พม่าเนรเทศมะกันคดีซูจีกลับบ้าน

พม่าเนรเทศมะกันคดีซูจีกลับบ้าน

พม่าเนรเทศมะกันคดีซูจีกลับบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายจอห์น ยิตตอว์ ชาวอเมริกัน จำเลยร่วมในคดีละเมิดคำสั่งกักบริเวณกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ถูกส่งตัวขึ้นเครื่องบินทหาร เดินทางออกจากพม่าแล้ว หลังจากรัฐบาลทหารพม่าตัดสินใจปล่อยตัว แม้จะถูกศาลตัดสินให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 7 ปี

เจ้าหน้าที่พม่าเผยว่า เครื่องบินทหารที่มีนายยิตตอว์วัย 53 ปี และวุฒิสมาชิกจิม เว็บบ์ ของสหรัฐ เดินทางออกจากสนามบินกรุงย่างกุ้งเมื่อวันอาทิตย์ หลังจากนายยิตตอว์ถูกนำตัวออกจากเรือนจำอินเส่ง ทางเหนือของกรุงย่างกุ้งมายังสนามบินดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้นายยิตตอว์ซึ่งถูกศาลพม่าตัดสินให้ลงโทษจำคุกและใช้แรงงาน หนักเป็นเวลา 7 ปี ได้ถูกลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 3 ปีครึ่ง แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้

ส่วนเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาในกรุงย่างกุ้ง เผยว่า นายยิตตอว์ ชาวเมืองฟัลคอน รัฐมิสซูรี พร้อมด้วยนายจิม เว็บบ์ ส.ว.พรรคเดโมแครตจากรัฐเวอร์จิเนีย เดินทางโดยเครื่องบินทหาร จากกรุงย่างกุ้งมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ หลังการเจรจา ระหว่างนายเว็บบ์และรัฐบาลทหารพม่า จนกระทั่งทางการพม่ายอมปล่อยตัวนายยิตตอว์เมื่อวันเสาร์

ก่อนการเดินทางออกจากพม่า นายเว็บบ์ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่สนามบินกรุงย่างกุ้ง ชั่วระยะเวลาสั้น ๆ โดยได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลพม่าที่ปล่อยตัวนายยิตตอว์ ซึ่งถูกศาลพิเศษพม่าในเรือนจำอินเส่ง ตัดสินให้ลงโทษจำคุก 7 ปี จากความผิดฐานละเมิดคำสั่งกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ภายในบ้านพักริมบึงใหญ่ในกรุงย่างกุ้ง จากการที่นายยิตตอว์ลักลอบว่ายน้ำข้ามบึง เข้าไปในบ้านพักของนางซูจี และพักค้างคืนอยู่ในบ้าน 2 วัน ก่อนจะถูกตำรวจพม่าจับกุมเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา

นายเว็บบ์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประธานา ธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ และกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกในรอบ 10 ปีของสหรัฐ ที่พบปะเจรจากับผู้นำรัฐบาลทหารพม่า กล่าวว่า แม้ตนจะประสบความสำเร็จในการเจรจาให้ปล่อยตัวนายยิตตอว์ได้ แต่รัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อเรียกร้องของเขา ที่ต้องการให้ปล่อยตัวนางซูจี ซึ่งศาลพม่าตัดสินให้ กักบริเวณเธอในบ้านพักกรุงย่างกุ้งต่อไปอีกเป็นเวลา 18 เดือน

นายเว็บบ์ ปัจจุบันเป็นประธานคณะอนุกรรมการวิเทศสัมพันธ์วุฒิสภาสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชีย ตะวันออกและแปซิฟิก เผยอีกว่า การที่ได้พบ ปะหารือกับบรรดานักการเมืองฝ่ายค้าน และตัวแทนชนกลุ่มน้อยของพม่า ทำให้มีความเข้าใจดีขึ้นในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่สหรัฐจำเป็นต้องจัดการแก้ไขในอนาคต

นักวิเคราะห์มองการเยือนพม่าของนายเว็บบ์ครั้งนี้ว่า อาจเป็นการแสดงให้เห็นถึงท่าทีที่อ่อนลง ของรัฐบาลสหรัฐต่อคณะรัฐบาลทหารของพม่า สอดคล้องกับแถลงการณ์ของทำเนียบข่าวก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับการทบทวนนโยบายของสหรัฐต่อพม่า เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำหนดมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อพม่า แต่นาง ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอโอกาสในการลงทุนในพม่า หากรัฐบาลพม่ายอมปล่อยตัวนางซูจี.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook