สพฐ. เตรียมวิจัยผลสัมฤทธิ์เรียนซ้ำชั้น แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นจริงหรือไม่

สพฐ. เตรียมวิจัยผลสัมฤทธิ์เรียนซ้ำชั้น แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นจริงหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เตรียมวิจัยผลสัมฤทธิ์ของการเรียนซ้ำชั้น ช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นหรือไม่ หลังมีข้อเสนอให้เด็กเรียนอ่อนต้องซ้ำชั้น ขณะที่ยูเนสโก้ ศึกษาพบว่าทำให้เด็กรู้สึกไร้คุณค่า คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้หารือถึงข้อเสนอเรื่องการเรียนซ้ำชั้นของผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 2548 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกประกาศเรื่องแนวปฏิบัติการเรียนซ้ำชั้นตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 โดยมีสาระสำคัญว่าต้องมีการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนและตัดสินผลการเรียน หากพบว่าผู้เรียนมีข้อบกพร่องด้านใดต้องจัดสอนซ่อมเสริมทันที และให้สอบแก้ตัวได้ นอกจากสอบตกหลายวิชาและรวมแล้วคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ไม่ถึงเกรด 1 ก็ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะพิจารณาให้เรียนซ้ำชั้นได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ต้องเรียนซ้ำชั้นแล้ว 400 คน อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มสอบถามพฤติกรรมและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กที่ต้องเรียนซ้ำชั้น พบว่าการเรียนซ้ำชั้นไม่ได้ส่งผลในเชิงคุณภาพกับเด็กกลุ่มนี้มากนัก โดยเฉพาะผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งนักเรียนบางคนจะลาออกไปเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนเพื่อหนีการเรียนซ้ำชั้น หรือบางคนก็ออกกลางคันไปเลย ในขณะที่เด็กที่เรียนอ่อน แต่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนชั้นจะมีผลการเรียนที่ดีกว่า คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับรายงานผลการวิจัยขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่ศึกษา พบว่า เด็กจะมีผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้นเฉพาะปีที่เด็กซ้ำชั้น เพราะมีมาตรการอื่นๆ มาช่วย เช่น จัดติวหรือสอนนอกเวลาเรียนให้ แต่ผลการเรียนในระยะยาวไม่ได้ดีขึ้น ด้านความรู้สึกนักเรียนจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่รักตัวเอง มีปัญหาในการปรับตัว นอกจากนี้ หากสถานศึกษามีเด็กตกซ้ำชั้นเป็นจำนวนมาก ก็จะมีปัญหาในการบริหารจัดการและสูญเสียทรัพยากรในการจัดสอนให้เด็กเรียนซ้ำชั้นด้วย ทั้งนี้ สพฐ. จะทำการวิจัยเด็กที่เรียนซ้ำชั้น จำนวน 400 คนเพิ่มเติม เพื่อนำข้อมูลไปประกอบกับผลการวิจัยของยูเนสโก และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook