ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แนะแนวทางแก้ปัญหารถทัวร์คว่ำ เน้นความปลอดภัยทั้งพนักงานขับและ

ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แนะแนวทางแก้ปัญหารถทัวร์คว่ำ เน้นความปลอดภัยทั้งพนักงานขับและ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แนะแนวทางแก้ปัญหารถทัวร์คว่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหมู่ ควรเน้นความปลอดภัยทั้งพนักงานขับและตัวรถ นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเหตุการณ์รถทัวร์ประสบอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตครั้งละหลายราย เฉพาะในช่วงกว่า 10 วันที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรถทัวร์คว่ำมีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากปัญหาเดิมๆ คือ ความปลอดภัยของทั้งพนักงานขับรถไปจนถึงตัวรถ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหา ควรเริ่มตั้งแต่ตัวพนักงานขับรถ ที่ต้องมีความชำนาญเส้นทาง มีประสบการณ์ในการขับรถ ต้องเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่สำหรับพนักงานขับรถในกลุ่มนี้โดยเฉพาะ กำหนดให้มีคนขับสำรองในกรณีที่ต้องเดินทางไกลมากกว่า 400 กิโลเมตร และส่งเสริมให้ติดตั้งจีพีเอส หรืออุปกรณ์ที่ช่วยกำกับพฤติกรรมขับขี่ของคนขับว่ามีการขับเร็วเกินกำหนด หรือออกนอกเส้นทางหรือไม่ เพื่อบริษัทจะได้สามารถติดตามพฤติกรรมการขับขี่ และสั่งให้พนักงานเปลี่ยนพฤติกรรมมาขับขี่อย่างปลอดภัย สำหรับตัวรถ และอุปกรณ์ความปลอดภัย ควรกำหนดให้รถทัศนาจรสองชั้น ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น การมีระบบช่วยหน่วง ในขณะเบรก และการกำหนดให้มีเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญควรกำหนดและตรวจสอบให้รถทัศนาจรทุกคันทำประกันภัย เพราะหลายกรณีพบว่า รถทัศนาจรที่ประสบเหตุเป็นของส่วนบุคคล และขาดการต่อสัญญาประกันภัย โดยควรให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก แทนให้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลประเภทอื่นๆ เช่น สิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่สะท้อนต้นทุนของระบบประกันภัย ทั้งนี้ อุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในแต่ละปีมีจำนวนมาก แต่ขั้นตอนช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนการฟ้องคดีมักใช้เวลานาน ถ้าสามารถผลักดันให้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยา จะเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ประสบภัย จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องหรือยอมความกันอีกขั้นตอนหนึ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook