พิษ Core Banking พันล้าน ''ขรรค์'' ดิ้นสู้ รั้งเก้าอี้เอ็มดี ธอส.

พิษ Core Banking พันล้าน ''ขรรค์'' ดิ้นสู้ รั้งเก้าอี้เอ็มดี ธอส.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ไม่เกินสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ผลสรุปของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการทุจริต 499 ล้านบาทในธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่มีนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เป็นประธานคณะกรรมการ จะได้ข้อสรุปเสนอต่อนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โดยที่ก่อนหน้านี้ ประธานกรรมการธอส. ''นายนริศ ชัยสูตร'' ยอมรับว่า คณะกรรมการพบในเบื้องต้นว่า การทุจริตดังกล่าวนอกจากเกิดจากพนักงานไม่สุจริตแล้วยังเกิดจากความไม่พร้อม การขาดการสื่อสารในองค์กรที่ดี และการขาดความเข้าใจในระบบ Core Banking System (CBS) อย่างเพียงพอ

ยิ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ธอส.นำระบบคอร์ แบงกิ้ง (Core Banking) หรือระบบคอมพิวเตอร์หลักมาใช้ (ตั้งแต่ปลายปี 2550) ทดแทนระบบคอมพิวเตอร์เดิม คือ ระบบ Tandem S Series ที่ใช้มาแล้วประมาณ 20 ปี และจำเป็นต้องเปลี่ยนด้วยเหตุที่ระบบเก่านั้นไม่มีการผลิตแล้ว

*****คอร์แบงกิ้งพ่นพิษลูกค้าป่วน

เป็นที่จับตาว่าความผิดพลาดที่เกิดจากระบบคอร์ แบงกิ้ง ที่สุดแล้วอาจนำมาสู่ประเด็นใหญ่ที่ต้องหาคนรับผิดชอบ และกระทรวงการคลังอาจตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบวินัยผู้บริหาร

ซึ่งก่อนหน้านี้ ขุนคลัง ''กรณ์ จาติกวณิช'' เคยให้ความเห็นว่า เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น (กรณีปัญหาทุจริต) ซึ่งเท่าที่ดูก็เหมือนความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากระบบก็ต้องมาดูว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อระบบเป็นใคร

หลายคนมองเผื่อไปข้างหน้าแล้วว่า ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ ''ขรรค์ ประจวบเหมาะ''จะสั่นคลอนด้วยเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ บวกกับประเด็น ''การเมือง''ที่อาจต้องการเปลี่ยนหัวเรือธอส.เป็นคนที่การเมืองไว้ใจ

ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดจากระบบคอร์แบงกิ้ง ที่ผ่านมา มีหลายกรณี เช่น ลูกค้าถูกคิดดอกเบี้ย 13.5% ทั้งที่ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ ,ปัญหาจากการจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากประจำเกิน หรือล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2552 ระบบคอมพิวเตอร์ของธอส.ล่มจนไม่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ตามปกติตลอดทั้งวันจนปิดทำการ จนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้ระบบ Manual รวมทั้งประเด็นใหญ่จากกรณีการทุจริตของพนักงาน 499 ล้านบาท ฯลฯ

****ตรวจรับระบบแล้วแค่บางส่วน

เช่นเดียวกับคำถามคาใจเกี่ยวกับงบลงทุนในระบบคอร์ แบงกิ้งทั้งหมด คือ เมื่อรวมงบลงทุนในเบื้องต้นวงเงินรวม 600 ล้านบาท กับงบลงทุนเพิ่มเติมที่ต้องใช้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์อีกประมาณ 200 ล้านบาท (Customize) รวมแล้วเป็น 800 ล้านบาทนั้นจะจบเพียงเท่านี้จริงหรือไม่ และที่ผ่านมา ธอส. ตรวจรับได้อย่างไรเมื่อระบบไม่สมบูรณ์

ซึ่งพบว่าหลังจากที่ลงระบบคอร์ แบงกิ้งแล้วเสร็จ เมื่อ 19 พ.ย.2551 มีการชำระเงินไปแล้ว 70% ของวงเงิน 600 ล้านบาท มีการตรวจรับเพียงบางส่วน แต่

ในระหว่างนี้ ทางธอส.ยังอยู่ระหว่างให้ บ.อินโฟซิสฯปรับปรุงแก้ไขระบบเพื่อให้ใช้งานได้สมบูรณ์ ดังนั้นงานบางด้านจึงยังไม่มีการตรวจรับและยังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่อินโฟซิสฯ

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามว่า หลังจากนี้กระบวนการจะเป็นอย่างไรกับความล่าช้าที่เกิดขึ้น

****ย้อนรอยคอร์ แบงกิ้งพันล.

ย้อนที่มาที่ไปของการนำระบบ Core Banking มาใช้ เมื่อปี 2548 ธอส.ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทดาต้าแมท จำกัด ใน 4 สัญญา คือ ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จ้างวางระบบ ฝึกอบรมพนักงาน และบำรุงรักษา ด้วยวงเงิน 600 ล้านบาท เพื่อซื้อซอฟต์แวร์จากบริษัท อินโฟซิส เทคโนโลยี จำกัด (Infosys Technologies Ltds.) ซึ่งถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการซอฟต์แวร์ของโลก สัญชาติอินเดีย เป็นผู้ติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ให้แก่ธอส.

หรือเรียกว่าระบบ ฟินาเคิล เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านแบงกิ้ง และเป็นซอฟต์แวร์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นโซลูชันด้านธุรกิจธนาคารหลัก รวมทั้งมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจธนาคารในปัจจุบัน

โดยขณะนั้นมี 2 บริษัทที่เสนอตัวเข้าประมูลงานนี้ แต่ระบบของอินโฟซิส เป็นระบบที่ทันสมัยมากกว่า ประกอบกับราคาที่เสนออยู่ที่ 600 ล้านบาท ขณะที่อีกเจ้าหนึ่งเสนอราคาถึง 1,200 ล้านบาทซึ่งมากกว่าเท่าตัวและระบบไม่ได้ทันสมัยเท่า

นั่น !เป็นเหตุผลที่ตอบคำถามว่าเหตุใดบอร์ดธอส.จึงไฟเขียวให้ทำสัญญาดังกล่าว

ขณะที่กรรมการผู้จัดการ ธอส. เคยกล่าวไว้ว่า ระบบดังกล่าวจะทำให้ในอนาคตสามารถรับปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อปีได้เกือบอีกเท่าตัว หรือ 100% จากปัจจุบันที่ธอส.ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเฉลี่ยใกล้เคียงปีละ 100,000 ล้านบาท

แม้ว่าการนำระบบคอร์ แบงกิ้งมาใช้ จะมีที่มาที่ไปชัดเจน แต่ความผิดพลาดของระบบกำลังเป็นแรงกดดันและสั่นคลอนเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของ ''ขรรค์ '' โดยเฉพาะข้อกำหนดของบทบาทคณะกรรมการธนาคาร ฝ่ายบริหาร และภาครัฐต่อธนาคารและประชาชน ที่กำหนดว่า คณะกรรมการธนาคารและฝ่ายบริหารมีหน้าที่รับผิดชอบเชิงจริยธรรม และตามกฎหมายต่อธนาคาร ภาครัฐ (กระทรวงการคลัง) และประชาชน โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง หรือ Duty of care

กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าผู้บริหารระดับสูงระมัดระวังอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่

ท้ายที่สุดไม่ว่าผลสอบในเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรควรรับผิดชอบแค่ไหน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงและความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ขององค์กรเท่านั้น ที่จะทำให้ธอส.ทำหน้าที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่แข็งแรงต่อไปได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook