''สภาพัฒน์''ตัดประเด็นเช่าหรือซื้อ ดึงทุกองค์กรหาทางออกเอ็นจีวี

''สภาพัฒน์''ตัดประเด็นเช่าหรือซื้อ ดึงทุกองค์กรหาทางออกเอ็นจีวี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สภาพัฒน์ ใช้เวทีสัมมนาดึงทุกองค์กรรัฐ-เอกชน ระดมความเห็น หาทางออกเอ็นจีวี ตัดประเด็นซื้อหรือเช่าออกไปก่อน หลังได้ข้อมูลละเอียดยิบจาก คมนาคม ด้านรักษาการ ผอ.ขสมก. เตรียมรับมือปรับแผนฟื้นฟูใหม่ ลดความเสี่ยง ชี้รัฐยังไม่มีอะไรชัดเจนต้องวางแผนว่าองค์กรจะเดินหน้าอย่างไรคาดสัปดาห์หน้าเริ่มสตาร์ต

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการพิจารณาซื้อหรือเช่า รถเอ็นจีวี 4,000 คันหลังได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ไปศึกษาโครงการภายใน 30 วันว่า ล่าสุดได้รับข้อมูลรายละเอียด จากกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา แล้ว จากนั้นอีก 5 วัน จะจัดสัมมนาใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็น

จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทั้งกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) หน่วยงานภาครัฐบาลเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการรถร่วม ฯลฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอข้อมูล และข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้คงจะตัดประเด็นการเช่าหรือซื้อออกไปก่อน แต่จะหารือเฉพาะการใช้รถเมล์เอ็นจีวี จะช่วยยกระดับการเดินทางของคนกรุง ได้อย่างไร

โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งต่าง ๆ จะคุ้มค่ากับการลงทุนและประหยัดพลังงานได้จริงหรือไม่ และการลงทุน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)จะยืนได้ด้วยตัวเองหรือไม่ รวมทั้งการที่ สำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะจัดสัมมนานั้นก็น่าจะร่วมกันจัดเป็นงานเดียวกันไปเลย จะได้ไม่ ซ้ำซ้อนและถือว่าจะได้เห็นความเห็นของทุกฝ่ายในลักษณะเชิงวิเคราะห์

ด้านนายโอภาส เพชรมุณี หนึ่งในคณะกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(บอร์ดขสมก.) และรักษาการ ผู้อำนวยการ ขสมก.แทนนายพิเณศวร์ พัวพัฒนากุล ที่ได้ลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าจากความไม่แน่นอนของรัฐบาลว่าจะซื้อหรือเช่ารถหรือไม่ รถเอ็นจีวี ขสมก.ต้องปรับแผนฟื้นฟูใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะคงรอความชัดเจนไม่ได้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนที่ทุกอย่างจะสรุป

ทั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้าหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการโดยจะประชุมฝ่ายบริหารเพื่อมอบนโยบายก่อน จากนั้นจะเดินหน้าทำแผนเพื่อลดความเสี่ยงในการบริหารงาน เพราะถ้าหากรัฐบาลบอกให้ซื้อก็ต้องดูแหล่งที่มาของเงินทุน หรือถ้าไม่ซื้อ ก็ต้องมาดูอีกว่าปัญหาการขาดทุนปีละ 5,800 ล้านบาทจะมีทางออกอย่างไร ภาระด้านดอกเบี้ย รถเมล์ที่เก่าขึ้นทุกวันจะทำอย่างไร รวมทั้งการวางแผนรองรับเรื่องพนักงานที่จะเกษียณอายุ เป็นต้น

ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการไว้เพื่อยกระดับการบริหารและลดปัญหาการขาดทุนขององค์กร จึงต้องมาวิเคราะห์ความเสี่ยงขององค์กรโดยศึกษาข้อมูลใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook