จ้องเล่น ''ขรรค์'' ไร้ประสิทธิภาพ พ่วง3ผู้ช่วยฯสายเทคโนโลยี-สาขา-ตวรจสอบติดร่างแห/โทษปลดจากตำแหน่ง

จ้องเล่น ''ขรรค์'' ไร้ประสิทธิภาพ พ่วง3ผู้ช่วยฯสายเทคโนโลยี-สาขา-ตวรจสอบติดร่างแห/โทษปลดจากตำแหน่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เปิดรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงธอส.กรณีทุจริต 499 ล้านบาท จ้องเอาผิดตั้งแต่เอ็มดี ''ขรรค์'' และ 3 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลสายงานเทคโนโลยีฯ กิจการสาขา และตรวจสอบ ''นริศ'' เผยเปิดทางคณะทำงานตรวจสอบประสิทธิภาพผู้บริหาร และคณะกรรมการสอบวินัยพนักงานทำงานเต็มที่ ด้านวงในชี้ผลตรวจสอบข้อเท็จจริงชุด ''โสภาวดี'' ระบุชัดประธานคณะกรรมการ CBS ไม่ทำหน้าที่กำกับดูแลงานที่ได้รับมอบหมาย

จากที่ ฐานเศรษฐกิจ ได้ติดตามและนำเสนอข่าวกรณีการทุจริต 499 ล้านบาทของ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และความเคลื่อนไหวจากความขัดแย้งระหว่างบอร์ดธอส. และฝ่ายบริหารของธอส. จากกรณีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการบันทึกบัญชีรับรู้ผลกำไรและขาดทุนจากการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Swap) บนบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD)

ล่าสุด เมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธอส. ได้เปิดแถลงข่าวถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่นายสมเกียรติ ปัญญาวรคุณเดช พนักงาน ธอส. กระทำการทุจริตเงินมูลค่า 499 ล้านบาท หลังจากที่บอร์ดธอส.ใช้เวลาประชุมร่วมกันประมาณ 7 ชั่วโมง ซึ่งโดยสรุปได้มีมติให้ดำเนินการกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบเป็น 3 กรณี รวมทั้งหมด 12 คนนั้น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ถึง ผลการตรวจสอบและแนวทางดำเนินการกับผู้บริหารที่คาดว่าจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ประกอบด้วยผู้บริหารและพนักงานที่อยู่ในข่าย10 คน ส่วนกรณีของนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการธอส.นั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีข้อสรุปว่ากรรมการผู้จัดการธอส. ในฐานะประธานคณะกรรมการ CBS STEERING ซึ่งมีหน้าที่และเป็นผู้อนุมัติติดตั้งระบบงานหลัก CBS (Core Banking System)และทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติคู่มือปฏิบัติงานและคู่มือที่เกี่ยวกับระบบงานหลัก ไม่ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลให้ดำเนินงานในเรื่องที่สำคัญที่ได้รับมอบหมาย โดยให้พิจารณาดำเนินการตามสัญญาจ้าง

ในรายละเอียดของสัญญาจ้างกรรมการผู้จัดการธอส.นั้น ระบุกรณีที่ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างผู้รับจ้าง ในกรณีเช่น 1.ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา 2.จงใจทำให้ผู้ว่าจ้างเสียหาย 3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง ฯลฯ

นอกจากนี้ ในจำนวนพนักงานที่อยู่ในข่ายต้องรับผิดชอบ 10 คนนั้น เป็นระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ 3 คน ที่รับผิดชอบงานด้านสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกฝ่ายกิจการสาขา และสายงานตรวจสอบและกำกับ

ดร.นริศ เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า หลังจากนี้คงต้องรอให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นทั้ง 2 ชุด คือ ชุดที่ทำหน้าที่ตรวจสอบประสิทธิภาพของผู้บริหาร และชุดที่สอบวินัยพนักงานรวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำกลับมาเสนอที่ประชุม

ทั้งนี้ ในส่วนของผลสอบที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอและมีมติไปแล้ว คือ 1.ผู้กระทำการทุจริต เป็นผู้กระทำการทุจริตโดยที่ไม่มีผู้ร่วมกระทำผิด ซึ่งธนาคารได้ดำเนินคดีอาญาโดยการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับนายสมเกียรติ และได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) แล้ว ซึ่งคณะกรรมการธนาคารก็มีมติรับทราบแล้วเช่นเดียวกัน

2.กลุ่มที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นสาเหตุให้เกิดการทุจริต โดยประกอบไปด้วยผู้บริหารและพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งมีระเบียบกำหนดไว้แต่ละเลยไม่ได้ปฏิบัติ รวมถึงกลุ่มพนักงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดสาเหตุข้างต้น โดยคณะกรรมการสอบฯได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อการบริหารงาน และดำเนินงานของธนาคาร จึงกำหนดผู้ที่รับผิดชอบหลักตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นสำคัญ กล่าวโดยสรุปก็คือ มีผู้บริหารและพนักงานที่อยู่ในข่าย 10 คน ซึ่งคณะกรรมการธนาคารพิจารณาแล้วมีเหตุผลเพียงพอให้ธนาคารรับไปดำเนินการทางวินัยต่อไป

3.ในส่วนของผู้บริหารระดับสูงที่อาจเกี่ยวข้อง คณะกรรมการธนาคารมีมติมอบหมายให้ประธานกรรมการบริหารเสนอประธานกรรมการธนาคารแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบประสิทธิภาพผู้บริหารตามรายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีประธานกรรมการบริหาร คือ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพผู้บริหารระดับสูงต่อไป โดยให้ระยะเวลาในการดำเนินการ 30 วัน ซึ่งหากตรวจสอบพบว่ามีการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ก็จะปลดออกจากตำแหน่งทันที

ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ กรรมการอิสระ ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบผู้บริหารระดับสูง กล่าวถึงกรณีที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบผู้บริหารระดับสูงเป็นการเฉพาะว่า จากที่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนถึงขนาดที่จะเข้าไปดำเนินการกับบุคคลระดับสูงเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเลือกเฉพาะผู้ที่มีความชัดเจนว่าเข้าข่ายกระทำความผิดให้มีการตรวจสอบทางวินัย แต่ในส่วนของผู้ที่ยังไม่แน่ชัด ในเบื้องต้นอย่างน้อยที่สุดก็เห็นว่ามีความบกพร่องในประสิทธิภาพการทำงานที่ปล่อยให้ระดับพนักงานก่อปัญหาได้ ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อดูว่ามีผู้ใดที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน หรือย่อหย่อนในเรื่องใด และจะได้ดำเนินการต่อไป

หากถามว่าคำนิยามของผู้บริหารระดับสูงอยู่ตรงไหนที่ต้องตรวจสอบ ก็ต้องเรียนว่าถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบไปแล้ว และหากมีการตรวจสอบและพบเจอว่าระดับกรรมการตรวจสอบ มีผู้ใดที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถดำเนินการทางวินัยได้เช่นเดียวกัน แต่หากเป็นผู้บริหารระดับที่สูงมากกว่านั้น ณ เวลานี้ยังไม่มีประเด็นในเรื่องของการสอบวินัย ขณะที่ผู้บริหารบางท่านก็เป็นเรื่องของสัญญาว่าจ้าง ซึ่งไม่มีเรื่องวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะต้องเข้าไปดูว่าในส่วนดังกล่าวนั้น ประสิทธิภาพในการทำงานมีอะไรที่สมควรจะต้องปรับปรุง หรือว่าจะต้องถูกดำเนินการในเรื่องใด นายชัยเกษมกล่าว

ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้พยายามติดต่อนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธอส. แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากเมื่อ 24 ก.ค. นายขรรค์ได้เดินทางไปพัทยา เพื่อประชุมร่วมกับบอร์ดธอส. เกี่ยวกับแผนปฏิบัติงานปี 2553-2557 ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ โดยการประชุมดังกล่าว มีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook