ราชทัณฑ์ระดมสมองแก้วิกฤตนักโทษล้นคุก

ราชทัณฑ์ระดมสมองแก้วิกฤตนักโทษล้นคุก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรมราชทัณฑ์จัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง นักโทษล้นคุก วิกฤตสังคมไทย โดยนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จำนวนผู้ต้องขังทั่วประเทศเกินอัตราที่เรือนจำรองรับได้ถึง 50,000 คน ทำให้ต้องกลับมาทบทวนอย่างจริงจังถึงมาตรการลงโทษอาญา ซึ่งประเทศไทยเน้นการลงโทษจำคุกมากเกินไป ทำให้จำนวนผู้ต้องขังของประเทศสูงเป็นอันดับ 4 ของทวีปเอเชีย รองจากคาซัคสถาน ไต้หวัน และสิงคโปร์ โดยประเทศต้องใช้งบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายของนักโทษประมาณ 16,000 บาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้หากจำแนกผู้ต้องขังในเรือนจำจะพบว่า เป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีถึง 28 % และเป็นผู้ต้องขังที่ต้องโทษจำคุกต่ำกว่า 5 ปี ถึง 55% ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหานักโทษล้นคุก จำเป็นต้องเลือกใช้โทษอื่นที่ไม่ใช่การจำคุก เช่น การคุมประพฤติอย่างเข้มข้น การจำกัดบริเวณหรือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทำงานบริการสังคม และการลงโทษปรับที่เหมาะสมกับความผิด

ด้านนายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ตนจำว่า เมื่อปีพ.ศ. 2500 กรมราชทัณฑ์ดูแลผู้ต้องขังเพียง 10,900 คน จากนั้นผู้ต้องขังเพิ่มจำนวนขึ้นมาโดยตลอด ปัจจุบันสถิติผู้ต้องขังกำลังปรับเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ผู้ต้องขังทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 200,000 คน เนื่องจากในแต่ละเดือนจะมีนักโทษถูกส่งตัวเข้าเรือนจำประมาณ 2,000 คน ซึ่งวิกฤตนักโทษล้นคุกนี้ เป็นผลให้ต้องปรับปรุงสถานที่ควบคุมผู้ต้องขังรายสำคัญ 20,000 คน โดยยกระดับเรือนจำธรรมดาให้เป็นเรือนจำความมั่นคงสูง ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องปรับตัว เพราะที่ผ่านมาเคยดูแลผู้ต้องขังคดีลักวิ่งชิงปล้น แต่ปัจจุบันคนมีฐานะร่ำรวยและและผู้มีอิทธิพลเข้ามาเป็นผู้ต้องขัง จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งสถานที่คุมขังและเจ้าหน้าที่ โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเสริมระบบป้องกันเพื่อทดแทนอัตรากำลังที่ขาดแคลน

นายทวี ชูทรัพย์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า สภาพนักโทษล้นคุกไม่ต่างจากขยะล้นถัง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขที่ปลายเหตุ วิธีการแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกที่ได้ผลที่สุด คือ การตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษผู้ต้องกักขังแทนค่าปรึ่งจะลดจำนวนผู้ต้องขังได้จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องปล่อยผู้ต้องขังทุกคน เพราะในกฤษฎีกาอภัยโทษ มีอีกมาตราที่กำหนดให้ช่วยลดโทษให้ผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังที่ถูกปล่อย คือผู้ต้องขังที่พิการและ ชราภาพ

นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีแต่การดำเนินคดี ไม่มีการบริหารงานยุติธรรม ไม่ร่วมมือกันทำงาน ทำให้ไม่มีการลดปริมาณคดีเข้าสู่ศาลซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้ต้องขังลดลง ในชั้นอัยการสามารถลดปริมาณคดีได้ โดยใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น สั่งไม่ฟ้องคดีหมิ่นประมาทด่ากันในสภาฯ หรือการไม่ขอออกหมายจับจนกว่าจะมีหลักฐานแน่นหนา เพื่อลดผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี นอกจากนี้ ในชั้นศาลก็สามารถลดปริมาณคดีได้จากการอนุมัติปล่อยตัวชั่วคราว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook