คุณแม่แจงชัดๆ 5 เหตุผลที่ไม่ควร "เรียนออนไลน์" วอนแชร์ให้ถึงกระทรวงศึกษาฯ

คุณแม่แจงชัดๆ 5 เหตุผลที่ไม่ควร "เรียนออนไลน์" วอนแชร์ให้ถึงกระทรวงศึกษาฯ

คุณแม่แจงชัดๆ 5 เหตุผลที่ไม่ควร "เรียนออนไลน์" วอนแชร์ให้ถึงกระทรวงศึกษาฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้นักเรียนเรียนผ่านระบบออนไลน์ในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยเมื่อวันที่ 13 พฤษาภาคม 2563 ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี รสนิสา บุญสุข ได้โพสต์แสดงความไม่เห็นกับนโยบายนี้ในฐานะผู้ปกครอง ซึ่งมีผู้แชร์ข้อความดังกล่าวไปแล้วกว่า 1.5 แสนครั้ง ดังนี้

เรียน ท่าน ผอ. ทุกโรงเรียน (ช่วยยื่นเรื่องความเดือดร้อนของผู้ปกครองแก่ #กระทรวงศึกษาธิการ แทนผู้ปกครองด้วยคะ )

ดิฉัน ในฐานะผู้ปกครองของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง มีความประสงค์ อยากให้ท่าน ผอ.ทุกโรงเรียน และ กระทรวงศึกษาธิการช่วยทบทวนเรื่องการสอน การเรียนออนไลน์ ใหม่ เนื่องจากดิฉันมองเห็นถึงความลำบากของพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านด้วยกัน ท่านเหล่านั้นได้มานั่งระบายปลดทุกข์ให้ดิฉันฟังหลากหลายเหตุผลที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา จึงขอยกตัวอย่าง ดังนี้

ข้อ 1 การที่จะมีการเรียนออนไลน์ได้นั้น เด็กนักเรียนจะต้องมีคอมพิวเตอร์ มีอินเตอร์เน็ต ซึ่ง ข้อนี้ ถือว่าสำคัญมาก หากไม่มีก็ไม่สามารถเรียนได้ นั้นหมายถึง บ้านไหนไม่มี 2 สิ่งนี้ ก็ต้องไปซื้อ เพื่อให้ลูกได้เรียน ซึ่งคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ 10-20 บาท นะคะ เครื่องนึงเหยียบหมื่นบาท

แต่ในทางกลับกัน ผู้ปกครองในเวลานี้ การงานแย่ ทำมาหากินตอนนี้ก็ลำบาก แล้วจะหาเงินจากที่ไหนมา ลำพังจะหามาซื้อข้าวกินในแต่ละวันยังลำบากเลย แล้วถ้าบ้านไหน มีลูก 2-3 คน ไม่ต้องซื้อ 2-3 เครื่องเลยเหรอคะ เพราะต้องเรียนออนไลน์เหมือนกันและเป็นเวลาเดียวกัน พ่อแม่บางคนไม่อยากให้ลูกต้องด้อยกว่าคนอื่นๆ ยอมไปกู้หนี้ยืมสิน ร้อยละ 20 ก็ยอม เพื่อเอามาซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูกหลาน เพื่อลูกหลานจะได้เรียนเหมือนคนอื่นๆ

ลำพังหาเงินมาจ่ายค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ต่างๆ ในเเต่ละเทอมก็แย่กันอยู่แล้ว นี้ยังต้องหาเงินมาผ่อนคอมพิวเตอร์ อีก แบบนี้ดีแล้วเหรอคะ สรุป แผนการณ์นี้ ใครได้ประโยชน์มากที่สุดคะ นักเรียนหรือผู้ปกครอง คำตอบ คือ ร้านขายคอมพิวเตอร์ กับ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตจ้า รวย ซึ่งรวยมากอยู่แล้ว และรวยขึ้นไปอีก

อีกแค่เดือนเดียว โรงเรียนก็จะเปิดแล้ว แต่ก็ยังต้องมาซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เรียนออนไลน์แค่ระยะ 1 เดือน เนี่ยนะคะ รบกวนทบทวนหน่อยค่ะ

ข้อ 2 การเรียนออนไลน์ หากไม่มีผู้ใหญ่คอยนั่งอยู่ใกล้ๆ คุณคิดว่า เด็กๆ จะไม่เปิดไปหน้าอื่นบ้างเหรอคะ เช่น youtube, เกม และอื่นๆ อีกมากมาย คุณคิดว่าเด็กๆ จะตั้งใจเรียนกันทุกคนเหรอคะ แล้วถ้าให้ผู้ปกครองคอยนั่งเฝ้าตลอดการเรียน แล้วผู้ปกครองจะเอาเวลาไหนไปทำงานหาเงินผ่อนคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งซื้อมาคะ คุณว่ามั้ย

ข้อ 3 ในเด็กเล็ก เช่น อนุบาล 1-3 สมควรแล้วเหรอค่ะ ที่จะให้เด็กนั่งเรียนตรงหน้าจอนานๆ มีแต่ส่งผลเสียทั้งทางด้านสายตา สมาธิ ที่เด็กเล็ก ยังมีไม่มากพอ ที่จะอดทนนั่งฟังจนจบ

ข้อ 4 ผู้ปกครอง จ่ายเงินค่าเทอม แต่ต้องมานั่งสอนลูกตัวเองทั้งหมด ประเด็นคือ แล้วผู้ปกครองจะจ่ายค่าเทอมให้ทางโรงเรียนทำไมคะ หากต้องมานั่งสอนลูกแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะสอนลูกเอง หรือเลี้ยงลูกเองไม่ได้ แต่เราจ่ายค่าเทอมให้โรงเรียนไปแล้วค่ะ เรียนออนไลน์ค่าเทอมก็ไม่ได้ปรับลดลงแม้แต่น้อย ยังคงจ่ายค่าเทอมเท่าเดิม

แล้วถ้ามีลูกหลายคนผู้ปกครองจะสอนทันมั้ยค่ะ ขณะที่กำลังเรียนออนไลน์พร้อมกัน (ข้อนี้หมายถึงเด็กเล็กค่ะ ที่ต้องคอยสอนกำกับตามหลังที่คุณครูสอน เพราะดิฉันมีลูกเล็ก เลยคิดว่าคงสอนคนเดียวไม่ทัน หากลูกเรียนพร้อมกัน)

ข้อ 5 ถ้าบ้านไหน ไม่ได้ให้ลูกเรียนออนไลน์ ด้วยเหตุผลจำเป็นของพวกเค้า คุณคิดว่า เด็กๆ จะอายเพื่อนมั้ย เมื่ออาย ผลต่อมาคือ เด็กไม่อยากไปโรงเรียนในวันข้างหน้า เก็บกด ต่างๆ นานา แล้วเด็กๆ ก็จะรบเร้าให้พ่อแม่ ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนพึงปรารถนาอยู่แล้ว ที่จะเอามาเรียน จะเอามาเล่นเกม จะเอามาดูหนัง คุณคิดว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่จะเอามาทำอะไรมากกว่ากัน

เมื่อเด็กๆ ได้คอมพิวเตอร์มา เด็กก็คือเด็กนั้นแหละค่ะ คงแยกแยะ เรื่องที่ควรทำ หรือ ไม่ควรทำ ได้ไม่มากพอ (พูดง่ายๆ ว่า ผู้ปกครองบางท่านโดนบุตรหลานหลอกให้ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ โดยเอาเรื่องเรียนออนไลน์ในครั้งนี้มาอ้าง) ในขณะที่พ่อแม่ไม่พร้อมทางด้านการเงินช่วงเศรษฐกิจแบบนี้เลย ก็ต้องหาวิธีต่างๆ นานา เพื่อไปซื้อมาให้ลูกให้ได้ ส่งผลกระทบตามมาเยอะแยะมากมาย ทั้งตัวเด็กนักเรียนและผู้ปกครองเอง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ดิฉัน ขอให้ท่าน ผอ. ทุกโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเรื่องนี้ด้วยค่ะ เพราะดิฉันคิดว่า มันส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองหลายด้าน และที่กล่าวมานี้เป็นแค่บางส่วนที่ยกตัวอย่างให้เข้าใจ ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ส่งผลกระทบ ว่าผู้ปกครองต้องรับศึกหนักแค่ไหนกับนโยบายการเรียนการสอนออนไลน์ที่พวกท่านได้จัดทำขึ้น ณ ตอนนี้

ขอความกรุณา #รบกวนอ่านให้จบทุกบรรทัด ก่อนเเสดงความคิดเห็นนะคะ จะได้เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการที่จะสื่ออะไรถึงใคร

ปล.หากผู้ปกครองท่านใดอ่านจบ และเห็นด้วย โปรดช่วยแชร์ ด้วยนะคะ เผื่อ ผอ. บางโรงเรียน และคณะกระทรวงศึกษาธิการ บางท่าน ได้อ่าน และเข้าใจถึงผลกระทบ ตรงนี้ #เพื่อจะได้ช่วยส่งเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการได้ทราบถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ #ดิฉันเป็นแค่ประชาชนตัวน้อยๆ คงไปไม่ถึงกระทรวงศึกษาธิการ ฝากท่าน ผอ. นำเรียน กระทรวงศึกษาธิการด้วยนะคะ”

(ข้อมูลที่บรรยายทั้งหมดนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับโรงเรียนที่อยู่ในตัวเมือง และเกิดขึ้นจริงกับโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง เพราะโรงเรียนเอกชน มีหลักสูตรการสอนแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน จึงได้มีการสอนผ่านระบบ zoom ไม่สามารถดูการสอนผ่านดาวเทียมได้ หากอยากทราบว่าจริงหรือเปล่าที่กล่าวไป ให้เดินดูตามร้านขายคอมพิวเตอร์ได้เลยค่ะ คนเยอะมากค่ะ )

สำหรับ “การเรียนการสอนออนไลน์” ผ่านระบบเทคโนโลยีทางการศึกษาทางไกล ในวันจันทร์ที่ 18 พ.ค. 2563 นี้ เป็นมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่ได้มีการจัดการ "เรียนออนไลน์" ทุกระดับชั้นในทั่วประเทศ

โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาหลากหลายหน่วยงาน ร่วมกันจัดทำการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านฟรีทีวี 17 ช่อง เพื่อให้นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัยผ่านทางช่องทีวีดิจิทัล และได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้มาช่วยสนับสนุนจัดการ “เรียนออนไลน์” ด้วยเช่นกัน โดยเผยแพร่สัญญาณผ่านดาวเทียมฯ (DLTV) ครอบคลุมระดับชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษา โดยการจะเรียนออนไลน์หรือไม่นั้น ต้องดูบริบทของแต่ละโรงเรียน

สำหรับโรงเรียนที่จำเป็นจะต้องใช้รูปแบบการ “เรียนออนไลน์” จริงๆ ก็จะต้องแนะนำเด็กๆ ให้เตรียมพร้อมและผู้ปกครองก็ควรติดตั้งแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ของการเรียนการสอนออนไลน์ในช่องทางต่างๆ ให้พร้อมเช่นกัน ซึ่งมีช่องทางการเรียนการสอนออนไลน์ 4 ช่องทาง ดังนี้

1. กล่องทีวีดิจิทัล (SAT TOP BOX)
หากบ้านไหนมีกล่องทีวีดิจิทัลอยู่แล้ว สามารถให้ลูกหลานเรียนผ่านหน้าจอทีวีได้ โดยทาง กสทช. กำลังทดลองทำการแพร่ภาพออกอากาศและจะพร้อมให้ใช้งานในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ส่วนการใช้งานก็ให้ทำการค้นหาช่องแบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ จะมีการทำระบบให้การเรียนการสอนออนไลน์อยู่ที่ช่อง 37-53 แบ่งเป็น
- ช่อง 37, 38, 39 เป็นการเรียนการสอนระดับอนุบาล 1-3
- ช่อง 40-45 เป็นการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6

- ช่อง 46-51 เป็นการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6
- ช่อง 52 เป็นการเรียนการสอนระดับ กศน.
- ช่อง 53 เป็นการเรียนการสอนระดับ อาชีวศึกษา

2. ทีวีดาวเทียมระบบ KU-Band (จานทึบ)
ถ้าเป็นระบบดาวเทียม ต้องรอให้กล่องสัญญาณดาวเทียมทำการ OTA กล่องก่อน ระหว่างวันที่ 16-18 พ.ค 2563 นี้ ก่อนการใช้งานสำหรับ “เรียนออนไลน์” แนะนำว่าให้ปิดสวิตช์ไฟพร้อมทั้งถอดปลั๊กไฟออกจากกล่องสัญญาณดาวเทียม แล้วเสียบปลั๊กไฟกล่องใหม่ เพื่อที่กล่องจะ Update (OTA) ช่องรายการใหม่เข้ามาโดยอัตโนมัติ

สำหรับระบบ KU-Band ก็คือใช้จานดาวเทียมสีส้ม (IPM), สีเหลือง (DTV), สีแดง (True) และการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมฯ DLTV ก็ใช้ดาวเทียมระบบ KU-Band เช่นกัน ระบบนี้จะส่งคลื่นความถี่กลับมายังโลกในช่วงความถี่ 10-12 GHz สัญญาณที่ส่งครอบคลุมพื้นที่ได้น้อย ความเข้มสัญญาณสูง ใช้จานขนาดเล็ก 35-75 ซม. ใช้กับการส่งสัญญาณภายในประเทศ เช่น เคเบิ้ลทีวีภายในประเทศ
สำหรับการเรียนทางไกลสามารถเปิดช่องทีวีเพื่อเรียนออนไลน์ได้ในช่อง 186-200 แบ่งเป็น
- ช่อง 195-197 (DLTV 10-12) เป็นการเรียนการสอนระดับอนุบาล 1-3
- ช่อง 186-191 (DLTV 1-6) เป็นการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6
- ช่อง 192-194 (DLTV 7-9) เป็นการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปีที่ 1-3
- ช่อง 198-200 (DLTV 13-15) เป็นการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีที่ 4-6

3. ทีวีดาวเทียมระบบ C-Band (จานตะแกรง/จานดำ)
สำหรับดาวเทียมระบบ C-Band ก็คือใช้จานรับสัญญาณเป็นแบบตะแกรงสีดำ โดยจะส่งคลื่นความถี่กลับมายังโลกในช่วงความถี่ 3.4-4.2 GHz แปลว่าส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ได้หลายประเทศ สัญญาณครอบคลุมพื้นที่กว้าง ความเข้มสัญญาณจะต่ำ ใช้จานขนาดใหญ่ 4 -10 ฟุต ภาพจึงจะชัด
สำหรับการเรียนทางไกลสามารถเปิดช่องทีวีเพื่อเรียนออนไลน์ได้ในช่อง 337-351 แบ่งเป็น
- ช่อง 337, 338, 339 เป็นการเรียนการสอนระดับอนุบาล 1-3
- ช่อง 340-345 เป็นการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6
- ช่อง 346-351 เป็นการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6

4. เรียนผ่าน Application
หากไม่มีทีวีดาวเทียม ไม่มีทีวีดิจิทัล นักเรียนสามารถ “เรียนออนไลน์” ได้ผ่านทาง Application DLTV แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีอินเทอร์เนตความเร็วสูง ติดตั้งเป็นเน็ตบ้านหรือใช้เน็ตที่ให้บริการสำหรับสมาร์ทโฟน/แท็ปเล็ต ก็ได้ ภายในแอพพลิเคชั่นสามารถใช้งานเมนูต่างๆ ได้ดังนี้
- ดูรายการสดแบ่งตามชั้นเรียน DLTV 1-15
- ตั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อรับชมรายการที่ต้องการได้
- แชท ไลค์ และแชร์ไปยังโซเซียลมีเดียได้
ส่วนระบบปฏิบัติการที่รองรับ Application DLTV ได้แก่
1. iOS (version 11.0 ขึ้นไป) ดาวน์โหลดได้ที่ App Store พิมพ์คำว่า DLTV
2. Android (version 4.0 ขึ้นไป) ดาวน์โหลดได้ที่ Google Play / Play Store พิมพ์คำว่า DLTV
สามาถเข้าไปดูวิธีการดาวน์โหลดและติดตั้งแอปฯ ได้ที่นี่ : https://www.dltv.ac.th/content/content-detail/10016/1001

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook