บางแข็งทะลุ 34.00 บาท/ดอลลาร์

บางแข็งทะลุ 34.00 บาท/ดอลลาร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2552 ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบางบาง โดยค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (20/7) ที่ระดับ 34.04/06 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดวันศุกร์ (17/7) ที่ 34.05/07 บาท/ดอลลาร์ จนกระทั่งในวันพฤหัสบดีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนผ่านแนวต้านสำคัญที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ และแข็งค่าสุดที่ระดับ 33.94 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ตามเงินบาทกลับอ่อนค่าลงมาในช่วงสายของวันพฤหัสบดีนั้นเอง ก่อนที่จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ จนกระทั่งปิดตลาดวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 33.98/99 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 33.94-34.055 บาท/ดอลลาร์ อนึ่ง ในวันจันทร์ (20/7) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขดุลการค้าของไทยประจำเดือน มิ.ย. ซึ่งเกินดุลอยู่ที่ระดับ 937 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตัวเลขการส่งออกในเดือน มิ.ย. มีมูลค่า 12,335 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 11,398 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 29.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก อาทิ ยูโร และปอนด์ จากการเทขายดอลลาร์เพื่อกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หลังมีข้อบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตัวเลขผลประกอบการที่เกินคาดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ อีกทั้งแรงหนุนจากตัวเลขยอดสร้างบ้านใหม่ประจำเดือน มิ.ย. ที่ประกาศในวันศุกร์ (17/7) ที่ 582,000 หลัง ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ที่ 530,000 หลัง และสูงกว่าเดือน พ.ค. ที่ 562,000 หลัง รวมไปถึงการเปิดเผยตัวเลข Leading Indicator ของสหรัฐที่ระดับ 0.7% จากที่คาดไว้ว่าที่ระดับ 0.5% แต่ในวันพุธ (22/7) ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอีกครั้ง หลังนายเบน เบอร์นาเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวว่าเศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปและจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำต่อไป อีกทั้งอัตราการว่างงานอาจจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงไปจนถึงปี 2011 ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังแสดงความวิตกกังวลต่อการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐด้วย จากการแสดงทัศนะดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเริ่มชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังข้อมุลราคาบ้านเดี่ยวในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 0.9% ขณะที่ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 3.8% และราคาแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. ทำให้เกิดความหวังว่าตลาดบ้านกำลังฟื้นตัวขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นและลดความต้องการถือเงินดอลลาร์ในฐานะแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยลง

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (20/7) ที่ระดับ 1.4142/45 ดอลลาร์/ยูโร แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดวันศุกร์ (17/7) ที่ระดับ 1.4101/05 ดอลลาร์/ยูโร ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการความต้องการลงทุนในสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง และสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลังผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทในสหรัฐที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ถึงแม้ว่าค่าเงินยูโรจะได้รับแรงกดดันจากดัชนี Zew ของเยอรมันที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าไปทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 1.4277 ดอลลาร์/ยูโร ในการซื้อขายวันอังคาร (21/7) อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงในวันพุธ (22/7) เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ รวมทั้งสถาบันวิจัยของประเทศอิตาลีได้เปิดเผยว่าเศรษฐกิจอิตาลีมีโอกาสหดตัวราว 5.3% ในปี 2009 ซึ่งเป็นสองเท่าที่จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

นอกจากนี้การประกาศตัวเลขคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศในโซนยุโรปออกมาที่ระดับ -30.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ -28.0% ส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินยูโรกลับมาปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์อีกครั้งตามการปรับตัวในทิศทางที่สดใสของตลาดหุ้นยุโรป ทำให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง นอกจากนี้ตัวเลขดัชนี Ifo ประจำเดือน ก.ค. ของเยอรมัน ที่ออกมาสูงกว่าที่คาดไว้ โดยออกมาที่ระดับ 87.3 จากที่คาดไว้ 86.5 สูงกว่าเดือน มิ.ย. ที่อยู่ที่ระดับ 85.9 เป็นแรงหนุนให้ค่าเงินปรับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 1.4200 ดอลลาร์/ยูโร อีกครั้ง โดยปิดตลาดวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 1.4215/19 ดอลลาร์/ยูโร ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 1.4107-1.4291 ดอลลาร์/ยูโร

ส่วนทางด้านการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (20/7) ที่ระดับ 94.50/52 เยน/ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับระดับปิดวันศุกร์ (17/7) ที่ระดับ 93.79/82 เยน/ดอลลาร์ โดยการซื้อขายในวันจันทร์ค่าเงินเยนมีการเคลื่อนไหวอย่างจำกัดเนื่องจากเป็นวันหยุดของตลาดโตเกียว ส่วนในวันอังคาร (21/7) ค่าเงินเยนได้กลับปรับตัวแข็งค่าลงมาค่อนข้างมากหลังจากที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ หลังจากที่ได้รับแรงกดดันเกี่ยวกับเรื่องการตกต่ำของคะแนนนิยมในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการแสดงทัศนะที่ระมัดระวังต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ได้ลดความต้องการเสี่ยวของนักลงทุนลง ทำให้ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าไปแตะระดับ 93.07 เยน/ดอลลาร์ ในการซื้อขายวันพุธ (22/7)

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ในช่วงปลายสัปดาห์นั้นค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ หลังจากญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าในเดือน มิ.ย. เกินดุลการค้า 508 พันล้านเยน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าญี่ปุ่นจะเกินดุลค้า 620 พันล้านเยน โดยตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับ -35.7% ชะลอการลดลงจากเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่ที่ -40.9% การที่ตัวเลขการส่งออกที่ดีขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากยอดส่งออกไปจีนที่ชะลอการลดลงอย่างชัดเจน ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ

นอกจากนี้ การคาดการณ์ถึงกระแสการไหลออกของเงินเยนจำนวนมาก จากทรัสซ์เพื่อการลงทุนของญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศและสกุลเงินต่างประเทศ ขณะที่ตลาดจับตาดูข้อมูลการรายงานผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์เงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 93.07-95.29 เยน/ดอลลาร์ ก่อนจะปิดตลาดวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 94.96/99 เยน/ดอลลาร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook