อภิสิทธิ์ปลอบศก.ไทยไตรมาส 4 ขึ้นแดนบวก สภาอุตฯ เชื่อปลายปีดีขึ้น เร่งปล่อยสินเชื่อรายย่อย

อภิสิทธิ์ปลอบศก.ไทยไตรมาส 4 ขึ้นแดนบวก สภาอุตฯ เชื่อปลายปีดีขึ้น เร่งปล่อยสินเชื่อรายย่อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกฯปลอบไตรมาส4ขยับบวก

ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ วันที่ 20 มิถุนายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ทิศทางและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ให้แก่ผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป 500 คน มีใจความสำคัญว่า ล่าสุดมีการแถลงตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤษภาคมออกมา โดยติดลบมากกว่า 25% ต่อเนื่องกันมา 6-7 เดือนแล้ว ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทย ขณะนี้รัฐบาลรอดูตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ว่าจะต่ำกว่าในไตรมาส 1 ที่ติดลบร้อยละ 7.1 หรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มเห็นผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 1 ชัดเจน แต่โชคไม่ดีที่ดันมีเหตุการณ์ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนรัฐบาลต้องประกาศวันหยุดถึง 10 วันรวด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในไตรมาส 2 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจแม้จะติดลบ แต่จะติดลบในอัตราที่น้อยกว่าในไตรมาส 1 และมั่นใจว่าในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวในแดนบวกได้

มั่นใจอานิสงส์จาก กม.กู้เงิน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปว่า จะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชนบท คิดว่าเป็นมาตรการเพิ่มกำลังซื้อที่ทำได้เร็วที่สุด หากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านความเห็นชอบของสภา ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ จะมีเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ 2 หมื่นล้านบาท จากนั้นในปีงบประมาณถัดไปจะพยายามเพิ่มเข้าไปเป็นแสนล้านบาท ส่วนเรื่องการลงทุนภายในประเทศในช่วง 3 ปีหลังจากนี้ จะในโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้เม็ดเงิน 1.5 ล้านล้านบาท โดยงบประมาณจะมาจากการลงทุนของภาครัฐส่วนหนึ่ง ดึงเอกชนมาร่วมอีกส่วนหนึ่ง และเป็นเงินกู้ 6 แสนล้านบาทจากร่าง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการดึงเศรษฐกิจให้กลับมาสู่แดนบวกในไตรมาส 4

ที่ผ่านมามีผลสำรวจความพึงพอใจในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยของประชาชน เป็นการนำตัวเลขเดือนเมษายน-มิถุนายนมาเปรียบเทียบกัน พบว่า ตัวเลขต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่รัฐบาลจะไม่ประมาท จะมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่อไป นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เผยระบบใหม่แทนรับจำนำ

นายกฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังจะเปลี่ยน เลิกระบบการรับจำนำราคาพืชผลทางการเกษตร เพราะไม่ใช่ระบบการจำนำที่แท้จริง เนื่องจากประกาศรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ทำให้เกษตรกรเอาผลผลิตของตนโดยชื่อมาจำนำ แต่ข้อเท็จจริงคือการนำมาขาย ไม่คิดจะไถ่ถอนคืน สุดท้ายเท่ากับว่ารัฐบาลต้องรับซื้อผลิตผลเหล่านั้นในราคาที่สูงกว่าตลาด เมื่อนำตัวเลขสินค้าทั้งข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ปาล์มมัน มันสำปะหลังในโครงการรับจำนำขอรัฐบาลมาดู พบว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จริงไม่เกิน 30% ส่วนอีก 70% ไม่ได้อะไรเลย เพราะการรับจำนำในราคาสูงไม่ได้ช่วยดึงราคาตลาดขึ้นมา ซ้ำร้ายยังมีปัญหาการทุจริต มีการหมุนเวียนสินค้า ลักลอบนำสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องกำลังจัดทำแนวทางอยู่ โดยจะจดทะเบียนเกษตรกร มีระบบรับประกันรายได้ที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้ และปรับการซื้อขายให้เป็นไปตามกลไกตลาด

เร่งคลังพิจารณาภาษีมุมน้ำเงิน

ก่อนหน้านั้น นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ถึงตัวเลขการส่งออกที่ติดลบถึง 26.6% ว่า รัฐบาลต้องไปไล่ดูอุปสรรคเพิ่มเติม และกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเบื้องต้น โดยเข้าไปดูเรื่องของสภาพคล่อง ไปดูกรณีมีออเดอร์เข้ามา แต่ไม่ได้รับสินเชื่อว่ามีมากน้อยแค่ไหนเพราะอะไร นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาเรื่องของภาษีมุมน้ำเงิน (สินค้าฟุ่มเฟือย) ซึ่งได้เร่งรัดกระทรวงการคลังไปแล้ว ในส่วนปัญหาการผันผวนของของค่าเงินบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เข้าไปดูแลแล้ว และรัฐบาลจะดูในภาพรวมด้วย

กอร์ปศักดิ์ชี้2เหตุทำส่งออกร่วง

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมที่ติดลบ 26.6% ว่า ตัวเลขที่ออกมาไม่อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาไส้ในของตัวเลขการส่งออกที่ออกมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว จะพบข้อเท็จจริงว่าตัวเลขต้องแตกต่างกันอยู่แล้ว เนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคมของปี 2551 ค่อนข้างสูง สามารถส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารออกไปได้จำนวนมาก แต่เดือนพฤษภาคมปีนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรทำได้น้อยมาก เนื่องจากสินค้าหลายตัวที่เก็บไว้ในสต็อครัฐบาลยังไม่ได้ระบายออกมา อีกประการที่น่าห่วงคือ ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศรายใหญ่หันมาใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนให้ใช้สินค้าของประเทศตนเองเป็นหลัก เรื่องนี้จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบไปด้วย

เราจำเป็นต้องกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศขึ้นมาทดแทน ที่สำคัญต้องทำโดยเร็ว รอไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งผลักดันเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทออกมาโดยเร็วที่สุด สิ่งที่รัฐบาลทำถือว่ามาถูกทางแล้ว เชื่อว่าปลายปีนี้ เป็นช่วงที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาดีขึ้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว

ปธ.สภาอุตฯมั่นใจปลายปีดีขึ้น

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกติดลบต่อเนื่อง 7 เดือน ล่าสุดสูงถึง 26.6% นั้น ถือเป็นตัวเลขที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะเป็นการนำตัวเลขส่งออกของปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมาในสถานการณ์ที่ต่างกัน แต่ถ้ามองเฉพาะตัวเลขของปีนี้เปรียบเทียบเฉพาะเดือนต่อเดือนจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น ส่งออกเดือน 5 ตัวเลขเทียบกับเดือน 4 จะเห็นว่าดีขึ้นและไม่ต่างมากนัก คาดว่าระยะเวลาต่อจากนี้ตัวเลขจะขยับตัวดีขึ้นในลักษณะเดือนต่อเดือน โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนสุดท้ายปลายปีจะเห็นได้ชัดเจนว่าตัวเลขจะไม่ต่างกับปีที่ผ่านมา

สัญญาณที่ทำให้คาดว่าตัวเลขปลายปีน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มาจากยอดคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการจ้างงานที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่ตัวเลขคงไม่ขยับขึ้นมากมาย เชื่อว่า 2-3 เดือนจากนี้ จะเห็นสัญญาณที่ดีเป็นบวกขึ้นเรื่อยๆ นายสันติ กล่าว

จี้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยสินเชื่อรายย่อย

นายสันติ กล่าวด้วยว่า การประมาณตัวเลขต่อจากนี้ถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะช่วงเวลาการส่งออกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากเดิมออเดอร์อยู่ที่ 3-4 เดือน ปัจจุบันนี้ออเดอร์อยู่ที่เดือนต่อเดือนเท่านั้น สำหรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด คือ เรื่องสินเชื่อ สภาพคล่อง และวงเงินค้ำประกันผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายย่อย อยากให้รัฐบาลให้เร่งรัดธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกรายย่อย และควรผ่อนปรนให้กับผู้ส่งออกรายย่อยมากขึ้น เพราะขณะนี้ความช่วยเหลือจากเอ็กซิม แบงก์ไปอยู่ที่ผู้ส่งออกกลุ่มที่เป็นลูกค้าประจำของเอ็กซิม แบงก์เท่านั้น ขณะที่ผู้ส่งออกรายย่อยและรายใหม่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าไหร่นัก

สุวัจน์ชี้ถึงเวลารัฐบาลโชว์ฝีมือ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 8 แสนล้านบาทจะเป็นเครื่องมือชี้วัดการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลได้อำนาจและมีเงินในมือแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ความนิยมก็จะหายไป และประชาชนจะขาดศรัทธาต่อรัฐบาล รัฐบาลจึงต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการแสดงออกถึงความมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook