แก้ปม''อีลิท การ์ด'' รัฐบาลต้องมั่นใจ ได้มากกว่าเสีย

แก้ปม''อีลิท การ์ด'' รัฐบาลต้องมั่นใจ ได้มากกว่าเสีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ไม่แปลกใจเลยสำหรับการไม่ออกมาฟันธงทางเลือกในการหาทางออกให้กับบัตรเทวดา อีลิท การ์ด ของบอร์ดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือททท. เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา จริงอยู่แม้ททท.จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยแลนด์พริวิเลจ คาร์ด จำกัดหรือทีพีซี ผู้ดำเนินโครงการอีลิทการ์ด แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการนี้ก็เกิดจากนโยบายของรัฐบาลสมัยอดีตนายกฯทักษิณ

ดังนั้นหากรัฐบาลชุดนี้จะยุติโครงการดังกล่าว หรือจะให้มีทิศทางเดินอย่างไร รัฐบาลก็ต้องเป็นผู้ฟันธงในเรื่องนี้เอง เพราะต้องว่ากันไปในระดับนโยบาย ซึ่งลึกๆรัฐบาลก็คงอยากจะยกเลิก

ใจแทบขาด เห็นได้จากมติครม.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.52 ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำทางเลือกต่างๆพร้อมข้อมูลรายละเอียดประกอบในแต่ละทางเลือก ในกรณียุติโครงการอีลิทการ์ด แล้วให้นำเสนอครม.พิจารณาต่อไป

+++ช่องทางถอยยังตีบตัน

ถึงวันนี้ ทีพีซี และททท. ได้ร่วมกันหาบทสรุปในแต่ละทางเลือกต่างๆแล้วเสร็จก็ปาไปร่วม 6 เดือน ล่าช้ากว่ามติครม.ที่สั่งให้ทำรายละเอียดแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

จริงอยู่ที่ใครๆก็อยากให้ยุติโครงการนี้กันทั้งนั้น เพราะรู้แต่ต้นแล้วว่าแจ้งเกิดยาก แถมบริหารมาจนเข้าสู่ปีที่7 แล้ว แต่ผลประกอบการก็สะท้อนถึงการขาดทุนบักโกรกร่วม 1,412 ล้านบาท ปัญหาที่ทีพีซี ประสบอยู่ขณะนี้คือรายจ่ายของบริษัทสูงกว่ารายรับ ซึ่งส่วนสำคัญเกิดจากการให้สิทธิประโยชน์อื่นๆที่มิใช่สิทธิประโยชน์หลักแก่สมาชิกฟรีโดยไม่จำกัดจำนวนการใช้ และไม่คำนึงถึงต้นทุนการให้บริการ มีผลทำให้บริษัทเกิดภาระในการชำระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น สนามกอล์ฟ สปา ห้องรับรองสมาชิก ลีมูซีน การประกันภัย การตรวจสุขภาพ และบิสิเนส คลับ

ทำให้ปัจจุบันทีพีซี มีต้นทุนการให้บริการสมาชิก 2,570 คน อยู่ประมาณ 95 ล้านคนต่อปี ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารประมาณ 240 ล้านบาทต่อปี ส่วนรายได้ค่าสมาชิกมีการทยอยรับรู้รายได้ 10 ปี ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีโดยสอดคล้องกับประมวลรัษฎากร โดยยอดรับรู้รายได้ต่อปีไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดทุนสะสม

ความผิดพลาดในการบริหารงานที่สะท้อนผ่านผลประกอบการ ที่ผ่านมา แม้ผู้ถือหุ้นอย่างททท.จะไม่ได้เคยเข้ามาแตะต้องการบริหารงานในทีพีซีเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่แคล้วที่ททท.จะเข้าดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งนับจากต้นปีที่ททท.เข้ามาบริหารงาน ก็ได้สั่งให้หยุดรับสมาชิก พร้อมทำการปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น มีการกำหนดต้นทุนค่าบริการที่ทีพีซีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้แก่สมาชิก การลดค่าใช้จ่ายทั้งในและนอกองค์กร จนลดภาระค่าใช้จ่ายลงไปได้ในระดับหนึ่ง

+++อนาคตในอุ้งมือรัฐบาล

แต่อนาคตชะตาของอีลิทการ์ดจะเป็นอย่างไร ก็คงอยู่ที่อุ้งมือของรัฐบาล ที่ต้องพิจารณาทางเลือกใดจาก 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การปิดบริษัท 2.ดำเนินโครงการต่อไป โดยร่วมทุนกับภาคเอกชน 3.การดำเนินโครงการต่อไป โดยปรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท และ4.โอนภารกิจให้ททท.ดำเนินการ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของบอร์ดทีพีซี ได้พิจารณาเห็นว่าทางเลือกน่าจะเป็นแนวทางที่ 1 คือการปิดบริษัททีพีซีฯและยุติโครงการโดยสิ้นเชิง หรือแนวทางที่ 4 คือการโอนภารกิจให้ททท.ดำเนินการต่อไป

การปิดบริษัทจริงอยู่ที่เป็นการปิดฉากการผูกพันของรัฐบาลในโครงการนี้ได้ในระยะยาว แต่กระทบมากเหลือล้น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ สูญเสียความเชื่อมั่นในการลงทุน เนื่องจากโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่ายุคไหนก็ขึ้นชื่อว่านโยบายรัฐ ทั้งต้องควักจ่ายค่าเสียหาย 2.2 พันล้านบาทไม่รวมปัญหาถูกสมาชิก 2.5พันคนฟ้อง ที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้

ส่วนถ้าจะให้โครงการดำเนินการอยู่ จะเดินอย่างไร ก็คงต้องว่ากัน แม้ททท.จะไม่อยากรับโอนงานมา แต่หากเพื่อประเทศชาติ ก็เป็นสิ่งที่ต้องจำใจรับ แต่จะให้หวังผลขยายงานเหมือนธุรกิจเต็มตัวก็คงไม่ใช่ หรือหากเอกชนมาร่วมทุน การจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นสิทธิของรัฐ เช่นการอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า ก็คงเป็นไปได้ยาก

+++เดินต่อได้แบบพอเพียง

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทีพีซี ก็ได้รับการตรวจสอบและประเมินผลการทำงานจากคณะทำงาน 3 ชุด ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการไทยแลนด์ อีลิท การ์ด และศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างสะท้อนผลศึกษาไปในแนวทางเดียวกันว่าโครงการนี้ยังมีการดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุน แต่ต้องมีการปรับแผนให้เกิดความเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจมากกว่าที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแนวทางว่าจะให้อยู่แบบเฉพาะดูแลสมาชิกที่มีอยู่ ไม่มีการขยายโครงการ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่รัฐบาลในการยกเลิกโครงการ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานะการเงินที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน โดยไม่มีการเรียกทุนเพิ่มและไม่มีการปรับโครงสร้างต้นทุน จะสามารถดูแลสมาชิกปีอีก 70 เดือน

หรือหากจะขยายโครงการต่อ ก็ต้องปรับรูปแบบสินค้าใหม่สำหรับเสนอขายสมาชิกใหม่ เช่น การปรับลดระยะเวลาสมาชิก จากตลอดชีพเป็นเพียง20-30 ปี การคอมมิสชันการขาย 15 %สูงเกินไป การปรับปรุงช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาผูกติดกับตัวแทนขายมากไป ทำให้มีต้นทุนการดำเนินการสูง ปรับเปลี่ยนบอร์ดบริษัทให้มืออาชีพมาบริหารโดยมีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ การปรับค่าสมาชิกเพิ่มเป็น 1.8 ล้านบาท เพื่อบรรลุจุดคุ้มทุน

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องขบคิด หากรัฐบาลจะยังให้โครงการนี้คงอยู่ ก็ต้องเล็งเห็นว่าบริษัทต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ หรือจะล้มเลิกไป แนวทางไหนที่ได้คุ้มเสียมากที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook