''เนวิน'' ลุ้นระทึกคดีกล้ายาง

''เนวิน'' ลุ้นระทึกคดีกล้ายาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อิสรภาพ...หรือ...นักโทษชาย

บ่ายวันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษา คดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพาราจำนวน 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาทของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การตัดสินคดีดังกล่าวนับเป็นคดีทุจริตคดีที่สองอันเนื่องมาจากการสอบสวนของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หลังจากก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษกมาแล้ว

สำหรับคดีทุจริตกล้ายางพารานี้ เดิม คตส. ได้ส่งสำนวนให้ อัยการสูงสุด ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาฯ แต่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนคดีไม่สมบูรณ์ จึงส่งสำนวนให้ คตส. สอบเพิ่มเติม แต่ คตส. เห็นว่าสำนวนครบถ้วนรัดกุมแล้วจึงมอบหมายให้ตัวแทนจาก สภาทนายความ เป็นผู้ยื่นฟ้องแทน โดยศาลฎีกาฯ ได้ประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 51 ที่ผ่านมา และถือเป็นคดีที่สามที่ คตส. ยื่นฟ้องเอง นอกจากนี้ยังมี คดีหวยบนดินและคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลพม่า

คำฟ้องของ คตส. กล่าวหา นักการเมืองกับพวกรวม 44 ราย อนุมัติโครงการและอนุมัติการใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่ชอบด้วย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534 และการขอรับการสนับสนุนจาก กองทุน ส่งเสริมการทำสวนยาง (สกย.) ใช้เงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง ไม่ชอบ ด้วย พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์ การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 มูลค่าของการอนุมัติให้ใช้เงินในโครงการนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับการผลิตพันธุ์ยางมีมูลค่า 1,440 ล้านบาท นอกจากนั้นยังตั้งข้อกล่าวหาคณะกรรมการประกวดราคาและบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐอีกด้วย

ก่อนจะถึงวันนี้มีกระแสข่าวลือ ต่าง ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นจำเลยคนสำคัญในคดีนี้ได้หอบกระเป๋าเดินทางกว่า 20 ใบหลบหนีออกนอกประเทศเช่นเดียวกับอดีตนายใหญ่ แต่ในเวลาต่อมา นายเนวิน ได้ออกมาปฏิเสธพร้อมยืนยันว่า วันที่ 17 ส.ค. จะไปฟังคำพิพากษาแน่นอน ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดหนี และไม่มีต่อรองให้พ้นคดี

คนชื่อเนวิน ขนาดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยังไม่หนี ดังนั้นคำพิพากษาของศาลจะออกมาอย่างไรผมก็พร้น้อมรับ เราเป็นคนไทย อยู่ประเทศไทย สัญชาติไทย เชื้อชาติไทย ก็ต้องเคารพกฎหมายไทย ไม่เหมือนคนที่ปากบอกว่า รักประเทศไทยแต่ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นคำพูดของนายเนวิน ที่ตั้งใจฝากไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ

หากต่อจิ๊กซอว์ทางการเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่ การแปรพักตร์ยอมสลัดทิ้งขั้วอำนาจเก่ามาตั้ง รัฐบาลร่วมกับ พรรคประชาธิปัตย์ การจัดตั้งกองกำลัง เสื้อน้ำเงิน ออกมาปกป้องสถาบันและไว้เป็นขุมกำลังต่อสู้กับ กลุ่มเสื้อแดง ล้วนมีเงาของนายเนวินอยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น รวมถึงการตั้งโต๊ะของ กระทรวงมหาดไทย ให้ประชาชนมาถอนชื่อหรือลงชื่อคัดค้าน การยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเจ้าตัวได้ออกมายืนยันอย่างไม่ปิดบังว่า ไม่ได้อยู่เบื้องหลังแต่อยู่เบื้องหน้าต่างหาก

หลายคนวิเคราะห์ว่า ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามวัดใจและขอความเห็นใจจาก ระบอบอำมาตย์ ที่กุมสภาพการเมืองในปัจจุบันทั้งสิ้น และจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้นายเนวินได้รับสัญญาณ บวก มาจาก องค์กรอิสระ แล้วหลายคดีด้วยกัน และในการไต่สวนพยานคดีกล้ายางนี้ นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการ คตส. ยังมาเป็นพยานให้กับนายเนวินจนสังคมตั้งคำถามอย่างมากมาย

ทั้งนี้ นายแก้วสรร เบิกความว่า เหตุผลที่พยานเป็นเสียงข้างน้อยในชั้นพิจารณารายงานสอบสวนอนุ คตส. เรื่องนี้ เพราะไม่เห็นหลักฐานที่ชี้ว่ามีการสมคบกันกับนายเนวินผู้ริเริ่มโครงการตั้งแต่แรก เช่นเดียวกับการกระทำของคณะกรรมการนโยบายและมาตร การช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่เห็นว่ายังไม่ใช่การทุจริต ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องการ ประมูลจัดซื้อจัดจ้างมีการทุจริตหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ คตส. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มีการสมยอมในการประกวดราคา โดยไม่ได้มีการแข่งขันกันเลย ซึ่งบุคคลที่มาร่วมก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน

ตัดกลับมาที่งานเลี้ยงสังสรรค์ของ พรรคภูมิใจไทย เมื่อค่ำคืนวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา นายเนวิน ตัวจริงเสียงจริงของพรรคสีน้ำเงินพูดทิ้งท้ายไว้ว่า อาจจะเป็นการขึ้นร้องเพลงครั้งสุดท้าย คำทำนายนี้จะเป็นจริงหรือไม่ คอการเมืองทั้งหลายอย่าได้กะพริบตา ยิ่งถ้านายเนวินไม่กลืนน้ำลายตัวเองเฉกเช่นที่ได้ประกาศไว้ และไม่ว่าศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร จะต้องโทษหรือพ้นข้อกล่าวหา แต่เชื่อว่าภายหลังพ้นมลทินเหล่านี้แล้ว เชื่อว่า บารมี ใางการเมืองของคน ชื่อเนวิน ชิดชอบ คงเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว.

ใครเป็นใครในคดีกล้ายาง

จำเลยคดีทุจริตกล้ายาง แยกเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้ 1.คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) รวม 15 คน อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายวราเทพ รัตนากร นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายอดิศัย โพธารามิก และ ข้าราชการระดับสูง อีกนับสิบคน ทั้งหมดถูกฟ้องกระทำผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 151 และ 157 ส่วนในรายของอดีต ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 ประกอบ ป.อาญา มาตรา 83

2.นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ถูกฟ้องกระทำผิดตาม ป.อาญา มาตรา 86, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานฯ มาตรา 11

3.คณะกรรมการบริหารโครงการ และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา รวม 8 คน ประกอบด้วย นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ถูกฟ้องกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 11, 12 และ ป.อาญา มาตรา 83, 157 และ 341

4.กลุ่มบริษัทเอกชน 3 แห่ง และ 5.กรรมการบริษัททั้ง 3 แห่ง ถูกฟ้องกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 4, 8-13 และ ป.อาญา มาตรา 86, 157 และ 341

6.นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ ยังถูกฟ้องกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10-12 และ ป.อาญา มาตรา 83, 84, 157 และ 341

7.นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ถูกฟ้องกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 10, 13 และ ป.อาญา มาตรา 83, 157 และ 341.

พริษฐ์ เอี่ยมพงษ์ไพบูลย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook