ระบายข้าวโพดเน่า 5.5 แสนตันข้าวจ่อคิว

ระบายข้าวโพดเน่า 5.5 แสนตันข้าวจ่อคิว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการตลาดข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เห็นชอบให้เปิดประมูลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่รับจำนำมาในฤดูกาล 51/52 จำนวน 5.5 แสนตัน จากสต๊อก 1.1 ล้านตัน แบ่งเป็นการประมูลเพื่อการส่งออก 5 แสนตัน และใช้ภายในประเทศอีก 5 หมื่นตัน โดยจะมีการประกาศหนังสือเชิญชวนวันที่ 17 ก.ค. นี้ เปิดชี้แจงแนวทาง 21 ก.ค. ก่อนจะให้ยื่นและเปิดซองประมูล 28 ก.ค.และให้มีการเจรจาต่อรองราคา 29 ก.ค. 52

การประมูลครั้งนี้ไม่ต้องรอการเซอร์เวย์สภาพข้าวโพดเพราะได้รับการอนุญาตจาก ครม. แล้ว โดยจะปล่อยให้ขายตามสภาพ เป็นรายโกดัง ไม่กำหนดราคากลาง ส่วนราคาอาจจะถูกลดทอนจากผลผลิตที่เน่าเสีย และเสื่อมสภาพ โดยที่อนุญาตให้ระบายในประเทศ เพราะต้องการช่วยให้เกษตร และสหกรณ์มีวัตถุดิบนำไปผลิตอาหารสัตว์ได้ในราคาถูก

ส่วนการเปิดประมูลข้าวที่ประชุมเห็นว่าให้กรมการค้าต่างประเทศ นำยุทธศาสตร์การระบายข้าวกลับไปแก้ไข ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พิจารณา วันที่ 17 ก.ค.นี้ เนื่องจากแผนยังไม่สมบูรณ์ และนำมาปฏิบัติจริงได้ยาก

ตอนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยยุทธศาสตร์ข้าวได้ เพราะข้าวเป็นเรื่องใหญ่ มีสต๊อกทั้งหมด 6 ล้านตัน จะต้องรอการเห็นชอบจาก กขช. กระทรวงพาณิชย์ก่อน ถึงจะดำเนินการได้ แต่หาก กขช. ไฟเขียวกระทรวงพาณิชย์จะประชุมคณะอนุกรรมการตลาดเพื่อกำหนดทีโออาร์สำหรับเปิดประมูลทันที เพราะเป็นเวลาเหมาะสมที่จะปล่อยข้าวออกสู่ตลาด

นางพรทิวา กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันความเสี่ยงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูกาล 52 กำหนดราคา กก.ละ 7.10 บาท กำหนดโควตาให้รายละ 20 ไร่ หรือไม่เกิน 12 ตัน ระยะเวลาโครงการ 1 ส.ค.-30 พ.ย. นี้ มีผลผลิตเป้าหมาย 4.2 ล้านตัน ขณะเดียวกันยังให้ประกันราคามันสำปะหลัง ราคา กก.ละ 1.70 บาท กำหนดโควตารายละ 100 ตัน มีผลผลิตโดยรวม 30 ล้านตัน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่จะเสนอให้ กขช.พิจารณา ประกอบด้วย การให้ระบายทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร ให้เปิดระบายทั้งภายในประเทศและส่งออก ให้ผู้สนใจเสนอราคาและปริมาณที่จะซื้อ กำหนดระบายให้ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ บางช่วงเสนอผลิตเป็นข้าวถุงเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งออก และระบายผ่านเจรจาขายรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจสถานภาพเกษตรกรไทยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปัจจุบัน พบว่าชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรไทยน่ากังวลมากสุดรอบ 10 ปี นับจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 41 เป็นต้นมา.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook