รอไปก่อน อีก 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด !!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook