สุเทพไม่หนักใจถูกเชือดพร้อม12ส.ส.ปชป.ย้ำไม่กระเทือนรัฐบาลไตรรงค์ ซัด กกต.ไม่มีความรู้หุ้น

สุเทพไม่หนักใจถูกเชือดพร้อม12ส.ส.ปชป.ย้ำไม่กระเทือนรัฐบาลไตรรงค์ ซัด กกต.ไม่มีความรู้หุ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
มติกกต.เชือด13ส.ส.ปชป.

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเสียงส่วนใหญ่มีมติว่า 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขาดคุณสมบัติเนื่องจากถือหุ้นสัมปทานรัฐและธุรกิจสื่อ แต่ยกคำร้อง 14 ส.ส.เพราะไม่เข้าข่าย รวมถึงกรณีการถือหุ้นของภรรยานายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงภายหลังการประชุม กกต.เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ว่า ที่ประชุมพิจารณารายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการไต่สวนกรณีนายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เมื่อครั้งอยู่พรรคพลังประชาชน (พปช.) ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบ ส.ส. 28 ราย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่ามีการกระทำอันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ ประกอบมาตรา 265 ถือครองหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานรัฐ อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 106(6) ของรัฐธรรมนูญ โดย กกต.มีมติเสียงข้างมากเห็นว่า ส.ส. 13 คน ถือครองหุ้นในบริษัทที่เข้าลักษณะต้องห้ามคือ

1.น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

2.นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.นครศรีธรรมราช ถือหุ้นบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

3.นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม. ถือหุ้น บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

4.นายลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ส.ส.สงขลา โดยนางสุไหม ลาภาโรจน์กิจ ภรรยา ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

5.นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 โดยนางนงนุช สุวรรณคีรี ภรรยา ถือหุ้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

6.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค และ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ถือหุ้นในบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

7.นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก ถือหุ้นโดยภรรยา คือนางสมานจิตต์ ไกรฤกษ์ ซึ่งถือหุ้นใน บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

8.นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา ถือหุ้นโดยภรรยา คือนางสมผิว ราชสีห์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโกลว์พลังงานจำกัด (มหาชน)

9.น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 8 ถือหุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน)

10.นายอนุชา บูรพชัยศรี ส.ส.กทม. ถือหุ้น บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

11.นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร ถือหุ้น โทเทิ่ลแอคเซสคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

12.นายเทียนชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตราด ถือหุ้นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

13.นางนิภา พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี โดย นพ.กำธร พริ้งศุลกะ สามี ถือหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

อีก14ส.ส.เฮกกต.ยกคำร้อง

นายสุทธิพลกล่าวว่า นอกจากนี้ กกต.ยังมีมติเสียงข้างมาก ยกคำร้อง ส.ส. 14 ราย เนื่องจากถือหุ้นในบริษัทที่ไม่เข้าลักษณะต้องห้าม คือ 1.นายสกล ภัททิยกุล ส.ส.กทม. 2.นายวินัย เสนเนียม ส.ส.สงขลา 3.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม. 4.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม. 5.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ 6.นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก 7.นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช

8.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา 9.พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.สัดส่วน กลุ่มที่ 1 10.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.กทม. 11.นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ส.ส.นครสวรรค์ 12.นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม. 13.นายวิชัย ล้ำสุทธิ ส.ส.ระยอง และ 14.นายประกอบ จิรกิติ ส.ส.สัดส่วน ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีต ส.ส.กทม.นั้น กกต.ไม่ได้พิจารณา เพราะได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว

สุเทพพ้นส.ส.แต่ไม่หลุดรมต.

กรณีนายสุเทพถูกร้องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อถูกร้องก็ขายหุ้น ต่อมาเดือนธันวาคมปีเดียวกันได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ ดังนั้นจึงถือว่าสิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.เท่านั้น เพราะผู้ร้องระบุเพียงให้ กกต.ตรวจสอบเฉพาะการสิ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.เท่านั้น ตำแหน่งรัฐมนตรีจึงไม่ได้สิ้นสุดลงด้วย ทั้งนี้ กกต.จะร่างคำวินิจฉัยเพื่อยื่นให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป นายสุทธิพลกล่าว

นายสุทธิพลกล่าวว่า การวินิจฉัยำนวนดังกล่าวมีบริษัทที่แตกต่างจาก 16 ส.ว.เพิ่มเติม 4 บริษัท คือ 1.บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ 4.บริษัท โกลด์พลังงาน จำกัด (มหาชน) โดย กกต.มีความเห็นต่างอนุกรรมการ ประเด็นที่อนุกรรมการเห็นว่า ส.ส.ไม่เข้าข่ายต้องห้าม เพราะถือครองมาก่อนจะรับตำแหน่ง

เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า การลงมติครั้งนี้ กกต.เสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยไม่ได้แตกต่างจากที่เคยลงมติ ส.ว.ทั้ง 16 คน เพราะยึดตามแนวทางเดิม การวินิจฉัยสำนวนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านอีก 1 สำนวน กกต.ก็จะใช้แนวทางเดียวกัน ยืนยันว่าการพิจารณา กกต.ไม่คิดว่าจะเกิดวิกฤตการเมืองหรือไม่ และไม่ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ยึดหลักการตามกฎหมาย เราไม่มีเจตนากลั่นแกล้งใคร ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยแตกต่างจาก กกต.ก็ได้

กกต.ยกคำร้องเมียกษิตถือหุ้น

นายสุทธิพลกล่าวว่า ที่ประชุม กกต.ยังพิจารณากรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบคุณสมบัตินายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่ามีการกระทำส่อต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ประกอบมาตรา 265 วรรค (2) และมาตรา 265 วรรค 3 เนื่องจากนางจินตนา ภรรยานายกษิต ถือหุ้นบริษัท ทางด่วน กรุงเทพ จำกัด จำนวน 100 หุ้น เป็นเงิน 1 แสนบาท ที่ประชุม กกต.พิจารณาผลการไต่สวนของอนุกรรมการ เห็นว่านางจินตนาถือหุ้นบริษัทดังกล่าวในประเภทหุ้นกู้ ซึ่งถือว่าบริษัทเป็นผู้ยืมเงินจากผู้ถือหุ้น โดยมีผลตอบแทนอยู่ในรูปแบบดอกเบี้ยและมีกำหนดการถอนที่แน่นอน

ถือว่าผู้ถือหุ้นมีลักษณะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ไม่มีอำนาจก้าวก่ายแทรกแซงกิจการหรือเข้าไปจัดการในบริษัท ดังนั้น จึงไม่เข้าข่ายต้องสิ้นสมาชิกภาพการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 182(7) กกต.จึงมีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง นายสุทธิชัยกล่าว

แจงสุขุมพันธุ์รอด ออกส.ส.ก่อน

ส่วนกรณีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งนางสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา ภรรยาถือหุ้นภายหลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายสุทธิพล กล่าวว่า เป็นเพราะม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณา ขณะที่ ส.ส.อีก 14 คน ที่เข้าข่ายในตอนแรก แต่กกต.วินิจฉัยว่าไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นการถือหุ้นกู้ ไม่ใช่หุ้นสามัญ

นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า มติกกต.แตกต่างจากอนุกรรมการ เพราะอนุกรรมการเห็นว่าผู้ที่ถือหุ้นมาก่อนอยู่แล้ว ก็สามารถถือต่อไปได้ แต่ที่ประชุม กกต.ได้ส่งเรื่องให้กรรมการที่ปรึกษาทางกฎหมายของกกต.แล้ว ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การถือหุ้นมาก่อนถือว่าต้องห้ามเหมือนกัน หากหุ้นเข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนุญ

ทั้งนี้มี 4 บริษัทใหม่ที่การเข้าไปถือหุ้นเข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ บริษัท โทเทิลแอคแซสคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทสื่อ และบริษัท โกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับสัมปทานกิจการไฟฟ้าจากรัฐ นายสุทธิพล กล่าว

อีก44ส.ส.รอลุ้นชะตากรรม23ก.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานยังมีสำนวนที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา และนายสมคิด หอมเนตร ร้องเรียนให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ 44 ส.ส. ที่เข้าข่ายถือครองหุ้นในบริษัทต้องห้าม เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย 23 คน พรรคประชาราช 3 คน พรรคกิจสังคม 1 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 8 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 3 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 2

ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวมีรัฐมนตรี 6 คน ได้แก่ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร รองนายกฯ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการไต่สวนขอขยายระยะเวลาการสอบสวนไปอีก 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 23 กรกฎาคม

สุเทพยันไม่กระทบเสถียรภาพรบ.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงติ กกต.ดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบเลย เมื่อพร้อมจะชี้แจงให้ทราบในภายหลัง มีอยู่ในใจแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่งผลต่อเสถียรภาพหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่กระทบ พร้อมพยายามเดินฝ่าสื่อมวลชนไปขึ้นรถประจำตำแหน่ง และกล่าวว่า ไม่หนักใจ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า มั่นใจว่าไม่กระทบต่อรัฐบาลแน่นอน เพราะหากศาลยืนคำวินิจฉัยเหมือนกับ กกต. ส.ส.เขตก็เลือกตั้งใหม่ได้ เพราะทุกคนถอนหุ้นไปหมดแล้ว ยกเว้น ส.ส.สัดส่วน ซึ่งมีอยู่ 2 คน คือ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี และ น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ ที่หากศาลตัดสินให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ก็ต้องเลื่อนบัญชีรายชื่อลำดับต่อไปขึ้นมาแทน

ส่วนเรื่องที่เรียกร้องให้ 13 ส.ส.แสดงสปิริตลาออกทันทีโดยไม่ต้องต่อสู้ในชั้นศาลนั้น คงจะไม่ได้ เพราะกรณีนี้ไม่ใช่ความผิด และไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแสดงสปิริตอะไร และยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่กระทบต่อการโหวตกฎหมายในสภา แม้จำนวน ส.ส.ลดลง แต่กฎหมายกำหนดให้องค์ประชุมสภาใช้เสียงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.เท่าที่มีอยู่ จึงไม่น่าจะมีปัญหาต่อองค์ประชุมและเสถียรภาพรัฐบาลแต่อย่างใด ประธานวิปรัฐบาลกล่าว

จุติ-สัมพันธ์พร้อมเลือกตั้งใหม่

นายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา โทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเองที่ไม่อ่านกฎหมายให้ดี จากนี้ต้องกลับไปเตรียมตัวเพื่อเลือกตั้งใหม่

นายสัมพันธ์ ทองสมัคร กล่าวว่า เมื่อ กกต.วินิจฉัยว่าผิดก็ต้องเป็นไปตามนั้น ก็ต้องไปเลือกตั้งกันใหม่ แต่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ทั้งนี้ ตนถือหุ้นมาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว และไม่ได้เข้าไปมีอิทธิพลอะไรในบริษัท รวมทั้งคุณสมบัติของ ส.ส.ก็ไม่ได้เขียนตรงนี้ไว้ ต่อไปจะไม่ถือหุ้นอะไรอีก ขนาดพันธบัตรรัฐบาลยังไม่กล้าซื้อเลย กลัวจะถูกกล่าวหาว่าผูกขาดกับรัฐบาล

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี กล่าวว่า ไม่เป็นไร แต่ไม่เห็นด้วยกับ กกต.อยู่แล้ว เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 เกี่ยวกับคุณสมบัติของ ส.ส.และ ส.ว. ไม่ได้มีคำว่า ไม่คงไว้ในการถือหุ้น จึงสามารถถือหุ้นได้โดยไม่ต้องขาย แต่ห้ามซื้อหุ้นเพิ่มเท่านั้น

คงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด กกต.จะมีมติอย่างไรก็ไม่ต้องเชื่อ เพราะเป็นแค่คนไม่กี่คน เขาอาจจะไม่มีความรู้เรื่องหุ้น เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนว่าคนร่างกฎหมายควรจะเขียนให้ชัด นายไตรรงค์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook