บทวิเคราะห์: แนวทางการจัดทำโครงการชุมชนพอเพียง...เพียงพอแล้วหรือไม่?? (1)

บทวิเคราะห์: แนวทางการจัดทำโครงการชุมชนพอเพียง...เพียงพอแล้วหรือไม่?? (1)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โครงการชุมชนพอเพียง เป็นหนึ่งในผลงานของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา จากโครงการเงินกู้ 8 แสนล้านบาท ซึ่งโครงการชุมชนพอเพียงใช้งบประมาณถึง 5.4 หมื่นล้านบาท หากแต่โครงการดังกล่าวเมื่อเทียบกับความสนใจของประชาชนอย่าง นโยบายเรียนฟรี 15 ปี 5 มาตรการลดค่าครองชีพประชาชน โครงการต้นกล้าอาชีพ จึงอาจมองได้ว่า โครงการชุมชนพอเพียง ยังไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก ที่ผ่านมา โครงการชุมชนพอเพียงได้ถูกกล่าวถึงในแง่ของการทำงานที่พบปัญหาความไม่โปร่งใส และเกิดการหาผลประโยชน์จากโครงการเกิดขึ้น ทั้งข้อมูลที่มีการเปิดเผยว่า สินค้าจำนวนหนึ่งใช้งบประมาณของรัฐในการจัดซื้อ ไม่ใช่สินค้าหรือสิ่งที่เป็นความต้องการจริงๆ ของชุมชน นอกจากนี้ยังพบว่า สินค้าดังกล่าวมีราคาแพงเกินกว่าราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ทั้งที่การจัดซื้อด้วยงบประมาณที่แน่นอนและมีจำนวนมากนั้นควรจะถูกกว่า รวมถึงกระบวนการจัดซื้อจัดหาเหล่านี้ มีชื่อของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาพัวพันด้วย เมื่อไม่ได้รับการชี้แจงอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ข้อครหาและความสงสัยก็ยังดำรงอยู่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียงในบางชุมชนซึ่งประสบปัญหาไม่โปร่งใสในหลายเรื่องว่า กรณีมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องสินค้าที่บริษัทเอกชนนำมาจำหน่ายให้ชุมชุนต่างๆ มีราคาแพงเกินความจริง โดยเฉพาะการเพิ่มระบบโซลาร์เซลเข้าไปด้วยนั้น เรื่องนี้คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องทุจริตเพียงอย่างเดียว ต้องมองถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับในระยะยาวด้วย เพราะพลังงานโซลาร์เซล เป็นพลังงานอนาคตที่น่าสนใจ และไม่นานประเทศไทยต้องก้าวไปถึงจุดนี้ หากชุมชนต้องการทำธุรกิจ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุนด้วย เช่น ถ้าจะทำธุรกิจขายน้ำ ต้องมีต้นทุนเรื่องค่าไฟ ซึ่งระบบโซลาร์เซลจะเข้ามาช่วยได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินงานเกิดปัญหาขึ้น คณะกรรมการคงจะต้องหารือกันว่า จะเดินหน้าต่อ หรือปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ส่วนที่มีการระบุข้อมูลว่า ในขั้นตอนการจัดซื้อสินค้าของชุมชนมีคนบางกลุ่ม ทั้งนักการเมืองและข้าราชการเข้าไปกำหนดให้ชุมชุนซื้อสินค้าจากบริษัทเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า หากใครมีข้อมูลให้แจ้งความดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องทุจริต ด้านอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ของสำนักงานชุมชนพอเพียงมี 10 กว่าคน แต่มีโครงการต้องพิจารณามากกว่า 80,000 โครงการ จากจำนวนชุมชนเป้าหมายทั่วประเทศ 80,000 ชุมชน ทำให้เกรงว่าการดูแลอาจไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นแนวทางของรัฐบาลในขณะนี้คือ การให้คนในชุมชนเข้ามาช่วยกันตรวจสอบ หากใครพบเห็นความผิดปกติ ให้แจ้งข้อมูลเข้ามาที่สำนักงานชุมชนพอเพียงนอกจากนี้ ได้มีการลดสัดส่วนการทำประชาคมของคนในชุมชนเพื่อเสนอโครงการจากเดิมที่กำหนดไว้ 70% ปรับเหลือเป็น 50% เพื่อแก้ปัญหา ทั้งหมดนี้คือปัญหาของโครงการชุมชนพอเพียง ที่รัฐบาลคงต้องมีการจัดสรรแนวทางในการแก้ปัญหาให้เกิดความครอบคลุมและคุ้มค่ากับเงินลงทุนมากที่สุด ซึ่งปัญหาสำคัญที่เลี่ยงไม่ได้คือ การจัดซื้อพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในชุมชน นอกจากปัญหาด้านราคาการจัดซื้อที่สูง และมีรายชื่อนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น หากมีการนำระบบดังกล่าวเข้าไปใช้ในชุมชนตามโครงการชุมชนพอเพียง จะมีผลในระยะยาวอย่างไร ติดตามคำตอบและแนวทางออกของปัญหาได้ใน บทวิเคราะห์: แนวทางการจัดทำโครงการชุมชนพอเพียง...เพียงพอแล้วหรือไม่?? (2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook