มาร์คลุยปราบเหลือบงาบหัวคิว ลั่นรมต.เอี่ยวฟันไม่เลี้ยง กอร์ปศักดิ์ฉุนน้องถูกโยงปมชุมชนพอเพียง

มาร์คลุยปราบเหลือบงาบหัวคิว ลั่นรมต.เอี่ยวฟันไม่เลี้ยง กอร์ปศักดิ์ฉุนน้องถูกโยงปมชุมชนพอเพียง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มาร์คเร่งกระชากหน้ากากเหลือบปชป.งาบหัวคิว ลั่นหากรมต.เอี่ยวฟันไม่เลี้ยง กอร์ปศักดิ์ฉุนฝ่ายค้านโยงน้องกับบริษัทขายสินค้าชุมชนพอเพียง น้อยใจอุตส่าห์มาช่วยงานรับเงินเดือนแค่ 4 หมื่น จี้หาข้อพิสูจน์ หากพบไม่โปร่งใสจะไล่ออกทันที สพช.สรุป กทม. 98 แห่งฮิตซื้อตู้น้ำ 37.8 ล้าน ซื้อโคมเสาไฟ 10 ล้าน

เมื่อเวลา 13.35 น.วันที่ 30 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชา ธิปัตย์ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้มีการหารือกรณีที่มีการกล่าวหาทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง โดยพรรคได้ตั้งคณะกรรม การสอบข้อเท็จจริงประกอบด้วย นายเจริญ คันธวงศ์ส.ส.สัดส่วน นายถวิล ไพรสนฑ์ ส.ส.กทม. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ทั้งนี้เพราะทางพรรคถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเมื่อมีการกล่าวหาว่าคนของพรรคเข้าไปเกี่ยวข้อง อยางไรก็ตาม เบื้องต้นข้อมูลที่รวบรวมได้มาคือมีการพาดพิงว่ามีคนของพรรคนำโครงการไปเสนอชุมชน แต่โดยหลักแล้วชุมชนต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการอะไร ชั้นนี้ทราบเพียงว่า บางพื้นที่มีคนของพรรคประชาธิปัตย์เอาโครง การเสนอแต่เสนอในลักษณะไหนอย่างไรยังไม่มีรายละเอียดแต่พรรคเห็นว่า ควรจะมีการสอบสวนเพราะไม่ต้องการให้มีปัญหาในการดำเนินการตามโครงการของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการกล่าวหาว่ามีการเรียกเก็บเงินถึงร้อยละ 30 ต่อหนึ่งโครงการ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีลักษณะนั้น ต้องมีการลงโทษแน่และต้องรวมไปถึงข้าราชการด้วย ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของพรรคเท่านั้น เรื่องนี้ตนเร่งรัดให้ได้ข้อเท็จจริงมาโดยเร็ว ในส่วนของพรรคเท่าที่ดูจากข้อมูล ตอนนี้มีสมาชิกสภาเขต(ส.ข.)หรือสมาชิกพรรคบางพื้นที่ที่ไม่ได้มีตำแหน่ง ไปอ้างว่าเป็นคนของพรรค เราไม่ต้องการให้คนของพรรคไปทำอย่างนี้แน่นอน และถ้ามีจะดำเนินการอย่างจริงจัง เมื่อถามว่า หากมีการพาดพิงไปถึงรัฐมนตรีของพรรค จะดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ต้องมีการดำเนินการแต่ชั้นนี้เป็นเรื่องของคนในพื้นที่ที่มีการอ้างว่าโครงการไปเสนอ

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเกาะติดตรวจสอบความไม่โปร่งใสในโครงการชุมชนพอเพียง โดยเฉพาะการจัดซื้อตู้น้ำพลังแสงอาทิตย์ให้ชุมชนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีราคาแพงเกินจริงและไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาคมว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล เพราะมีชุมชนกว่า 80,000 แห่ง เข้าร่วมโครงการ จะให้รัฐบาลเข้าไปดูแลให้ครบทุกแห่งคงเป็นเรื่องยาก แต่หากชุมชนไหนมีหลักฐานชัดเจน ขอให้ส่งเรื่องมา จะเข้าไปจัดการทันที ขณะนี้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบตามที่เป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อสรุปมาแล้วจะเสนอคณะกรรมการบริหารโครงการพิจารณาในต้นสัปดาห์หน้า ส่วนเรื่องที่ระบุว่าไม่ผ่านการทำประชาคมนั้นอย่าไปโทษชุมชนมากนัก เพราะต่างคนต่างทำมาหากิน ไม่มีเวลา แต่คนที่ต้องให้ความเห็นชอบในต่างจังหวัดคือนายอำเภอใน (ใน กทม.เป็นผู้อำนวยการเขต) เมื่อเซ็นอนุมัติมา สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) คงต้องเชื่อในสิ่งที่นายอำเภอเซ็นมา ใครจะเป็นคนบอกว่ามาประชุมไม่ครบ 70% ในเมื่อเซ็นมาว่าครบ ถ้าใครมีหลักฐานว่าชุมชนประชุมไม่ครบจริงก็รีบเอามาให้ จะได้ไปตรวจสอบ

ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบ ผมไม่ตอบโต้ แต่ที่โยงใยว่ามีน้องรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เป็นน้องผมเอง (นายประโภชฌ์ สภาวสุ รองผู้อำนวยการ สพช.) ผมอุตส่าห์ไปอ้อนวอนเขามาช่วยงาน เพราะต้องการคนที่ไว้ใจได้ เขาเคยเป็นทั้ง ส.ว. ทั้ง ส.ส. แต่เข้ามาเป็นแค่รอง ผอ.เงินเดือน 4 หมื่นกว่าบาท ถ้ามีความไม่โปร่งใสก็ต้องหาข้อพิสูจน์มาสิ ผมจะได้ไล่น้องผมออก แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เขาไม่ได้เกี่ยวอะไร นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า น้องชายไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่เสนอขายตู้น้ำให้ชุมชน และมาบริจาคเงินให้พรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่ นายกอร์ปศักดิ์ย้อนถามด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า เกี่ยวเรื่องอะไร และเกี่ยวอย่างไร

เมื่อถามว่า โฆษกพรรคเพื่อไทยระบุว่าเมื่อเปิดสภาสมัยสามัญจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อ้างว่ามีความไม่ชอบมาพากลยิ่งกว่ากรณี ส.ป.ก.4-01 นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ดี ไม่มีปัญหา จะชัดหรือไม่ชัดก็เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์กัน

เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่ายังไม่มีอะไรส่อไปในทางที่ไม่โปร่งใส รองนายกฯกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล เพียงแต่วางกรอบให้ชาวบ้านไปตัดสินใจ ส่วนจะไปซื้อกับใคร เป็นเรื่องของประชาคม ไม่เกี่ยวกับโครงการ เพราะไม่ได้เป็นคนอนุมัติ สิ่งที่รัฐบาลจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสที่กำลังเร่งทำอยู่คือการเอาราคากลางส่งไปให้ประชาคมดู ต้องเข้าใจว่าขณะนี้การแข่งขันทางธุรกิจสูง นักธุรกิจต้องทำทุกวิถีทาง ส่วนจะร่วมมือกับใคร รัฐบาลไม่ทราบ แต่ถ้ามีเจ้าหน้าที่หรือนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสอบ

เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ที่ทุกฝ่ายพุ่งเป้ามาที่รองนายกฯ โดยดึงน้องชายขึ้นมาโยงใย นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า ทำงานที่ผ่านมาก็มีปัญหามาตลอด เป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นไร ก็ตอบได้ ไม่ใช่นามสกุล สภาวสุ แล้วจะทำงานไม่ได้เลย อย่างนี้ก็ไม่เป็นธรรมเท่าไหร่ ขอการันตีน้องชายได้ 1,000%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สพช.ได้โอนงบฯโครงการรอบแรก (26 มี.ค.52) จนถึงรอบ 5 (15 พ.ค.52) ให้ชุมชนใน กทม.แล้วจำนวน 208 ชุมชน จากที่ขอมาทั้งสิ้น 1,981 ชุมชน มีทั้งชุมชนที่ขอทำโครงการเดียวทั้งหมด และขอทำหลายโครงการพร้อมกัน จำแนกได้ดังนี้ 1.ชุมชน 98 แห่ง ซื้อตู้น้ำหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ 37.8 ล้านบาท 2.ชุมชน 35 แห่ง ซื้อโคมไฟถนนโซลาร์เซลล์ และระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 10.1 ล้านบาท 3.ชุมชน 22 แห่ง ซื้อเตาเผาขยะชุมชน 3 ล้านบาท 4.ชุมชน 16 แห่ง ซื้อเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ 4.4 ล้านบาท 5.ชุมชน 11 แห่ง ซื้อตู้เย็นชุมชน 4 ล้านบาท 6.ชุมชน 8 แห่ง ซื้อไบโอดีเซล 2.7 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 62 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีชุมชนใดเลือกโครงการหรือสินค้าชนิดอื่นเลยนอกเหนือจาก 6 ชนิด

นายสว่าง บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการเขตพญาไท ชี้แจงกรณีประธานชุมชนแฟลต ทบ. และชุมชนวัดไผ่ตัน เขตพญาไท ระบุถูกมัดมือชกให้ซื้อสินค้าตามโครงการชุมชนพอเพียง แถมสินค้าแพงและด้อยคุณภาพ โดยมีเจ้าหน้าที่เขตพญาไทช่วยเดินเรื่องให้ว่า สำนักงานได้ตรวจสอบแล้ว การจัดซื้อตู้น้ำหยอดเหรียญและโคมไฟโซลาร์เซลล์ของทั้งสองชุมชนเป็นไปตามระเบียบ ประชาคมได้เลือกโครงการดังกล่าว โดยสำนักงานมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจหน้าที่ชี้นำใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อประชาคมเห็นชอบมาแล้ว ตนมีหน้าที่รับรองการประชุมและรับรองการแต่งตั้งกรรมการชุมชนเท่านั้น เมื่อสอบถามประธานทั้งสองชุมชนก็ยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เขตไปชี้นำหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อแต่อย่างใด

สำหรับสภาพโครงการในต่างจังหวัด นายวิชญ์ภาส อินทร์พันงาม ประธานชุมชนหมู่ 14 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ชุมชนจัดทำประชาคมเพื่อของบประมาณจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร เครื่องพ่นยา เครื่องตัดหญ้า ซึ่งได้รับอนุมัติเรียบร้อยแล้ว รอเพียงโอนเงินมาเข้าบัญชีให้ โครงการดังกล่าวรัฐบาลกำหนดมาให้จัดซื้อเฉพาะเครื่องมือการเกษตร ทำร้านค้าชุมชน หรือทำระบบประปาหมู่บ้าน โดยให้ทำเป็นกลุ่ม ทำอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่ได้ ชุมชนจึงเลือกซื้อเครื่องมือการเกษตร ทั้งๆ ที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของชุมชน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านจัดสรร ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง รับราชการ เกษตรกรมีจำนวนน้อยกว่า เมื่อทำประชาคมเสียงตอบรับส่วนใหญ่ไม่ต้องการเครื่องมือการเกษตร แต่ก็ต้องทำโครงการไปดึงงบฯมา เพราะถ้าประธานไม่ทำ ก็จะถูกชุมชนตำหนิว่าทำไมไม่ทำ

นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของรางวัลชุมชนเข้มแข็งระดับประเทศ กล่าวว่า สาเหตุที่โครงการชุมชนพอเพียงประสบปัญหาจัดซื้อสินค้า เนื่องจากบางหมู่บ้านไม่มีแผนงานชัดเจน สะท้อนภาพให้เห็นว่าชุมชนยังไม่มีความเข้มแข็งจริง หรือไม่มีอำนาจตัดสินใจอย่างอิสระ บางพื้นที่ถูกชี้นำจากภาคเอกชนที่หวังขายสินค้าโดยผ่านกลไกข้าราชการระดับสูง ทำให้บางอำเภอมีข้าราชการรับบทนายหน้าเกลี้ยกล่อมหรือชี้นำกรรมการหมู่บ้านให้จัดซื้อสินค้านั้นๆ ถ้าสำเร็จก็รับค่าคอมมิสชั่น 10-20% เป็นเหมือนกันหลายตำบล

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยืนยันว่ามีคนใกล้ชิดรัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้อง มีนามสกุลคุ้นหู ทำตัวเป็นหน้าม้าจัดสเปคสินค้าป้อนโครงการมูลค่า 9,000 ล้านบาท พรรคเพื่อไทยจะแจ้งความดำเนินคดีทันทีที่พบหลักฐาน โครงการนี้จะเป็นโครงการช้างล้มยิ่งกว่ากรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 รัฐบาลจะไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้อย่างแน่นอน หากรัฐบาลสามารถอยู่ได้ยาวฝ่ายค้านจะนำกรณีนี้ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook