สวนสัตว์สงขลา ประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์ลูกนกเงือกน้อยตัวแรก

สวนสัตว์สงขลา ประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์ลูกนกเงือกน้อยตัวแรก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สวนสัตว์สงขลา ประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์ลูกนกเงือกน้อยตัวแรก นายอำนาจ ชลวัฒนะ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา เปิดเผยว่า สวนสัตว์สงขลาศึกษาโครงการ "การจัดการเพาะเลี้ยงนกเงือกในสภาพกรงเลี้ยง สวนสัตว์สงขลา โดยวิธีการสังเกตและเก็บข้อมูลพฤติกรรมต่างๆ ทั่วไป พฤติกรรมการผสมพันธุ์และการวางไข่ สำหรับนกเงือกมีหลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น พันธุ์นกกกหรือนกกาฮัง นกเงือกหัวแรด นกเงือกกรามช้าง นกเงือกหัวหงอก และจะมีความเป็นอยู่โดยการจับกันเป็นคู่ ๆ พบว่า ในสวนสัตว์สงขลามีนกเงือกจับคู่ทั้งหมด 8 คู่ คือ นกกกจำนวน 3 คู่ นกเงือกหัวแรดจำนวน 3 คู่ และนกเงือกกรามช้างจำนวน 2 คู่ จึงได้ทำการแยกไปยังส่วนขยายพันธุ์ต่อไป ผลการศึกษาตลอดระยะเวลา 3 ปี (ต.ค.49-ก.ย.52) ปรากฏว่าได้ลูกนกกก 1 ตัว หลังจากวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 แม่นกกกเข้าโพรงเพื่อฟักไข่ราว 40 วัน ลูกนกกกจึงฟักออกเป็นตัว(เกิด)เมื่อเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา โดยมีพ่อนกกกคอยป้อนอาหารให้ทั้งแม่นกกกและลูกนกกกซึ่งอยู่ในโพรง และเมื่อเดือนพฤษภาคมแม่นกกกออกจากโพรงรัง เป็นสัญญาณบอกว่าลูกนกกกเติบโตแข็งแรง พร้อมที่จะบินออกจากโพรงรัง เพื่อสู่โลกกว้าง วันที่ 26 พฤษภาคม 2552 ลูกนกกกถูกนำมาพยาบาลโดยผู้เลี้ยง โดยมีการป้อนอาหารวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น โดยอาหารที่ให้ลูกนกกก ได้แก่ อาหารเม็ดสำเร็จรูป, ลูกหนูแดง, ไข่นกกระทา, มะละกอ, กล้วย และผลไม้ป่า เช่น ลูกหว้า, มะเดื่อเดือย เป็นต้น ปัจจุบันลูกนกกกอายุ 2 เดือนเศษ น้ำหนักตัวเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรงดี และทุกวันหลังอาหารมีการปล่อยลูกนกกกตามพื้น (ธรรมชาติ) เพื่อให้ลูกนกกกได้มีพฤติกรรมสบายตัว ได้แก่ การนอนอาบแดด,ไซ้ขน,เหยียดปีก,จิกงับเล่น เป็นต้น สำหรับโครงการวิจัยฯ สวนสัตว์ยังมีการเก็บบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของลูกนกกกอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นข้อมูลและเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจ และผู้ปกครองนำบุตรหลานไปเที่ยวสวนสัตว์สงขลาเพื่อศึกษาชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะชีวิตของนกเงือก ซึ่งเป็นสัตว์ที่หายาก นับวันจะมีจำนวนน้อยลง และมีการดำรงชีวิตที่น่าสนใจ และยากต่อการเพาะพันธุ์ การที่สวนสัตว์สงขลาสามารถเพาะพันธุ์ลูกนกเงือกได้สำเร็จ นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดสงขลาอย่างยิ่ง จึงควรช่วยกันอนุรักษ์และสงวนพันธุ์นกเงือกเอาไว้อย่าให้สูญพันธุ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook