บทวิเคราะห์ : สองมาตรฐานในสื่อมวลชน

บทวิเคราะห์ : สองมาตรฐานในสื่อมวลชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สื่อมวลชนอันเป็นฐานันดรที่ 4 ของสังคม ที่มีบทบาทในการให้ข้อมูลข่าวสารความรู้และเป็นตัวแทนในการเป็นกระบอกเสียงสะท้อนถึงปัญหาแก่ประชาชน ขณะเดียวกันหากสื่อมวลชนเสนอข่าวอย่างเอนเอียงไม่เป็นกลาง สังคมก็จะเป็นผู้ตรวจสอบเพื่อย้ำเตือนการทำงานของสื่อมวลชน... ระยะหลังที่ผ่านมาสื่อมวลชนถูกกลุ่มคนที่เรียกร้องทางการเมืองรวมถึงประชาชนมองว่า สื่อมีการทำงานอย่างไม่เป็นกลาง เกิดภาวะสองมาตรฐาน (Double Standard) ในสื่อมวลชนเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14-18 เม.ย. ผ่านมา นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการประจำโครงการศึกษา และเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม เผยถึงผลการสำรวจการใช้ภาษาข่าวหนังสือพิมพ์ ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาซึ่งพบว่า ภาษาข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ได้สะท้อนความรุนแรงโดยแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการกระทำของกลุ่ม นปช. ที่ใช้ความรุนแรงตามเหตุการณ์ที่พบและมีลักษณะประณามไม่เห็นด้วยกับการกระทำ ทั้งนี้ภาษาที่ใช้ความรุนแรงพบมากในพาดหัวหลัก และพาดหัวรอง ส่วนภาษาเนื้อหาข่าวปกติ โดยมีลักษณะบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีส่วนน้อยที่แสดงความรู้สึกลงไปในเนื้อหาข่าว ส่วนกลุ่มคำที่ใช้เรียกฝ่ายการเมืองพบว่า กลุ่มคำที่พบในภาษาทางการเมืองมีลักษณะรุนแรงมุ่งประณามการกระทำอันเกิดจากบุคคลนั้นๆ แต่ขณะที่กลุ่มคำที่ใช้เรียกรัฐบาลกลับไม่มีการใส่สีสัน การใช้ภาษาข่าวและการเสนอข่าวของสื่อมวลชน จึงมีหลายครั้งที่ถูกมองว่าสื่อมวลชนทำงานแบบสองมาตรฐาน การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ควรเป็นเช่นไร?? สำนักข่าวแห่งชาติได้ติดตามงานเสวนา 76 ปี กรมประชาสัมพันธ์: ทิศทาง/บทบาทที่คาดหวัง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวถึงการทำงานของสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อของรัฐว่า การที่สื่อมวลชนถูกมองว่าทำงานเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจมาจากหลายประการ ทั้งจากความสับสนของผู้ทำงาน เนื่องจากต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐและในขณะเดียวกันต้องเสนอข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ขณะที่ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา มองว่า ปัญหามาจากผู้ที่มีอำนาจ ไม่เข้าใจถึงการมีอำนาจและการใช้อำนาจ ทำให้การทำงานของสื่อมวลชนเกิดความสับสน นอกจากนี้มาจากปัญหาเรื่องเงินทุน ที่สื่อของรัฐมีเงินสนับสนุนจากรัฐแต่ไม่สามารถหารายได้จากผู้สนับสนุนอื่นได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนา ทางออกของปัญหา รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ แนะว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวสื่อมวลชนจึงควรต้องทำหน้าที่ 3 ประการ คือ ประการแรก ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยสื่อต้องเน้นการวิเคราะห์เจาะลึกเหตุการณ์ให้มากขึ้น โดยไม่มุ่งเปลี่ยนค่านิยมและชี้นำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมถึงต้องแยกแยะผลประโยชน์รัฐกับผลประโยชน์ของรัฐบาล รวมถึงควรใช้พื้นที่ของรัฐเพื่อเป็นพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมท้องถิ่นใช้ในการเป็นเวทีสาธารณะได้ ประการที่สอง เสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ของภาครัฐแก่ประชาชน ซึ่ง รศ.ดร.วรากรณ์ มองว่า การสนับสนุนจากรัฐต่อสื่อมวลชนสามารถทำได้แต่ต้องไม่ให้มีผลเสีย และการสื่อสารให้รัฐต้องเป็นไปอย่างไม่เอนเอียงหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ และ ประการสุดท้าย ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนร่วมกัน ไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ด้าน รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา มองว่า สื่อของรัฐต้องทำหน้าที่ในการเป็นต้นแบบของสังคม อย่างการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องชัดเจน สื่อความหมายถูกต้องเชื่อถือได้ โดยไม่ควรเสนอแค่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ควรขยายผลดีและผลร้ายของข่าวที่เกิดขึ้นต่อสังคม รวมถึงต้องทำการถ่ายทอดเชิงวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ไว้ และปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้สังคม เพื่อเป็นการนำทาง ขัดเกลาในสิ่งที่ดีให้สังคม หากพิจารณาจากนักวิชาการทั้งสองท่าน จะพบว่าเน้นให้สื่อมวลชนมีการเสนอข่าวในเชิงการวิเคราะห์เจาะลึกและขยายผลให้มากขึ้นกว่าการเสนอข้อเท็จจริงแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดการรับรู้ข่าวสารเพื่อการคิดวิเคราะห์ ซึ่งหากสื่อมีการเสนอเพียงข้อเท็จจริงและมุ่งเน้นไปที่การเสนอข่าวเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อาจทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นนั่นเอง ซึ่งการมุ่งเน้นเชิงลึกดังกล่าวนอกจากจะช่วยยกระดับมาตรฐานการทำงานของสื่อมวลชน รวมถึงแก้ปัญหาการถูกมองถึงการทำงานลักษณะสองมาตรฐาน ยังเป็นการพัฒนาและชี้นำทางความรู้ให้แก่สังคมด้วยนั่นเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook