กทม.เปิดโครงการ "กทม.ไร้พุง มุ่งสู้วัด 2009 นำร่อง 9 เขตชั้นใน

กทม.เปิดโครงการ "กทม.ไร้พุง มุ่งสู้วัด 2009 นำร่อง 9 เขตชั้นใน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับเครือข่ายคนไทยไร้พุง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดโครงการ "กทม.ไร้พุง มุ่งสู้หวัด 2009 นำร่อง 9 เขตชั้นใน กทม. วันนี้ (3 ส.ค.52) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีการจัดแถลงข่าวโครงการ "กทม.ไร้พุง มุ่งสู้หวัด 2009 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร เครือข่ายคนไทยไร้พุง และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดย พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสำรวจหลายสถาบันพบว่า ผู้ที่อยู่ในเขตชุมชนเมืองอย่าง กทม. มีปัญหาน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มากกว่าประชากรในต่างจังหวัด จากการเก็บข้อมูลพบว่ามี 2 กลุ่มอายุ ที่มีปัญหามากคือ 1.เด็กวัยเรียน มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น จากเดิม 3 ใน 100 คน เพิ่มเป็น 30 ใน 100 คน ขณะที่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า 2.กลุ่มคนสูงอายุที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มตามวัย ทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับความอ้วน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เพิ่มขึ้น ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาอ้วนและอ้วนลงพุงซึ่งเป็นภัยเงียบคุกคามสุขภาพของประชากร ข้อมูลทั่วโลกปรากฏชัดว่า ผู้มีน้ำหนักมากและเป็นโรคอ้วน คือกลุ่มเสี่ยงลำดับต้นๆ ที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 การดูแลสุขภาพ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกาย จึงเป็นยาวิเศษที่ทุกคนปฏิบัติได้ ขณะที่ ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา และจะดำเนินการต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน 2553 ใน 9 เขต อาทิ ปทุมวัน วัฒนา บางกอกน้อย ดอนเมือง โครงการนี้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ออกปฏิบัติการลดพุงในพื้นที่เป้าหมายในชุมชนและโรงเรียน เดือนละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกเดือน ขั้นตอนสำหรับผู้ร่วมโครงการคือ 1.กรอกข้อมูลส่วนตัวในเดือนแรก 2.วัดความดันและชีพจร 3.วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก และวัดปริมาณไขมันในร่างกาย (เปอร์เซ็นต์) 4.ตรวจวัดรอบเอว รอบสะโพก 5.การก้าวขึ้นลงจากขั้นต่างระดับ หรือการลุกนั่งจากเก้าอี้ 6.ปรึกษาปัญหาและแนะนำการออกกำลังกาย บันทึกการเปลี่ยนแปลงทุกเดือน จนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการลงพื้นที่ส่วนอื่นๆ ด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook