“แม่ใจยักษ์” แค่หญิงชั่วคนหนึ่งหรือเหยื่อของสังคม

“แม่ใจยักษ์” แค่หญิงชั่วคนหนึ่งหรือเหยื่อของสังคม

“แม่ใจยักษ์” แค่หญิงชั่วคนหนึ่งหรือเหยื่อของสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“แม่ใจยักษ์” คีย์เวิร์ดที่มักปรากฏขึ้นในพาดหัวข่าว ทุกครั้งที่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งมีผู้กระทำผิดเป็นแม่ของเด็กเอง และไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การทอดทิ้งเด็ก หรือการฆาตกรรม สิ่งที่ตามมากับพาดหัวข่าวลักษณะนี้ก็คือ ความเห็นจากผู้เสพสื่อที่รุมประณามผู้ก่อเหตุ รวมทั้งเรียกร้องโทษรุนแรงให้สาสมกับการกระทำของคนเป็นแม่ อย่างไรก็ตาม ในกระแสความโกรธแค้นที่หนักหน่วง กลับไม่มีใครสนใจที่จะตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจทำร้ายลูก และถูกตราหน้าว่าเป็นคนชั่วในที่สุด ดังนั้น sanook.com จึงลองหาคำตอบว่า เหตุใดผู้หญิงคนหนึ่งจึงลงมือทำร้ายหรือทอดทิ้งลูกของตัวเอง สังคมและสื่อมีบทบาทอย่างไรกับกรณีเหล่านี้ และทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาแม่ที่กระทำความรุนแรงต่อลูกได้

>> แม่หอบลูก 2 ขวบ ทิ้งสถานสงเคราะห์ เขียนในจดหมาย เพราะสามีใหม่ไม่ยอมรับเป็นลูก

กำเนิดแม่ใจยักษ์

เมื่อถามถึงปัจจัยหลักที่ผลักให้แม่กระทำความรุนแรงต่อลูกของตัวเอง คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า รากฐานของความรุนแรงลักษณะนี้ มาจากทัศนคติของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีต ผ่านครอบครัว ระบบการศึกษา และสื่อต่างๆ ซึ่งในสังคมเช่นนี้ ผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้มีหน้าที่เลี้ยงลูกและรับผิดชอบงานบ้านงานเรือน แม้ว่าสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบทุนนิยม ที่ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน และมีบทบาทในสังคมมากขึ้น แต่ก็ยังต้องทำหน้าที่แม่บ้านเหมือนเดิม และเมื่อไรที่เธอบกพร่องต่อหน้าที่ความเป็นแม่ ก็จะถูกสังคมตำหนิ

นอกจากหน้าที่แม่ที่สังคมบอกว่าต้องรักษาไว้ให้มั่นแล้ว ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้รักนวลสงวนตัว ซึ่งคุณกอบกาญจน์ ตระกูลวารี รองผู้อำนวยการสหทัยมูลนิธิ อธิบายว่า ความเชื่อเรื่องการรักนวลสงวนตัวนั้นกดทับผู้หญิง และส่งผลต่อการตัดสินใจในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งอย่างมาก

“เด็กผู้หญิงถูกสอนว่าต้องรักนวลสงวนตัว เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็จะทำให้ผู้หญิงรู้สึกผิด รู้สึกอับอาย ถ้ามีคนรู้ก็จะถูกประณามว่าเป็นผู้หญิงใจง่าย ไม่รักนวลสงวนตัว ดังนั้น เธอจึงพยายามแก้ปัญหาเอง บางคนไม่มีใครเลย ก็อาจจะต้องตัดสินใจทำเท่าที่เขาจะทำได้ในตอนนั้น เพราะฉะนั้น ความคาดหวังของสังคมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักให้ผู้หญิงทำร้ายลูก

นอกจากนี้ คุณจะเด็จยังระบุว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงทำร้ายลูก ก็คือการที่ผู้ชายไม่ร่วมรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูก ปล่อยให้ผู้หญิงแบกรับภาระทางเศรษฐกิจและภาระในการดูแลลูกอยู่คนเดียว ประกอบกับการขาดที่พึ่งจากครอบครัว นำไปสู่ความวิตกกังวลและความเครียด ซึ่งส่งผลให้เธอก่อความรุนแรงในที่สุด

“ต้องอย่าลืมว่าผู้หญิงในช่วงท้องและคลอดลูก จะอยู่ในภาวะที่มีความเครียดสูงมาก และไม่รู้ว่าจะดูแลอนาคตของตัวเองได้อย่างไร บางเคสมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจชัดเจน ไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร และมีภาวะเครียด ซึมเศร้า บางกรณีเป็นเด็กนักเรียนที่ตั้งท้อง และไม่กล้าบอกพ่อแม่ เพราะหากเข้าไปขอคำปรึกษาอาจจะถูกว่ากล่าวจากครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนบางคนไม่เข้าใจก็ตำหนิ เมื่อไม่มีทางเลือก เขาก็ต้องทำแท้ง หรือทำร้ายลูก ฆ่าลูก”

และไม่ใช่แค่สังคมเท่านั้นที่บีบให้แม่ทำร้ายลูก หลายกรณีเราจะพบว่า แม่ที่ก่อเหตุมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายอย่างรวดเร็วหลังจากคลอดลูก ส่งผลต่อสภาพร่างกายและอารมณ์ ตั้งแต่อาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย ร้องไห้บ่อย ไปจนถึงความรู้สึกไม่ผูกพันกับลูก มองลูกเป็นคนอื่น และอาจส่งผลให้ทำร้ายลูก หรือทำร้ายตัวเองได้ในที่สุด

“สื่อมวลชน” ผู้ผลิตซ้ำแม่ใจยักษ์

ในสังคมอุดมดราม่าที่เรื่องฉาวสามารถจุดกระแสความสนใจของผู้คนได้ทุกเมื่อ คำว่า “แม่ใจยักษ์” จึงมักถูกหยิบมาใช้ในสื่อเพื่อดึงความสนใจของผู้ชม นำมาซึ่งยอดขายและการมีส่วนร่วมแสดงความเห็นของผู้ชมจำนวนมาก ส่วนหลักการทางวารสารศาสตร์นั้นก็ต้องถูกพับเก็บไว้ก่อน

“ในหลักของวารสารศาสตร์ การพาดหัวข่าวมักจะเป็นการนำเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริง แต่พอมาอยู่ในประเทศไทย พาดหัวข่าวกลายเป็นตัวดึงให้คนมาซื้อหนังสือพิมพ์ หรือเมื่อมาอยู่ในออนไลน์ก็ดึงดูดให้คนกดไลก์ กดแชร์ ซึ่งมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่มันไปผสมกับทัศนคติหรืออารมณ์ความคิดเห็นของนักข่าว หรือบรรณาธิการที่ทำข่าวชิ้นนั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าหลายครั้งพาดหัวข่าวในสื่อไทยมันเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมบางอย่าง” อ.ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายถึงที่มาของพาดหัวข่าวแบบใส่อารมณ์ความรู้สึก ที่ถูกใช้มาเป็นเวลานานจนกลายเป็นความเคยชิน ทั้งของคนข่าวและคนเสพข่าว ทำให้ข่าวกลายเป็นการกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว

“นอกจากนี้ บรรณาธิการข่าวในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย มุมมองในเรื่องเพศจึงถูกนำมาใช้ในการรายงานข่าว มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุไว้ชัดเจนว่า พาดหัวข่าวเหล่านี้มีมุมมองในเรื่องของชายเป็นใหญ่อยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาแม่ทิ้งลูกหรือฆ่าลูกอ่อน ก็มักจะมีการโยนความผิดไปให้เพศหญิงเพียงอย่างเดียว เหมือนกับว่าเพศหญิงต้องรับผิดชอบต่อการเกิดของทารก ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้น ซึ่งนักวิชาการด้านสื่อหรือนักสังคมวิทยาจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่ามันไม่ยุติธรรมกับเพศหญิง เพราะว่ามันไม่ใช่แค่แม่ใจร้าย แต่เราต้องพูดถึงพ่อใจยักษ์เช่นกัน” อ.ดร.มานะกล่าว

เช่นเดียวกับคุณจะเด็จ ที่มองว่าแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่มีอิทธิพลต่อมุมมองของสื่อในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงที่กระทำความผิด

“สื่อหลายคนยังคิดว่าผู้หญิงที่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง และยิ่งทำร้ายลูกด้วย ก็คือผู้หญิงไม่ดี คำว่าแม่ใจยักษ์ก็หมายถึง คุณไม่ทำหน้าที่ของคุณ คุณเป็นผู้หญิงไม่ดี คุณทำร้ายลูก คุณก็ต้องถูกลงโทษโดยใช้คำนี้” คุณจะเด็จกล่าว

หยุดวงจรแม่ใจยักษ์

แม้ว่าหลายกรณี แม่ที่กระทำความรุนแรงต่อลูกจะถูกจับกุมตัวและดำเนินคดี แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดซ้ำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งคนทำงานด้านเด็กและสตรีอย่างคุณจะเด็จและคุณกอบกาญจน์เห็นตรงกันว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคล แต่ภาครัฐและสังคมควรร่วมมือกันแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ โดยเริ่มที่การสร้างทัศนคติว่า “การเลี้ยงเด็กไม่ใช่ภาระของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของผู้ชาย และเป็นหน้าที่ของสังคมที่ต้องสนับสนุน” ซึ่งคุณจะเด็จมองว่า ผู้ชายควรมีบทบาทในการเลี้ยงลูกมากขึ้นกว่าเดิม

“เมื่อมีครอบครัวใหม่ๆ ผู้ชายต้องเข้ามาช่วยดูแลลูก ทำงานบ้าน ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ต้องเปลี่ยน สังคมต้องสนับสนุนให้ผู้ชายดูแลครอบครัว ดูแลลูกให้มากขึ้น การทำแบบนี้จะยิ่งทำให้เข้าใจคนในครอบครัวมากขึ้น เข้าใจเด็กมากขึ้น ภรรยาก็จะมีความสุขมากขึ้น เพราะว่าเขาได้รับการแบ่งเบาภาระ และความเครียดของเขาก็จะลดลง”

นอกจากนี้ คุณจะเด็จยังมองว่า ครอบครัวควรหันมาสอนเด็กผู้ชายให้รู้จักให้เกียรติผู้หญิง ไม่แบ่งแยกหน้าที่ระหว่างหญิงชาย และไม่โยนภาระเรื่อง safe sex ให้ผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว

เมื่อจะมีความสัมพันธ์ทางเพศ ผู้ชายต้องรู้จักป้องกันด้วยตัวคุณเอง ไม่ควรจะต้องให้เป็นภาระผู้หญิง และสุดท้าย ถ้าผู้ชายไปทำให้ผู้หญิงท้อง ยังไงก็ต้องรับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นก็ต้องถูกลงโทษบ้าง การลงโทษอาจจะไม่ใช่การเข้าคุก แต่ต้องมีกระบวนการในการลงโทษ เพราะคุณเป็นผู้ชายที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้หญิงและต่อสังคมด้วย เพราะเป็นการสร้างปัญหาให้สังคมด้วย” คุณจะเด็จสรุป

ส่วนหน้าที่ของภาครัฐ คุณกอบกาญจน์มองว่า ควรมีระบบบริการเกี่ยวกับแม่และเด็กที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งการให้คำปรึกษาหรือการช่วยเหลือที่เป็นมิตร และต้องมีการปฏิรูประบบส่งต่อของหน่วยงานราชการ

“เราพบว่า เคสที่โทรมาจากที่ไกลๆ เรารู้เลยว่าเขาเข้าไม่ถึงบริการ แล้วมันไม่มีคนที่เข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุนเขา คือทั้งโรงเรียนและชุมชนต้องช่วยกัน ระบบส่งต่อของหน่วยงานราชการบ้านเรามีอยู่ทั่วประเทศ แต่มันไม่สามารถให้บริการได้ในเชิงคุณภาพ เพราะบริการของรัฐมันเป็นบล็อกๆ ในขณะที่ปัญหาของคนมันไม่เหมือนกัน มันมีความซับซ้อนมากกว่า ซึ่งระบบราชการมันตามตรงนี้ไม่ทัน นอกจากนี้ รัฐยังไม่สนับสนุนให้ชุมชนหรือกลุ่มอื่นๆ เข้ามาทำงาน เพราะฉะนั้น โอกาสที่ NGO หรือกลุ่มคนที่เขาอยากจะทำอะไรดีๆ ในที่ต่างๆ ก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาทำงานให้บริการพวกนี้ได้” คุณกอบกาญจน์กล่าว

นอกจากนี้ คุณจะเด็จยังระบุว่า ควรมีการปรับสวัสดิการแม่และเด็กใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มวันลาคลอดให้ผู้หญิง การเพิ่มสิทธิในการลาเลี้ยงลูกของผู้ชาย เพื่อลดภาวะความเครียดของผู้หญิง รวมทั้งการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งเพื่อสร้างทางเลือกด้านสุขภาพให้กับผู้หญิงด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรียกร้องความร่วมมือจากคนในสังคม ก็มักจะมีเสียงตอบกลับมาว่า ปัญหาแม่ทำร้ายลูกเป็นเรื่องส่วนตัวของพ่อและแม่เด็ก ไม่ควรต้องให้สังคมมาร่วมรับผิดชอบ ซึ่งกรณีนี้ คุณกอบกาญจน์ยืนยันว่า ปัญหานี้มีรากมาจากปัญหาเชิงระบบ ที่สังคมต้องรับผิดชอบร่วมกัน

“จริงๆ แล้ว เด็กทุกคนเป็นอนาคตของสังคม ทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ดูแลกัน จะบอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว ทำไม่ดีก็รับผิดชอบไปก็ไม่ได้ เพราะสังคมก็อยู่ด้วยกัน มีผลกระทบต่อกัน ถ้าเรามีเด็กกำพร้าเยอะๆ มีคนที่รู้สึกว่าฉันไม่ถูกรัก และไม่สามารถที่จะรักและสนใจคนอื่นได้ ก็เท่ากับว่าสังคมมีระเบิดเวลาเพิ่มขึ้น” คุณกอบกาญจน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม อีกตัวละครที่มีบทบาทในการสร้าง “แม่ใจยักษ์” อย่างสื่อมวลชน ก็จำเป็นต้องปฏิรูปตัวเอง โดยการเลิกใช้คำที่ตีตราผู้กระทำผิด หันมากระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงปัญหา และช่วยกันป้องกัน

สิ่งที่สื่อควรทำก็คือ วิเคราะห์ปัญหาว่ามีสาเหตุจากอะไร แล้วก็โยงไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ผมว่าอันนี้จะเป็นประโยชน์ ผู้หญิงคนนี้มีความเครียดใช่ไหม พอเครียดแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าโยงไปได้ก็จะเห็นว่าผู้ชายไม่รับผิดชอบ เพราะว่าเขาถูกกดดันเรื่องโน้นเรื่องนี้ เพราะว่าเขามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเกิดไปลงรายละเอียดเรื่องความรุนแรงอย่างเดียว ก็จะเป็นการตีตรา ประณามผู้หญิง ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร” คุณจะเด็จระบุ

ด้านคุณกอบกาญจน์ก็มองว่าสื่อควรนำเสนอข่าวในเชิงที่ทำให้เกิดการป้องกันหรือการแก้ไข ให้สังคมได้เรียนรู้จากข่าว และหันกลับมามองวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานของตัวเอง รวมทั้งนำเสนอแนวทางในการรับมือ หากเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เช่น หน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือ ก่อนที่จะนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

สำหรับนักวิชาการด้านสื่ออย่าง อ.ดร.มานะ ก็มองว่าทั้งสื่อและผู้เสพสื่อควรรับผิดชอบต่อสังคม โดยผู้เสพสื่อต้องแสดงความคิดเห็นว่าการพาดหัวข่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ส่วนสื่อก็ต้องตระหนักว่าผู้อ่านมีความรู้เท่าทันสื่อแล้ว ดังนั้น คนทำข่าวก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การนำเสนอข่าวกลายเป็นการสร้างอคติต่อคนบางกลุ่ม รวมทั้งต้องชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหา

แม่ใจยักษ์มีจริงหรือไม่

เมื่อถามถึงข้อสรุปว่า ที่จริงแล้ว “แม่ใจยักษ์” ที่ตั้งใจทำร้ายลูกหรือทอดทิ้งลูก มีอยู่จริงหรือไม่ คุณกอบกาญจน์ตอบจากประสบการณ์ที่ทำงานกับผู้หญิงที่มีปัญหาขณะตั้งครรภ์ว่า

“เราว่าผู้หญิงทุกคนรักลูกนะ ทั้งแม่ที่ยกลูกให้เราหรือแม้กระทั่งแม่ที่ทำร้ายลูก เขามีความรู้สึกผิดบาป หลายรายลูกไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมตั้งนานแล้ว เขาก็ยังโทรมาถามข่าว คือเขาก็ไม่อยากทิ้งลูก แต่เขาไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่ มันมีปัจจัยที่ทำให้เขาต้องทำแบบนั้น การเป็นพ่อแม่มันต้องมีวุฒิภาวะ เมื่อมีลูกโดยที่วุฒิภาวะของเขาไม่พร้อม อารมณ์จิตใจไม่พร้อม เขาก็อาจจะทำอะไรที่เป็นความผิดพลาดได้”

ด้านคุณจะเด็จก็ระบุว่า ไม่มีใครที่อยากฆ่าคนอื่น โดยเฉพาะลูกของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่แม่ที่ทำร้ายลูกล้วนมีเหตุผลที่บีบบังคับ ไม่มีทางเลือก จึงนำไปสู่ปัญหา และสังคมควรทำความเข้าใจ

“สิ่งที่สังคมต้องเข้าใจและตั้งคำถามก็คือ ทำไมผู้หญิงถึงทำร้ายลูก แต่สังคมไม่เคยตั้งคำถาม คิดว่าเป็นภาระของผู้หญิงฝ่ายเดียว ไม่มีการใช้ตรรกะเหตุและผล ใช้แค่สิ่งที่ตัวเองซึมซับมาว่านี่คือหน้าที่ของผู้หญิง ผู้หญิงต้องดูแลลูก ถ้าผู้หญิงไม่ทำหน้าที่และยังทำร้ายลูก ก็ยิ่งกลายเป็นผู้หญิงไม่ดี เป็นยักษ์เป็นมาร ซึ่งจากการทำงาน ผมคิดว่า ไม่มีเคสไหนหรอกที่อยากทำร้ายลูก นอกจากเขาจะไม่มีทางเลือกและถูกกดดันมาก” คุณจะเด็จยืนยัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook