โซเชียลวิจารณ์แซ่ด! บริษัทยักษ์ใหญ่เขี่ย "สาวข้ามเพศ" ไม่รับเข้าทำงาน

โซเชียลวิจารณ์แซ่ด! บริษัทยักษ์ใหญ่เขี่ย "สาวข้ามเพศ" ไม่รับเข้าทำงาน

โซเชียลวิจารณ์แซ่ด! บริษัทยักษ์ใหญ่เขี่ย "สาวข้ามเพศ" ไม่รับเข้าทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"น้องแพรี่" หญิงข้ามเพศที่กำลังกลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อน หลังยื่นสมัครงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่กลับถูกทิ้งฝันไว้กลางทาง เพราะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศที่กำเนิด บริษัทไม่ยอมรับให้เข้าทำงาน

(14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลมีเดียกำลังให้ความสนใจประเด็นดราม่าการจ้างงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกแห่งหนึ่ง หลังพบว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยการไม่จ้างสาวประเภทสองเข้าทำงาน เพียงเพราะมีเพศสภาพไม่ตรงตามเพศกำเนิด ทำให้เป็นประเด็นที่กำลังถูกวิจารณ์อยู่ในขณะนี้

นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์เรื่องราวลงเพจเฟซบุ๊ก ที่กำลังได้รับความสนใจจากโซเชียลมีเดียเป็นกระแสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพบเรื่องราวการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนข้ามเพศและรักร่วมเพศในประเทศไทยของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง หลังปฏิเสธที่จะรับกลุ่มคนประเภทนี้ร่วมเข้าทำงานด้วย

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นกับ "น้องแพรี่" ผู้ที่นิยามตัวเองเป็น "สาวประเภทสอง" น้องแพรี่เป็นบุคคลข้ามเพศ ไม่เคยปิดบังเพศสภาพของตัวเอง และใช้ชีวิตด้วยความภาคภูมิใจ น้องแพรี่เป็นสาวประเภทสองสู้ชีวิต ปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 ก็ออกหางานทำ เพราะแบกรับภาระร่วมกับพี่ชายในการดูแลพ่อที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ

น้องแพรี่ ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน และเล็งเห็นว่าประเด็นนี้ควรถูกยกระดับให้เป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อให้แพรี่และครอบครัวได้เข้าถึงความยุติธรรม ด้วยคำถามที่ว่า ทำไมสาวประเภทสองจะไม่มีความสามารถเพียงพอ หลังจากคร่ำหวอดอยู่ในวงการขายและบริการด้านเครือข่ายและโทรศัพท์มือถือมายาวนานกว่า 5 ปี

ทั้งนี้ น้องแพรี่ ได้ไปสมัครงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในตำแหน่งพนักงานขายโทรศัพท์มือถือประจำที่ห้างสรรพสินค้าใน จ.สุราษฎร์ธานี บ้านเกิดของเธอ โดยเป็นการสมัครงานผ่านตัวแทนบริษัทจัดหางานข้ามชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งน้องแพรี่ได้ทำการยื่นเอกสารและสอบคัดเลือกไม่ต่างกับทุกคนที่สมัครงานนี้ เธอผ่านการทดสอบวัดทักษะต่างๆ ด้วยคะแนนค่อนข้างดี

ในเวลาต่อมา ทางตัวแทนจัดหางานได้แจ้งว่าให้เธอลาออกจากงานประจำในปัจจุบันได้ สร้างความหวังว่าเธอจะได้รับตำแหน่งงานในที่ใหม่อย่างแน่นอน หลังจากนั้นเธอก็ซื้อตั๋วเครื่องบิน เตรียมเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำการปฐมนิเทศเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่

แต่ยังไม่ทันได้ขึ้นเครื่องบิน น้องแพรี่ กลับได้รับเอกสารแจ้งจากบริษัทว่า เอกสารของเธอมีปัญหา เนื่องจากเธอใช้คำนำหน้าชื่อว่า "นาย" แต่เพศสภาพของเธอเป็นผู้หญิง ทำให้บริษัทไม่สามารถลงทะเบียนประวัติของเธอในสารบบได้ จนกว่าเธอจะรับปากว่าจะเข้าร่วมการอบรมพนักงานใหม่ ด้วยบุคลิกภาพคำนำหน้าชื่อที่ระบุในเอกสาร เท่ากับว่าเธอต้องมาปรากฏตัวที่บริษัทตามเพศกำเนิดของตัวเองเท่านั้น

ทั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวให้เหตุผลว่า ทางบริษัทไม่มีนโยบายรับสาวประเภทสองหรือบุคคลข้ามเพศเข้าร่วมงาน ในกรณีของเธอนั้นเข้าข่ายเป็นการคัดสรรคนที่ผิดพลาด เพราะเข้าใจว่าเธอเป็นเพศหญิงโดยกำเนิด หากทางบริษัทตัวแทนจัดหางานทราบตั้งแต่แรก เธอจะต้องถูกคัดชื่อออกจากการสมัครตั้งแต่แรก เพราะเป็นนโยบายหลักของบริษัท

10sexauldiscriminate-1

น้องแพรี่มองว่า การขอให้เธออดทนรัดเต้านมและใส่วิกผม ทำตัวเป็นผู้ชายทำงานสัปดาห์ 4-5 วัน ในช่วงที่เข้าปฏิบัติการในสำนักงานใหญ่ นับเป็นการคุกคามสิทธิส่วนตัวของเธอ อีกทั้งยังเสนอให้เธออดทนเพื่อรอกลับมาประจำอยู่ที่สาขาบ้านเกิดของเธอ จากนั้นค่อยแต่งกายอย่างไรก็ได้ ทำให้เธอตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่อยากเป็นตัวตลกในสายตาใคร

หลังจากเธอยืนยันถึงสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตัวเอง ผลที่ตามมาก็คือ น้องแพรี่ถูกตัดสิทธิ์ในการร่วมอบรมเป็นพนักงานใหม่ของบริษัทดังกล่าว พี่ชายก็พยายามติดต่อช่วยเจรจาอีกทาง แต่ก็พบกับพฤติกรรมเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติ กระทั่งเธอเตรียมจะฟ้องต่อกรมคุ้มครองแรงงานฯ และผลที่ได้ตามมาคือข้อเสนอให้เธอรับตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวที่สาขาเกาะสมุยแทน

ในท้ายที่สุด น้องแพรี่ ได้รับการชดเชยจากบริษัทตัวแทนจัดหางาน เป็นเงินค่าโดยสาร 400 บาท จากจำนวนที่เธอมีสิทธิ์เบิกได้ 800 บาท โดยเธอจะต้องไปเรียกเก็บจำนวนที่เหลือจากผู้แทนจากฝ่ายขายของบริษัทยักษ์ใหญ่เอง

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนออกมาวิเคราะห์ว่า ปัญหาดังกล่าวสวนทางกับการที่ประเทศไทยได้ประกาศยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ที่ระบุว่า ไทยจะยกระดับมาตรฐานแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ อันเป็นหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน โดยอนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้มาได้เพียงแค่ปีเศษเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดข้อมูลและศึกษานโยบายต่างๆ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก แต่กลับพบว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความแตกต่างในด้านเพศสภาพ โดยพบว่ามีนโยบายแนวปฏิบัติที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเอาไว้อย่างชัดเจน ระบุเอาไว้เมื่อ 3 ปีก่อน

อีกทั้งเมื่อปีที่แล้ว บริษัทดังกล่าวก็เพิ่งจะเน้นย้ำและให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นพฤติกรรมที่คุกคามหรือเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของ อายุ ความพิการ ชาติพันธุ์ เพศ สถานะการสมรส สัญชาติดั้งเดิม ความเชื่อทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ เพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ สถานะการเป็นสมาชิกสภาพแรงงาน หรือ สถานะอื่นใดที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในระดับพื้นที่ในการจ้างงานและการปฏิบัติใดๆ ต่อลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม หลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ากำลังได้รับเสียงตอบรับจากสังคมเพิ่มมากขึ้น โลกโซเชียลมีเดียกำลังให้ความสนใจในประเด็นนี้ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์และตีแผ่พฤติกรรมความเลื่อมล้ำในมุมต่างๆ ของสังคม ไม่ใช่แค่เพียงการเลือกปฏิบัติของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook