เกาะติดสถานการณ์ชายแดนใต้ เหตุร้ายน้อยลงแต่รุนแรงมากขึ้น

เกาะติดสถานการณ์ชายแดนใต้ เหตุร้ายน้อยลงแต่รุนแรงมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ( อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และอ.สะบ้าย้อย ) จังหวัดสงขลา ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ไฟใต้ยากที่จะดับลงได้ แม้ว่าขณะนี้ได้เปลี่ยนจากพรรคไทยรักไทย โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุมบังเหียนแล้วก็ตาม

+++ จัดสรรงบฟื้นฟูชายแดนใต้

แม้ว่า แนวทางแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ( สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ) มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นรองประธาน กรรมการที่เลือกประกอบด้วยรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้าราชการระดับสูง

ครม. ภาคใต้ ชุดนี้ มีหน้าที่หลักเพื่อกำกับดูแลนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง ให้การบริหารงานในพื้นที่เป้าหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เหตุการณ์ระทึกขวัญยังตามมาหลอกหลอนพี่น้องชาวไทยมุสลิมไม่จบสิ้น

โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบยิงกราดมัสยิด

อัลฟุรกอน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งหมด 11 ศพ และบาดเจ็บอีก 12 คน

แนวทางจำกัดขอบข่ายไม่ให้ลามไปพื้นที่ใกล้เคียง ของรัฐบาลที่นำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่พ้น คณะรัฐมนตรี การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ครม.มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือน รวมถึงการอนุมัติงบประมาณปีนี้ เพื่อการดับไฟใต้ของกระทรวงกลาโหม และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จำนวนมากถึง 1.7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้น ครม. ภาคใต้ ยังอนุมัติงบประมาณอีก 5.4 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะใช้เวลา 3 ปี ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นรูปธรรม

+++ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แม้รัฐบาลจะพยายามดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าความรุนแรงในพื้นที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เห็นได้จาก เฉพาะวันที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่ ครม.ผ่านมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกิดเหตุรุนแรงท้าทายอำนาจรัฐ วันเดียว 3 จุด ตั้งแต่เช้ามืด บ่าย และกลางดึก โดยเกิดที่ปัตตานี 2 แห่ง และนราธิวาส 1 แห่ง มีทหาร และประชาชน ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย และเสียชีวิต 1 ศพ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเหตุการณ์ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เว้นกระทั่งพระสงฆ์ ที่ต้องเอาชีวิตมาสังเวยกับไฟใต้ ทว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ยังแสดงความมั่นใจต่อแนวทางฟื้นฟู และพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ผมเชื่อว่าสถานการณ์จะค่อยๆบรรเทาเบาบางลง โดย รองนายกฯยืนยันว่าการลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ประชาชนมีกำลังใจมากขึ้น และในวันที่ 23 กรกฎาคม นี้ จะลงไปพื้นที่ชายแดนภาคใต้อีกครั้ง

ขณะที่ นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันอีกว่า เหตุการณ์ไม่สงบใน 3 ชายแดนภาคใต้ เมื่อเทียบ 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม )ของปี 2551 และปี 2552 จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บลดลง 109 คน เสียชีวิต ลดลง 47 คน

++ + กอ.รมน.ภาค 4 ชี้สถิติไฟใต้ลดลง

ทั้งนี้ สถิติความสูญเสียดังกล่าวสอดคล้องกับ การชี้แจงของ พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ที่กล่าวถึงไฟใต้ว่า สถิติความรุนแรงในพื้นที่เห็นได้ชัดว่า กลุ่มขบวนการก่อเหตุได้ลดน้อยลง แต่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจาก ฝ่ายความมั่นคง มีการสกัดกั้นและป้องกันความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เมื่อกลุ่มก่อการร้ายทำได้น้อยลง ก็ต้องก่อเหตุให้รุนแรงขึ้น โดยมีการใช้กลยุทธ์รูปแบบใหม่ ใช้วิทยุสื่อสารจุดชนวนระเบิดแทนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นวิธีการเดิมที่เคยทำมาแล้วนำกลับมาทำใหม่อีกรอบ

พ.อ. ปริญญา ชี้แจงสถิติการก่อเหตุร้ายเป็นรายปีว่า ปี 2547 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 887 เหตุการณ์ ปี 2548 มีเหตุรุนแรง 966 เหตุการณ์ ปี 2549 มีเหตุร้ายถี่ขึ้น ขยับเป็น 1,329 เหตุการณ์ ปี 2550 พุ่งสูงสุด 2,129 เหตุการณ์ และในปี 2551 ลดลงเหลือ 1,229 เหตุการณ์

จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์รุนแรง จากปี 2547 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงจุดสูงสุด คือ เดือน ตุลาคม 2549 ถึงเดือน กันยายน 2550 จำนวน 2,129 ครั้ง และพบว่า ในห้วงเดือนตุลาคม 2550 ถึง เดือน กันยายน 2551 เหตุการณ์ลดลงถึง 900 ครั้ง หรือ ร้อยละ 42.27

ส่วนสถิติการเสียชีวิตและการบาดเจ็บ แยกเป็นในปี 2547 มีผู้เสียชีวิต 342 ราย ปี 2548 เสียชีวิต 394 ราย ปี 2549 เสียชีวิต 521 ราย ปี 2550 เสียชีวิต 961 ราย ปี 2551 เสียชีวิต 732 ราย ส่วนสถิติการบาดเจ็บ เริ่มจากปี 2547 บาดเจ็บ 537 ราย ปี 2548 บาดเจ็บ 756 ราย ปี 2549 บาดเจ็บ 941 ราย ปี 2550 บาดเจ็บ 1,772 ราย และปี 2551 บาดเจ็บ 1,223 ราย

ขณะที่การประชุมว่าด้วยกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนให้ความเห็นชอบจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน เพื่อยกร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ภายใต้กลไกของกฎบัตรอาเซียน ที่จะนำเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนตุลาคมนี้

จะทำให้การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อยู่ในระดับความสนใจของสายตากลุ่มสมาชิกอาเซียนไม่มากก็น้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook