15 เรื่องผู้หญิงเปลี่ยนโลก ตลอดปี 2019

15 เรื่องผู้หญิงเปลี่ยนโลก ตลอดปี 2019

15 เรื่องผู้หญิงเปลี่ยนโลก ตลอดปี 2019
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกลุ่มนักบินอวกาศหญิงล้วนบนสถานีอวกาศ สู่ผู้หญิงชาวซูดานที่เป็นผู้นำการปฏิวัติของประเทศ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญมากมายเกิดขึ้นที่ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของผู้หญิงจากทั่วโลก วันนี้ Sanook Newsจึงขอย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่น่าจดจำเหล่านั้น เพื่อเฉลิมฉลองพลังของผู้หญิงที่ลุกขึ้นสู้กับความไม่เท่าเทียมและเรียกร้องสิทธิที่พวกเธอพึงได้ และพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าผู้หญิงก็มีความสามารถไม่ด้อยกว่าผู้ชายเลย

1. ภารกิจ Spacewalk หญิงล้วน

ในเดือนตุลาคม Jeessica Mier และ Christina Koch สองนักบินอวกาศหญิงขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ออกทำภารกิจ Spacewalk ซึ่งเป็นการทำภารกิจที่เป็นทีมนักบินอวกาศหญิงล้วนเป็นครั้งแรก โดยพวกเธอเดินทางออกไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนอะไหล่แบตเตอรี่

แผนการส่งนักบินอวกาศหญิงล้วนออกไปทำภารกิจ Spacewalk ถูกเลื่อนมาจากเดือนมีนาคม เมื่อ NASA ค้นพบว่าพวกเขาไม่มีชุดนักบินอวกาศที่มีขนาดเหมาะสมสำหรับนักบินอวกาศผู้หญิงสองชุด ซึ่งนั่นชี้ให้เห็นการเหยียดเพศที่ผู้หญิงในแวดวง STEM ยังต้องเผชิญ

2. ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาเรียกร้องการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม

หลังคว้าแชมป์ FIFA เป็นครั้งที่ 4 ในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกเมื่อเดือนกรกฎาคม ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาก็เบนความสนใจไปยังเป้าหมายนอกสนาม นั่นคือ การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมสำหรับการทำงานที่เหมือนกัน

นักฟุตบอลหญิงทีมชาติตัดสินใจยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกับนักฟุตบอลชาย โดยทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกาถูกมองว่าประสบความสำเร็จมากกว่าทีมฟุตบอลชายร่วมชาติ และยังทำรายได้มากกว่าทีมชายในช่วงสองปีที่ผ่านมา กระนั้น ค่าตอบแทนที่พวกเธอได้รับก็ยังไม่เทียบเท่ากับทีมฟุตบอลชาย

3. Greta Thunberg ปลุกกระแสวิกฤติโลกร้อนในการประชุม UN Climate Summit

Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 16 ปี กลายมาเป็นผู้นำการปลุกกระแสวิกฤติโลกร้อนในปี 2019 การเคลื่อนไหวของ Thunberg เริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอโดดเรียนไปนั่งประท้วงอยู่หน้ารัฐสภาสวีเดน เรียกร้องให้มีการปกป้องโลกใบนี้เพื่ออนาคต และกลายเป็นการเรียกร้องระดับโลก ในเดือนกันยายน 2019 Thunberg ล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อไปกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม UN Climate Summit ที่นิวยอร์ก โดยเธอได้ประฌามผู้นำประเทศทั่วโลกที่เพิกเฉยต่อภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น

“พวกคุณหันมาหาความหวังจากพวกเราที่เป็นเยาวชน คุณกล้าดียังไง” Thunberg กล่าว “พวกคุณขโมยความฝันและวัยเด็กของฉันไป ด้วยคำพูดจอมปลอมของพวกคุณ ฉันยังถือว่าเป็นคนที่โชคดี ผู้คนอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ผู้คนกำลังล้มตาย และระบบนิเวศก็กำลังพังทลาย”

4. Esther Duflo ชนะรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ กลายเป็นผู้หญิงคนที่สองและอายุน้อยที่สุดที่ชนะรางวัลนี้

Esther Duflo นักเศรษฐศาสตร์วัย 46 ปี ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ พร้อมด้วย Abihijit Banerjee สามีของเธอ และ Micheal Kremer โดยพวกเขาทำงานเพื่อหาวิธีลดความยากจนที่กระจายอยู่ทั่วโลก พร้อมทั้งหาสาเหตุของความยากจน และวิธีการที่คนยากจนตอบสนองต่อการศึกษา การดูแลสุขภาพ เกษตรกรรม และอื่น ๆ

5. มีอีโมจิรูปประจำเดือนให้ใช้แล้ว

“อีโมจิรูปประจำเดือน” เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะหยุดยั้งความเชื่อผิด ๆ และทำลายการไม่ยอมพูดคุยเรื่องประจำเดือน ซึ่งอีโมจินี้เป็นรูปหยดเลือด และมีให้ใช้แล้วในปี 2019 การปล่อยอีโมจิดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการอัปเดตของ Apple และมาจากการผลักดันขององค์กร Plan International UK

อีโมจิเป็นหนึ่งในภาษาโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และอีโมจิประจำเดือนก็มีเป้าหมายที่จะช่วยผู้หญิงและเด็กผู้หญิงให้สามารถพูดคุยกันเรื่องรอบเดือนของพวกเธอได้

6. ภาพถ่ายแรกของหลุมดำเผยโฉมให้เห็นด้วยฝีมือของ Katie Bouman นักวิทยาศาสตร์หญิงอเมริกัน

โลกให้เห็นภาพถ่ายแรกของหลุมดำ ในเดือนเมษายน ซึ่งต้องขอบคุณ Katie Bouman นักศึกษาปริญญาเอก วัย 29 ปีจากสหรัฐอเมริกา เธอและทีมของเธอร่วมกันพัฒนาอัลกอริทึมที่นำไปสู่ภาพของหลุมดำขนาดใหญ่ในกาแล็กซี Messier 87 โดยภาพถ่ายดังกล่าวช่วยปฏิวัติความเข้าใจเรื่องหลุมดำให้มากขึ้น

7. ปีแห่งการทำลายสถิติของผู้หญิงในวงการกีฬา

นักกีฬาผู้หญิงหลายคนได้ทำลายสถิติต่าง ๆ ในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา เป็นแบบอย่างให้กับเด็กผู้หญิงทั่วโลกและพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถประสบความสำเร็จในแวดวงกีฬาได้เฉกเช่นผู้ชาย

Marta Vieira da Silva ซูเปอร์สตาร์ฟุตบอลชาวบราซิล ทำประตูที่ 17 ของเธอในฟุตบอลโลก ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักเตะที่ทำประตูสูงสุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกทั้งชายและหญิง ขณะเฉลิมฉลองการทำลายสถิติของเธอ Marta ได้ชี้ไปที่รองเท้าสตั๊ดซึ่งปรากฏสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมสีชมพูและสีฟ้า แสดงให้เห็นความยึดมั่นของเธอที่จะสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้กับวงการกีฬา

Simone Biles นักยิมนาสติกชาวสหรัฐอเมริกา กลายเป็นนักยิมนาสติกที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก หลังคว้าเหรียญทองที่ 25 ของเธอได้สำเร็จ และในการแข่งขัน World Championships ที่ประเทศเยอรมันนี Biles ก็สามารถคว้า 5 เหรียญทองกลับบ้านไปได้ เช่นเดียวกับ Shelly-Ann Fraser-Pryce นักวิ่งสาวชาวจาไมก้า วัย 32 ปี ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก หลังคว้าชัยชนะจากการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชิงแชมป์โลก

8. การตัดสินคดีข่มขืนในสเปน

ในที่สุด หญิงสาวชาวสเปนก็ได้รับความเป็นธรรม หลังจากที่เธอโดนกลุ่มผู้ชายที่เรียกตัวเองว่า “แก๊งหมาป่า” ข่มขืนในปี 2016 ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นได้ตัดสินโทษสถานเบาให้กับผู้ชายที่ก่อเหตุทั้งหมด 5 คน โดยศาลระบุว่าผู้เสียหายไม่ได้แสดงท่าทีขัดขืน ทั้งยังใช้ภาพถ่ายจากโซเชียลมีเดียของผู้เสียหายเพื่อแสดงว่าเธอมีท่าทีมีความสุขหลังเกิดเหตุการณ์ได้เพียง 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 ศาลสูงสุดของสเปนได้กลับคำตัดสิน และตัดสินให้ชายผู้ก่อเหตุมีความผิดโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราและเพิ่มโทษจำคุก แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการกล่าวโทษเหยื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

9. ผู้หญิงที่บินได้สูงขึ้น

ในปี 2019 เปรียบเสมือนปีประวัติศาสตร์สำหรับผู้หญิงในแวดวงการบิน เมื่อผู้หมวด Shivangi วัย 24 ปีจากประเทศอินเดีย กลายเป็นนักบินหญิงคนแรกของกองทัพเรืออินเดีย เติมเต็มความฝันที่ยาวนานในการเป็นนักบินของเธอได้สำเร็จ ทั้งนี้ ยังมีนักบินหญิงอีก 2 คนที่ได้เข้าร่วมกองทัพเรือในเดือนธันวาคม 2019 อีกด้วย

ขณะที่สายการบินพาณิชย์ก็ไม่น้อยหน้า กัปตัน Wendy Rexon และนักบินผู้ช่วย Kelly Rexon ลูกสาวของเธอ กลายเป็นคู่นักบินแม่ลูกคู่แรกของโลก โดยทั้งคู่ได้ทำหน้าที่พาผู้โดยสารเดินทางออกจากนิวยอร์ก

10. ผู้หญิงในซูดานเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลง

ในเดือนเมษายน รูปของ Alaa Salah ที่สวมใส่ชุดสีขาวและยืนอยู่บนหลังคารถ ขณะตะโกนเป็นต้นเสียงในการชุมนุมประท้วง ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วอินเตอร์เน็ต ภาพถ่ายดังกล่าวถูกถ่ายขึ้นระหว่างการประท้วงเพียง 1 วันก่อนที่ประธานาธิบดีของประเทศซูดานจะถูกจับกุม ผู้หญิงและเยาวชนเป็นพลังขับเคลื่อนของการเคลื่อนไหวในซูดาน โดยมีจำนวนมากกว่า 70% ของผู้เข้าร่วมประท้วงทั้งหมด

11. 3 ประเทศกับความพยายามยุติปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก

ประเทศอียิปต์ แทนซาเนีย และอินโดนีเซีย ประกาศใช้กฎหมายห้ามการแต่งงานในวัยเด็ก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเด็กผู้หญิง อนาคตและการศึกษาของพวกเธอ โดยในประเทศแทนซาเนีย ศาลสูงสุดของประเทศได้ประกาศห้ามการแต่งงานในวัยเด็กตั้งแต่ปี 2016 แต่ได้มีการเพิ่มกฎ โดยสั่งห้ามการแต่งงานของเด็กผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และเพิ่มอายุของผู้หญิงที่สามารถแต่งงานได้เป็น 18 ปี

ในเดือนกันยายน รัฐสภาของประเทศอินโดนีเซียได้เพิ่มอายุของเด็กผู้หญิงที่สามารถแต่งงานได้จาก 16 ปี เป็น 19 ปีหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้องว่ากำหนดอายุที่แตกต่างกันของผู้หญิงและผู้ชายที่จะแต่งงานเป็นการเลือกปฏิบัติ

12. ฟินแลนด์จัดตั้งรัฐบาลจาก 5 พรรคการเมืองที่นำโดยผู้หญิงทั้งหมด พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีหญิงอายุน้อยที่สุดในโลก

Sanna Marin วัย 34 ปี กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในโลก หลังการเลือกตั้งของประเทศฟินแลนด์ ในเดือนธันวาคม เธอได้เข้าสาบานรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลผสม จากทั้งหมด 5 พรรคการเมือง ที่นำโดยผู้หญิงทั้งหมด โดย Marin เป็นผู้หญิงคนที่สามและอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

13. มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศฉบับใหม่ เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงและการคุกคาม ถูกประกาศใช้ในการประชุมแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 108

ในเดือนมิถุนายน องค์การแรงงานระหว่างประเทศประกาศใช้อนุสัญญาและข้อเสนอแนะฉบับใหม่เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงาน โดยอนุสัญญาและข้อเสนอแนะฉบับดังกล่าวนิยามว่า ความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงานถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์

14. กฎหมายใหม่ ๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียม

บอตสวานา บราซิล และเอกวาดอร์ ต่างปรับปรุงกฎหมายของประเทศเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของสมาชิกกลุ่ม LGBTQ+ ในปี 2019 หลังจากเกิดแคมแปญและการเรียกร้องกระจายไปทั่ว ในที่สุดบอตสวานาก็ประกาศให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (Homosexuality) ไม่ใช่อาชญากรรมอีกต่อไป โดยผู้พิพากษาประกาศว่าการทำให้ความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันกลายเป็นอาชญากรรมนั้น เปรียบเสมือนการคุกคามสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ขณะที่ประเทศบราซิล โรคเกลียดกลัวกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน หรือเกลียดกลัวคนข้ามเพศถือเป็นอาชญากรรม ในเดือนมิถุนายน ศาลสูงสุดลงคะแนนให้ทุกการกระทำที่เลือกปฏิบัติและแสดงความเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นอาชญากรรม และอาจติดคุกสูงสุดถึง 5 ปี เช่นเดียวกับศาลสูงสุดของเอกวาดอร์ ที่ประกาศให้ผ่านกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในเดือนมิถุนายน โดยเอกวาดอร์ยังเป็นประเทศเดียวในละตินอเมริกาที่ผ่านกฎหมายการแต่งงานในเพศเดียวกันอีกด้วย

15. ผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำในสถาบัน EU

หลังจาก 60 ปีที่มีแต่ผู้ชายนั่งดำรงตำแหน่งประธานสถาบันสำคัญของสหภาพยุโรป ในปี 2019 ผู้หญิงสองคนก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานบ้าง โดย Ursula von der Leyen จากประเทศเยอรมันนีได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ขณะที่ Christine Lagarde แห่งฝรั่งเศสได้รับตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป

ปี 2019 ยังมีเหตุการณ์และเรื่องราวของผู้หญิงอีกมากมายที่ควรค่าแก่การจดจำ อย่างไรก็ตาม เรายังพบเจอการกระทำที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติอยู่บ่อยครั้ง หน้าที่ของเราทุกคนจึงเป็นการขับเคลื่อนสังคมให้ไปสู่ความเท่าเทียมที่แท้จริง โดยไม่จำเป็นว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น ในปี 2020 ที่กำลังจะมาถึง จึงควรเป็นหมุดหมายของสร้างโลกแห่งความเท่าเทียมทางเพศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook