กกศ.ไฟเขียวปรับแผนการศึกษาแห่งชาติ

กกศ.ไฟเขียวปรับแผนการศึกษาแห่งชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2552-2559 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2545-2559 ที่ใช้มาแล้วครึ่งทางและยังเหลือระยะเวลาอีกกว่า 7 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550, พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับแก้ไข พ.ศ. 2545, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 นโยบายการศึกษาของรัฐ และทิศทางการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 ที่คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุงจะคงปรัชญาหลักเดิม คือ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, การบูรณาการศึกษากับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และเชื่อมโยงการพัฒนาการศึกษากับอื่น ๆ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายที่เพิ่มเติม ได้แก่ 1. มุ่งเน้นกาัฒนาคน ให้มีความภูมิใจในความเป็นไทย มีจิตสาธารณะ ศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย รังเกียจการทุจริต ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง 2. พัฒนาครูให้มีคุณภาพ คุณธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา 3.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 4.พัฒนามาตรฐานและระบบการประกันคุณภาพทั้งภายนอกและภายใน 5.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ 6. เตรียมประเทศไทยให้เดินหน้าไปสู่ความพร้อมในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเร่งรัดกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ และผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ที่เป็นมาตรฐานกลางของอาเซียนด้วย ทั้งนี้เพื่อให้แผนดังกล่าวในการปฏิบัติจะต้องมีการบูรณาการแผนใน 3 ระดับ คือ แผนการศึกษาระดับชาติ แผนการศึกษาระดับกลุ่มจังหวัด และแผนการศึกษาระดับจังหวัด ซึ่งตนจะนำร่างแผนกาศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุงเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ด้าน รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุงจะมีทั้งหมด 14 นโยบาย เพิ่มจากแผนเดิมที่มี 11 นโยบาย โดยมีกรอบการดำเนินงานในประเด็นต่าง ๆ ที่ปรับเพิ่ม อาทิ ประเด็นคุณภาพการศึกษา จะยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น ให้มีกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ คุณวุฒิวิชาชีพ และจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นต้น ประเด็นส่งเสริมการมีส่วนร่วม เช่น กำหนดเป้าหมายผู้เรียนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็น 65 ต่อ 35 ในปี 2559 เป็นต้น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook