อาจารย์หมอประสานเสียงเตือน! ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยมีโอกาสแตะ 350,000 คน เสียชีวิต 7,000 ราย

อาจารย์หมอประสานเสียงเตือน! ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยมีโอกาสแตะ 350,000 คน เสียชีวิต 7,000 ราย

อาจารย์หมอประสานเสียงเตือน! ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยมีโอกาสแตะ 350,000 คน เสียชีวิต 7,000 ราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายการโหนกระแสวันนี้ (23 มี.ค.) หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

โดยอาจารย์หมอหลายท่านวิเคราะห์ว่าจากสถิติกราฟตัวเลขตอนนี้ ถ้ายังอยู่ในมาตรการแบบนี้ที่คนไทยใช้อยู่ มีโอกาสสูงมากที่ภายในกลางเดือน เม.ย. คนไทยจะติดเชื้อโควิด-19 จำนวนถึง 350,000 คน และเสียชีวิต 7,000 คน

วันนี้ เปิดใจสัมภาษณ์ "รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์" หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาพร้อมกับ "รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์" รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวานเห็นคลิปอาจารย์ที่มีการพูดเอาไว้ คนแชร์ต่อเยอะมาก หนึ่งในนั้นมีสิ่งที่น่าสนใจ อาจารย์บอกว่าเป็นไปได้เหลือเกิน 4 วันนับจากอาจารย์พูด จะมีคนป่วย 1,000 คน ที่มาที่ไปเป็นยังไง อาจารย์ประเมินจากอะไร?

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ : "ที่มาที่ไป จากการที่เราดูว่ามีผู้ป่วยทุกวันเลย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เราก็คิดว่าเริ่มเข้ากราฟ เกิน 100 คน พอเกิน 100 คน เรามีทางเลือก 2 ทาง ทางหนึ่งไปอิตาลี สองลงมาแบบสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ประเทศที่มีการระบาดมากๆ กราฟจะเพิ่มขึ้นวันละ 33% จากตัวเลขของวันก่อน ซึ่งยอดเราจะน่ากลัวมาก อีก 4 วันถ้าเราไม่มีมาตรการอะไรภายใน 4 วัน และรอให้ถึงพัน เราจะเอาพันนั้นให้ลงมันจะยากมาก มันจะทะลุขึ้นไปเรื่อยๆ"

เมื่อวานมีการแถลงว่ามีคนติดเชื้อ 188 ราย วันนี้ที่เราสัมภาษณ์กันอยู่คือวันจันทร์ มาอีก 122 ยอด 721 ราย สถิติดูลดลงมั้ย?

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ : "ดูลดลง เมื่อวานเพิ่มจากวันก่อน แต่วันนี้เพิ่มจากเมื่อวาน ประมาณสัก 20% แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามีผู้ป่วยที่รอการคอนเฟิร์มจากแล็บที่ตรวจหรือเปล่า ถ้าดูกราฟเส้นสีแดง เป็นเส้นประเทศไทย อิตาลีสีเขียว ถ้าเป็นญี่ปุ่นเป็นสีน้ำเงินด้านล่าง เรายังมีทางเลือกว่าเราจะไปข้างบนหรือลงมาด้านล่าง ทีนี้ข้างบนเราก็ทำเส้นประดูว่าถ้าเราจะแตะเส้นนี้ ถ้าเป็น 33% ที่ระบาดหนักมาก เราไม่อยากแตะเส้นนี้ เราเฝ้าดูว่าถ้าเราจะแตะเส้นนี้ อีก 4 วันเพิ่มเป็นพัน อีก 10 วันเพิ่มเป็นห้าพัน อีก 14 วันเพิ่มเป็นเกือบหมื่น จากแรกๆ ดร็อปๆ ไปบ้าง แต่เราจะไต่ไปทาง 33 ดูแล้วก็น่าเป็นห่วงมาก เราน่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้ ไม่งั้นโอกาสที่จะลงมาแบบญี่ปุ่นเป็นฝันที่ไกลเกินไป"

น่าจะต้องมีมาตรการเข้มข้น ณ วันนี้ในกรุงเทพฯ ล่าสุดมีการประกาศปิดสถานที่ในหลายๆ จุด มันเหมือนล็อกดาวน์กลายๆ แต่ยังไม่พอ สิ่งที่ต้องเพิ่ม?

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ : "พูดตรงๆ อยากให้ล็อกดาวน์กันทุกจังหวัด เพราะมีการเคลื่อนย้ายประชากรจากกรุงเทพฯ ไปที่อื่นก็มีการแพร่กระจายของเชื้อ ถ้าทุกคนกักตัวทั้งหมดก็ช่วยได้ ช่วงนี้ช่วงเวลาทอง ยังไม่แตะพัน"

มีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น?

รศ.ดร.พญ.ภัทรวัณย์ : "มีทีเดียวเลยค่ะ แต่มาตรการต่างๆ เข้ามาก็หวังว่าจะช่วยกันทุกคน"

มาฟังอาจารย์จุฬาฯ มองยังไง?

รศ.นพ.ธีระ : "ขอเสริมนิดนึง ในกราฟที่เราเห็น ตอนนี้ทั่วโลกติดโควิดกันหมดแล้ว กราฟที่อาจารย์อธิบายแบ่งเป็น 2 พวก พวกคุมอยู่กับพวกคุมไม่อยู่ กับด้านล่าง 3 ประเทศ ฮ่องกง สิงคโปร์ สิ่งที่จะเน้นย้ำคือมีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มประเทศด้านบนที่คุมไม่อยู่ มันไต่ไปเร็ว จากวันแรก 100 เคส ขึ้นไป 200 เคสใช้เวลา 3 วัน กับด้านล่างอีก 3 ประเทศคุมอยู่ มันขึ้นไปไม่มาก ร้อยถึงสองร้อยใช้เวลานาน 4-5 วัน ขณะที่ของไทย เราดูดีๆ พบว่าใช้เวลา 3 วันครึ่ง มีแนวโน้มติดประเทศที่เป็นกลุ่มผู้นำระบาด เป็นแนวโน้มไม่ดี แต่เราเปลี่ยนชะตาได้ เราต้องช่วยกัน"

คำว่าต้องช่วยกัน หมายถึง?

รศ.นพ.ธีระ : "หมายถึงก่อนเราลงไปดูตัวมาตรการ ดูก่อนว่าเราลงมาตรการเต็มที่ ช่วยกันเต็มที่เมื่อไหร่ มันจะมีช่วงเวลาทองอยู่ ถามว่าเวลานานเท่าไหร่ ยิ่งปล่อยให้เนิ่นนาน ความห่างของคนสองกลุ่มจะยิ่งห่างขึ้น นั่นแปลว่าโอกาสตามทันกันยาก ถ้าเราดูกราฟคร่าวๆ เรามีเวลา 5 วัน ถัดจาก 15 มี.ค.ที่เราแตะร้อย จริงๆ ถ้าเราลงมาตรการเต็มที่วันที่ 20 น่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่เราเปลี่ยนชะตาชีวิตเราได้ แต่ตอนนี้มันเลยไปแล้ว พอวิเคราะห์ลึกๆ ถ้าปล่อยให้จำนวนเคสยิ่งเยอะยิ่งคุมไม่อยู่ ตอนนี้ที่แนะนำผู้หลักผู้ใหญ่ เราบอกว่าอย่าปล่อยให้ถึงพันเคส เพราะมันจะเกิดผลกระทบ จะคุมไม่อยู่แล้ว เกินกำลังหรือเปล่า ซึ่งพันเคสก็เหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว"

อาจารย์มองว่ามาตรการตอนนี้ยังไม่พอ?

รศ.นพ.ธีระ : "ยังไม่พอ"

จำเป็นต้องปิดประเทศมั้ย?

รศ.นพ.ธีระ : "จริงๆ ถ้าจะให้ดีที่สุดมีสองหลักที่ต้องทำ ผมไม่ค่อยชอบคำว่าปิดประเทศเท่าไหร่ พอพูดไปปุ๊บจะทำให้คนน่ากลัว แต่อยากให้ทำสองอย่างคือปิดกั้นให้คนต่างประเทศเข้ามา ตอนนี้มันน้อยลงแล้วแต่ก็ยังพอมีอยู่บ้าง สองไม่ให้คนที่ติดเชื้ออกไปแพร่ให้คนอื่น มาตรการที่สอง ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยเราช่วยกันอยู่กับที่เท่าที่จะทำได้ แล้วมันจะดีขึ้น"

จำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิว ห้ามคนออกจากบ้านมั้ย?

รศ.นพ.ธีระ : "ผมคิดว่าประเทศที่มีการระบาดหนักๆ แล้ว หลายประเทศก็พิจารณามาตรการแบบนี้ แต่การประกาศให้เกิดนโยบายแบบนี้จะสร้างความตื่นตระหนก แต่ถ้าถามผมถ้าการระบาดวงกว้างและเร็ว ผมแนะนำว่าต้องมีการจำกัดเวลาออกนอกเคหสถานของประชาชน แน่นอนเราคงไม่ให้เขากักตัวอยู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง คงเป็นไปได้ยาก แต่เราอาจมีการจำกัดเวลา อย่างเช่น สามทุ่มถึงตอนเช้า ไม่อยากให้ออกจากบ้านเพื่อป้องกันความเสี่ยงคนออกไปข้างนอกและแพร่ให้แก่กัน นี่ก็เป็นมาตรการที่รัฐควรพิจารณา ถือว่าจำเป็น ถ้าเราไม่จำกัดวงจรแพร่ระบาดช่วงเวลาทอง มันจะคุมไม่อยู่"

พอปิดสถานที่ท่องเที่ยวก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ฟัง ไปนั่งเล่นชายหาด ตอนนี้พอไม่มีมาตรการเข้มจัดการ คนก็ทำแบบนี้อีก แล้วมีอีกกลุ่มที่เขาบอกว่าประกาศปิดแบบนี้เขาก็ต้องกลับบ้านเพราะเขาหาเช้ากินค่ำ อาจารย์มองยังไง?

รศ.นพ.ธีระ : "ส่วนตัวผมมองว่าถ้ารัฐจะจัดการตัดวงจรการระบาดนี้ได้ เรากำลังทำสงครามกับโรคระบาด สิ่งที่จะต้องทำ มีอยู่ 4 เรื่องหลักๆ คือ เรื่องแรกเตรียมกับสังคมให้ดี อาจต้องสู้กับโรคระบาด เรื่องปิดเมืองอะไรก็แล้วแต่ อาจเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนได้ ตำรวจ-ทหารต้องวางแผนไว้ รณรงค์ให้คนรู้ว่าต้องประพฤติปฏิบัติยังไง มีระเบียบ และเชื่อฟังมาตรการที่รัฐได้ประกาศออกไป และปฏิบัติต่อกัน เช่นการวางระยะห่างระหว่างกันให้เป็นนิสัย สองเรื่องเศรษฐกิจ คนเราต้องกินต้องใช้ นั่นแปลว่าอาจต้องเตรียมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นั่นหมายถึงต้องเตรียมอาหารการกินและต้องไม่ลืมคนเบี้ยน้อยหอยน้อย คนยากจน ต้องหาทางเยียวยาเขา ในตอนที่เราปิดประเทศหรือปิดเมือง และอันที่สามคือเรื่องการแพทย์ สงครามกับโรคระบาดเป็นการสู้กับเชื้อโรค สถานพยาบาลต้องเตรียมให้พร้อม ใช้ได้จริง เตรียมเครื่องมือบุคลากรให้พร้อม แบ่งให้ดีว่าอันไหนเป็นโรงพยาบาลสำหรับโรครุนแรง อันไหนไม่รุนแรง สุดท้ายเรื่องบริหารจัดการ นี่คือสงครามโรคระบาดของคนทั้งชาติ ฉะนั้นท่านนายกฯ ต้องลงมาบัญชาการเอง ซึ่งท่านก็ลงมาอยู่ ร่วมกับขุนพลคู่ใจ แต่ขุนพลต้องเลือกให้ดี ให้เหมาะสม มีความรู้ ความชำนาญ เชี่ยวชาญสู้กับโรคระบาด ไม่ใช่การบริหารแบบเล่นๆ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook